พระนันทะ เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กับพระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เมื่ออยู่ในครรภ์พระมารดา ทำให้บรรดาประยูรญาติมีความยินดีร่าเริงใจใคร่จะเห็น ด้วยเหตุนั้น เมื่อพระราชกุมารประสูติแล้ว บรรดาประยูรญาติ จึงได้ถือเอานิมิต นั้นไปถวายพระนามว่า นันทกุมาร
เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้วเสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราม ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพระราชบิดา และพระนางปชาบดีโคตมี พระน้านาง ประกาศสุจริตธรรม เพื่อให้เกิดความเชื่อความเลื่อมใส
วันหนึ่ง ได้มีการอาวาหมังคลาภิเษก ระหว่างนันทกุมาร และพระนางชนบทกัลยาณี เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปเสวยที่พระตำหนักของนันทกุมารเสร็จแล้ว ทรงส่งบาตรให้นันทกุมารถือไว้ แล้วตรัสประทานพร เพื่อเป็นมงคลแล้วเสด็จกลับ
ส่วนนันทกุมารในขณะถือบาตรตามเสด็จไปพลางนึกรำพึงในใจว่า ถ้าพระองค์ทรงรับบาตรในที่แห่งใดก็จะรีบกลับมา แต่ก็ไม่สามารถจะทูลเตือนพระพุทธองค์ได้ เพราะมีความเคารพในพระองค์ ส่วนพระนางชนบทกัลยาณีที่เตรียมจะเป็นเทวีของนันทกุมาร ได้เห็นอาการอย่างนั้น จึงร้องสั่งว่า ขอพระลูกเจ้าจงรีบเสด็จกลับมา
ครั้นพระบรมศาสดาเสด็จถึงที่ประทับแล้ว จึงตรัสถามนันทกุมารว่า นันทะ จักบวชหรือ แม้นันทกุมารไม่สมัครใจจะบวช แต่ก็ไม่สามารถขัดพระหฤทัยได้ เพราะมีความเคารพมาก จึงทูลยอมรับด้วยความจำใจว่า จะบวช
ครั้นบวชแล้วหวนระลึกถึงแต่คำพูดที่นางชนบทกัลยาณีร้องรับสั่งไว้อยู่เสมอ มีความกระสัน ไม่มีความผาสุกในอันที่จะประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป คิดจะสึกออกมา
พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องจึงได้พาเที่ยวจาริกไปในที่ต่าง ๆ เพื่อให้พระนันทะได้พบเห็น หญิงสาวที่มีรูปร่างสวยงามกว่านางชนบทกัลยาณีนั้น แล้วละความรักในรูปของนางชนบทกัลยาณีเสีย และมุ่งหมายอยากได้ รูปหญิงสาวที่สวยงามยิ่งกว่านั้นต่อไป
ในที่สุดพระบรมศาสดาต้องเป็นผู้รับประกันว่า ถ้าพระนันทะตั้งใจจะประพฤติพรหมจรรย์แล้ว พระองค์ทรงรับรองที่จะหาหญิงสาวที่สวย ๆ งาม ๆ ให้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระนันทะก็ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อจะได้หญิงสาว ที่สวย ๆ งาม ๆ
จนเรื่องนั้นแผ่กระจายไปทั่วพวกภิกษุก็พากันล้อเลียนท่านว่า พระนันทะเป็นลูกจ้าง พระนันทะเกิดความละอายหลีกไปอยู่แต่เพียงผู้เดียว เกิดความดำริขึ้นในใจว่า ความรักไม่มีที่สิ้นสุด เกิดความสลดใจจนบรรเทาความรักเสียได้ เป็นผู้ไม่ประมาท ตั้งใจบำเพ็ญความเพียรจนได้บรรลุพระอรหัตผล
เมื่อพระนันทะได้บรรลุพระอรหัตตผลแล้ว ปรากฎว่าท่านเป็นผู้ที่สำรวมระวังอินทรีย์ ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดา ว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายฝ่ายข้างสำรวมระวังอินทรีย์ ๖ ไม่ให้เกิดความยินดียินร้ายด้วยอำนาจของโลกธรรม และเป็นผู้มีความเกื้อกูลในปฏิภาณ
ต่อมาท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้ว ก็ดับขันธปรินิพพาน