หากยังรู้สึกว่านิพพานห่างไกล และยากเกินไปที่จะเข้าใจ ถ้าพูดถึงนิพพานแล้ว ยังให้เกิดความรู้สึกอ้างว้างโหวงเหวง ก็พึงยึดเอาภาวะโสดาบันนี่แหละ เป็นสะพานทอดไปสู่ความเข้าใจนิพพาน เพราะความเป็นโสดาบัน เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงความรู้สึก และเข้าใจได้ง่ายกว่าสำหรับคนสมัยปัจจุบัน ในเวลาเดียวกัน ภาวะโสดาบันนั้นก็เกี่ยวข้องกับนิพพาน โดยฐานเป็นการเข้าถึงกระแสสู่นิพพาน หรือที่อรรถกถาเรียกว่าเป็น ปฐมทัศน์แห่งนิพพาน (เห็นนิพพานครั้งแรก)
นับว่าได้ผลทั้งสองด้าน และยังถูกต้องตามหลักการที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ด้วย
เมื่อตกลงเช่นนี้แล้ว ก็ยกเอาภาวะโสดาบันเป็นเป้าหมายขั้นแรก ที่จะปฏิบัติ และชักชวนกันก้าวไปให้ถึง เป็นทั้งจุดหมายของชีวิต และจุดหมายของสังคม และในระหว่างนั้น แม้ยังก้าวไปไม่ถึง ก็มีขั้นตอนที่แสดงถึงความก้าวหน้าในท่ามกลาง คือ ความเป็นสัทธานุสารี (ผู้แล่นรุดไปด้วยศรัทธา หรือผู้ก้าวหน้าไปด้วยความเชื่อ) และธัมมานุสารี หรือธรรมานุสารี (ผู้แล่นรุดไปด้วยความเข้าใจธรรม) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ได้ชื่อว่า เป็นผู้ได้ออกดำเนินไปแล้วสู่ความเป็นโสดาบัน เป็นผู้เดินทางแล้วหรืออยู่ในมรรคา มีแต่เดินหน้าอย่างเดียว ไม่ถอยกลับ ซึ่งท่านจัดให้เข้าอยู่ในชุมชนอารยะ หรือหมู่สาวกสงฆ์ด้วย
แม้หากว่า ถ้าโอ้เอ้ ห่วงหน้าห่วงหลัง ยังไม่แล่นรุดออกเดินทางจริง ก็ยังอาจก้าวมาอยู่ในขั้นเตรียมพร้อมที่จะเดินทางได้ เรียกว่าเป็นกัลยาณปุถุชน เป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม เริ่มได้ชื่อว่าเป็น อริยสาวกผู้มีสุตะ (สุตวา อริยสาวก) คือผู้ได้เล่าเรียนอริยธรรม รู้จักอารยธรรม หรือเป็นผู้ที่ได้ยินเสียงกู่เรียกแล้ว เป็นเบื้องต้นที่จะเรียกว่าผู้มีการศึกษา เป็นขั้นของผู้ที่รู้จุดตั้งต้นของทางแล้ว และมีอุปกรณ์ซึ่งเป็นปัจจัยของการเดินทางเตรียมไว้แล้ว กำลังเดินมุ่งออกจากบริเวณป่าที่หลง เพื่อมาเข้าสู่หนทาง แม้ยังอาจก้าวๆ ถอยๆ อยู่บ้าง แต่ก็พร้อมที่จะเดินทางได้
ลิงก์พุทธธรรมออนไลน์
https://book.watnyanaves.net/buddhadhamma/index.php?cid=391
ลิงก์เสียงอ่านพุทธธรรม
https://sound.watnyanaves.net/A01/18/A01-18-4.mp3