การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนนั้น...
"การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนนั้น
ไม่เพียงแต่อยู่ในวิสัยของมนุษย์
แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญ
ต่อความอยู่รอดและความเจริญ
ของมวลมนุษย์."
ระหว่างที่อาตมากลับไปเยี่ยมบ้านโยมช่วงประมาณกลางทศวรรษที่ ๑๙๙๐ อาตมาบังเอิญไปเจอเพื่อนรักอยู่ที่ใต้บันได นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอย่างที่หลายคนอาจกำลังคิด เพื่อนที่ว่านี้คือหนังสือเก่ารุ่งริ่งเล่มหนึ่ง (ตอนเด็กมักมีเพื่อนรักที่เป็นหนังสือมากกว่าที่เป็นคน) หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า ‘Mutual Aid’ หรือ ‘การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน’ เขียนโดย ปีเตอร์ โครพ็อตคิน
อาตมาซื้อหนังสือเล่มนี้มาจากร้านขายหนังสือมือสองที่เมืองเคมบริดจ์เมื่อประมาณ ๒๐ ปีก่อนหน้านั้น หนังสือเล่มนี้เข้ามาในชีวิตของอาตมาในช่วงที่กำลังค้นหาข้อหักล้างที่มีหลักการณ์และเป็นเหตุเป็นผลว่า ชีวิตไม่ใช่เป็นเพียงการดิ้นรนต่อสู้อันน่าหดหู่ที่ทุกคนต้องเอาความอยู่รอดของตัวเองเป็นอันดับหนึ่ง อาตมาต้องการหาเหตุผลสนับสนุนความเชื่อมั่นของอาตมาว่า การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนนั้น ไม่เพียงแต่อยู่ในวิสัยของมนุษย์ แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อความอยู่รอดและความเจริญของมวลมนุษย์
หนังสือของโครพ็อตคินเปิดเผยความจริงข้อนี้อย่างน่าทึ่ง เขาสรุปผลการวิจัยเขาไว้ว่า “การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นกฎของสัตว์โลกไม่ต่างกับกฎการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด แต่หากพิจารณาในแง่ของปัจจัยที่ก่อให้เกิดวิวัฒนาการแล้ว การช่วยเหลือซึ่งกันและกันอาจมีความสำคัญมากกว่ามากมายนัก เพราะการช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาอุปนิสัยและคุณสมบัติที่จะนำไปสู่ความอยู่รอดและความก้าวหน้าในพัฒนาการของสรรพชีวิต พร้อมกับการนำมาซึ่งสวัสดิภาพและการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขของมนุษย์ทุกคน โดยที่สิ้นเปลืองพลังงานน้อยที่สุด”
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์มากว่าหนึ่งร้อยปีแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ในโลกปัจจุบันทำให้อาตมานึกถึงสิ่งที่โครพ็อตคินเขียนไว้อีกครั้ง ในสภาวะวิกฤตนี้ มีสัญญาณแสดงให้เห็นว่าหลายๆ คนกำลังตระหนักขึ้นถึงความจำเป็นและความน่านับถือของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในอนาคตข้างหน้าจะเป็นเดือนหรือเป็นปี เมื่อผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสปรากฏชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจนและเปราะบาง ขอให้พวกเรารักษาความตั้งใจและมุ่งมั่นต่อการกระทำดีด้วยความเมตตากรุณาเพื่อสวัสดิภาพของทุกคน
ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ศิษย์ทีมสื่อดิจิตอลฯ
------------------------------------------------
ธรรมะ โดย พระอาจารย์ชยสาโร/
Dhamma by Ajahn Jayasaro