พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ‘สุวโจ’ หรือ การว่ากล่าวได้ง่าย สามารถรับฟังเสียงสะท้อนด้วยความนุ่มนวลยินดี ถือเป็นมงคลอันสูงสุดประการหนึ่ง


การเป็นคนว่าง่าย พูดง่าย ยอมรับคำติติงโดยหวังดีถือเป็นคุณธรรมสำคัญที่น้อยคนจะใส่ใจพัฒนา แต่หากปราศจากคุณธรรมข้อนี้ ความก้าวหน้าสม่ำเสมอในการปฏิบัติธรรมย่อมเกิดได้ยาก เพราะคนเราไม่ได้เก่งในการประเมินตนเอง

ขอยกตัวอย่างที่เป็นเรื่องทางโลก มีงานวิจัยจำนวนมากพบว่า คนที่ทำงานหลายอย่างพร้อมกันมักจะรู้สึกว่าตนเองได้เนื้องานมาก หากแท้จริงแล้วผลงานกลับลดลงทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความคิดเห็นผิดเช่นนี้คือ การขาดกลุ่มควบคุมเพื่อเทียบเคียงผล หรือขาดเสียงสะท้อนที่มาจากการประเมินผลจากภายนอกอย่างเป็นกลาง

อีกเหตุผลหนึ่งคือ การทำอะไรมากๆ ทำให้เราเชื่อ —โดยไม่ต้องพิจารณาจากผลงานอันแท้จริง —ว่า เราเก่งในเรื่องนั้น เราเกิดความสับสนระหว่างความเคยชินกับทักษะความสามารถ

นักศึกษาไม่ว่าทางโลกทางธรรมที่ไม่เก่งมักประเมินตนเองสูงเกินจริงเพราะไม่ตระหนักในสิ่งทั้งหลายที่ยังไม่รู้ ความเชื่อมั่นแบบนี้เกิดจากการไม่คิดจะแสวงหาข้อเท็จจริงหรือข้อโต้แย้งที่ตรงกันข้าม ไม่ยินดีรับฟังเสียงสะท้อน ในขณะเดียวกัน นักศึกษาที่เก่งมักจะเน้นในสิ่งยังไม่รู้หรือยังไม่ชำนาญ ฉันทะในการเรียนรู้ของนักศึกษากลุ่มนี้บ่มเพาะความถ่อมตัวและเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อน

พระพุทธองค์ทรงสอนว่า ‘สุวโจ’ หรือ การว่ากล่าวได้ง่าย สามารถรับฟังเสียงสะท้อนด้วยความนุ่มนวลยินดี ถือเป็นมงคลอันสูงสุดประการหนึ่ง

ธรรมะคำสอน โดย พระอาจารย์ชยสาโร
แปลถอดความ โดย ปิยสีโลภิกขุ

3,200







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย