ท่านพระเหมกะ เกิดในสกุลพราหมณ์ในพระนครสาวัตถี เมื่อเจริญวัยแล้ว ได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพราหมณ์พาวรี ผู้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล เพื่อศึกษาศิลปวิทยาตามลัทธิของพราหมณ์ ครั้นพราหมณ์พาวรีมีความเบื่อหน่ายในฆราวาส จึงได้ทูลลาพระเจ้าปเสนทิโกศลออกจากตำแหน่งปุโรหิต
เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงออกบวชเป็นชฎิล ประพฤติพรตตามลัทธิของพราหมณ์ ตั้งอาศรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำโคธาวารี ที่พรมแดนแว่นแคว้นทั้งสอง ชื่อว่าอัสสกะและอาฬกะต่อกัน เป็นอาจารย์ใหญ่บอกไตรเพท แก่หมู่ศิษย์
เหมกมาณพ ได้ออกบวชติดตามอาจารย์ไปด้วยและอยู่ในมาณพ ๑๖ คน ที่พราหมณ์พาวรีผูกปัญหาให้ไปทูลถามพระศาสดา ที่ปาสาณเจดีย์ แว่นแคว้นมคธ
กราบทูลขอโอกาสถามปัญหา เมื่อได้รับพระบรมพุทธานุญาตแล้ว อชิตมาณพทูลถามปัญหาเป็นคนแรก เพราะตนเป็นหัวหน้าฯ ทูลถามปัญหา ๑ ข้อ
เหมกมาณพทูลถามปัญหาเป็นคนที่แปดว่า
ในปางก่อนแต่ศาสนาของพระองค์ อาจารย์ทั้งหลายได้ยืนยันว่าอย่างนั้นได้เคยมีมาแล้ว อย่างนี้จักไม่มีต่อไปข้างหน้า คำนั้นล้วนเป็นแต่พูดกันอย่างเดียว มีแต่จะทำความตรึกให้ฟุ้งมากขึ้น ข้าพระพุทธเจ้าไม่พอใจในคำนั้นเลย ขอพระองค์ตรัสบอกธรรมเป็นเหตุพ้นตัณหา ซึ่งถ้าข้าพระพุทธเจ้าทราบแล้ว จะพึงเป็นคนมีสติล่วงตัณหาที่ทำให้ติดอยู่ในโลกแก่ข้าพระพุทธเจ้าเถิด
พระบรมศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ชนเหล่าใด ได้รู้ว่าพระนิพพานเป็นที่บรรเทาความกำหนัดพอใจในอารมณ์เป็นที่รัก ซึ่งได้เห็นแล้ว ได้ฟังแล้ว ได้ดมแล้ว ได้ชิมแล้ว ได้ถูกต้องแล้ว และรู้แล้วด้วยใจ และเป็นธรรมที่ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้นแล้วเป็นคนมีสติ มีธรรมอันเห็นแล้ว ดับกิเลสแล้ว ชนเหล่านั้นแลก้าวพ้นจากตัณหา อันจะทำให้ติดอยู่ในโลกได้ฯ
ในเวลาจบเทศนาปัญหาพยากรณ์ เหมกมาณพได้บรรลุพระอรหัตผล (ก่อนอุปสมบท)
เมื่อมาณพที่เหลือทูลถามปัญหาของตน ๆ พระองค์ทรงพยากรณ์เสร็จแล้ว จึงพร้อมกันทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา
ท่านพระเหมกะนั้นเมื่อดำรงเบญจขันธ์อยู่ ได้ช่วยทำกิจพระศาสนาตามหน้าที่ ท่านดำรงชนมายุสังขาร อยู่โดยสมควรแก่กาลเวลา ก็ดับขันธ์ปรินิพพานฯ