ท่านพระโธตกะ เกิดในสกุลพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี เมื่อเจริญวัยพอที่จะศึกษาเล่าเรียนได้แล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยา คั้นต่อมาพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัยได้ทูลลา พระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากตำแหน่งปุโรหิต เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ออกบวชเป็นชฏิลประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนแห่งเมืองอัสสกะ และเมืองอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพทแก่หมู่ศิษย์
โธตกมาณพได้ออกบวชติดตามไปศึกษาศิลปวิทยาอยู่ด้วย และอยู่ในจำนวนมาณพ ๑๖ คนที่พราหมณ์พาวรีผูกปัญหาให้ไปทูลถาม พระบรมศาสดา
ท่านได้ทูลขอโอกาสถามปัญหาครั้นพระบรมศาสดาทรงอนุญาตแล้ว จึงทูลถามปัญหาเป็นคนที่ห้าว่าข้าพระพุทธเจ้าทูลถามพระองค์ ขอจงตรัสบอกแก่ข้าพระพุทธเจ้า ๆ อยากจะฟังพระวาจาของพระองค์ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว จะศึกษา ข้อปฏิบัติซึ่งเป็นเครื่องดับกิเลสของตน
พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงเป็นคนมีปัญญา มีสติ ทำความเพียรในพระศาสนานี้เถิด
พระบรมศาสดา : เราเปลื้อง ใคร ๆ ในโลกนี้ ผู้ยังมีความสงสัยอยู่ไม่ได้ เมื่อท่านรู้ธรรมอันประเสริฐ ก็จะข้ามห้วงทะเลใหญ่ คือ กิเลสอันนี้เสียได้เอง
โธตกะ : ถ้าพระองค์จะทรงพระกรุณาก็ควรแสดงธรรมอันทำให้กิเลสดับ ที่ข้าพระพุทธเจ้าควรจะรู้ สั่งสอนข้าพระพุทธเจ้าให้เป็นคนโปร่ง ไม่ขัดข้องดุจอาการตอนกิเลสดับเสียได้ ไม่อาศัยสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เที่ยวอยู่ในโลกนี้
พระบรมศาสดา : เราจักบอกอุบายดับกิเลสซึ่งจะเห็นได้เอง ไม่ต้องเชื่อตามข่าวที่บุคคลได้ทราบแล้ว จักมีสติข้ามพ้นความอยาก ที่ตรึงใจไว้ในโลกเสียได้แก่ท่าน
โธตกะ : ข้าพระพุทธเจ้าชอบใจอุบายดับกิเลสอันสูงสุดนั้นเป็น อย่างยิ่ง
พระบรมศาสดา : ถ้าท่านรู้ว่า ความทะยานอยากทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ และท่ามกลางเป็นเหตุให้ติดข้องอยู่ในโลก ท่านอย่าทำความทะยานอยากเพื่อจะเกิดในภพน้อยใหญ่
ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ปัญหา โธตกมาณพส่งใจไปตามธรรมเทศนาจิตก็หลุดพ้นจากอาสวะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน บรรลุ เป็นพระอรหันต์ (ก่อนอุปสมบท)
เมื่อการพยากรณ์ปัญหาเสร็จแล้ว โธตกมาณพ พร้อมด้วยมาณพอีกสิบห้าคนขออุปสมบท ในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา
เมื่อท่านพระโธตกดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยกาลอันสมควรแล้ว ก็ได้ดับขันธปรินิพพาน