เราต้องรู้จักยืดหยุ่นและปรับความเพียรให้สอดคล้องกับปัญหาและโอกาสในแต่ละสถานการณ์ที่เราเผชิญ


สัมมาวายามะ (ความเพียรชอบ) เป็นอริยมรรคองค์ที่ ๖ พระบรมศาสดาตรัสสอนว่าความเพียรชอบมีสี่ประการ ดังนี้
๑. เพียรป้องกันอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
๒. เพียรละอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
๓. เพียรสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น
๔. เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น ให้งอกงามไพบูลย์

ในชีวิตประจำวัน เราต้องรู้จักยืดหยุ่นและปรับความเพียรให้สอดคล้องกับปัญหาและโอกาสในแต่ละสถานการณ์ที่เราเผชิญ ในกรณีนี้ สภาวะจิตที่เป็น ‘กุศลและอกุศล’ ครอบคลุมคุณธรรมและกิเลสทุกระดับทั้งหยาบและละเอียดทุกแง่ทุกมุม เช่น ความเพียรของเราอาจอยู่ที่การระวังโทสะขณะเจรจาเรื่องที่ตกลงกันได้ยาก หรืออาจอยู่ที่การใช้สัมมาวาจา

ในช่วงเจริญสมาธิ เราเลือกสภาพแวดล้อมและอารมณ์กรรมฐานที่ตั้งใจกำหนด ในกรณีนี้ ‘สภาวะจิตที่เป็นอกุศล’ มุ่งเจาะจงถึงสิ่งกางกั้นความสงบ (นิวรณ์ ๕) และ ‘สภาวะจิตที่เป็นกุศล’ หมายถึงองค์คุณแห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ (โพชฌงค์​ ๗)

หลักความเพียร ๔ ประการนี้ เป็นการสรุปเนื้อหาในการภาวนาแบบพุทธ และประกอบขึ้นเป็นหลักเชื่อมโยงการปฏิบัติธรรมในรูปแบบและในชีวิตประจำวันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากเรามองการปฏิบัติธรรมในแง่ความเพียรมากกว่ารูปแบบการปฏิบัติภายนอก เราจะเห็นกระแสเชื่อมโยงที่อยู่ระหว่างความแตกต่างของสิ่งที่เราทำขณะเจริญสมาธิและสิ่งที่ทำในช่วงเวลาอื่น

ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร

3,176







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย