พระกุมารกัสสปะ เป็นบุตรของธิดาแห่งเศรษฐี ในพระนครราชคฤห์ เดิมชื่อว่า กัสสปะ ภายหลังชนทั้งหลายจึงเรียกว่า กุมารกัสสปะ เพราะบริบูรณ์ด้วยเครื่องบำรุงเลี้ยงเช่นเดียวกับราชกุมาร
ได้ทราบว่า มารดาของท่านปรารถนาจะบวชตั้งแต่ยังแรกรุ่นสาว ได้อ้อนวอนขออนุญาตมารดาบิดาอยู่บ่อย ๆ แต่ไม่ได้รับอนุญาต ต่อมานางมีสามีตั้งครรภ์ขึ้นยังมิทันรู้ตัว อุตส่าห์ปฏิบัติสามีให้มีความยินดีแล้วก็อ้อนวอนขอบรรพชา เมื่อสามีอนุญาต แล้วได้ไปบวชในสำนักของนางภิกษุณี ซึ่งเป็นฝักฝ่ายของพระเทวทัต
ภายหลังนางมีครรภ์แก่ปรากฏขึ้น พวกนางภิกษุณีเกิดความรังเกียจ จึงได้นำนางไปหาพระเทวทัตให้ตัดสิตชำระอธิกรณ์ พระเทวทัตตัดสินว่าภิกษุณีนี้ไม่เป็นสมณะ ให้สึกไปเสีย นางได้ฟังคำของพระเทวทัตแล้วเกิดความเสียใจจึงพูดว่า พวกท่านอย่าให้ดิฉันฉิบหายเลยดิฉันมิได้บวชมุ่งหมายพระเทวทัต แต่ดิฉันบวชมุ่งหมายเฉพาะพระบรมศาสดาเท่านั้น ขอพวกท่านจงพาดิฉันไปสู่สำนักของพระบรมศาสดาที่พระเชตวันมหาวิหารเถิด
พวกนางภิกษุณีจึงได้พานางไปสู่สำนักของพระบรมศาสดา กราบทูลเนื้อความนั้นให้ทรงทราบ แม้พระบรมศาสดาก็ทรงทราบว่า นางภิกษุณีตั้งครรภ์แต่เมื่อยังไม่บวช แต่เพื่อจะเปลื้องความสงสัย ของชนเหล่าอื่นจึงรับสั่งให้พระอุบาลีชำระอธิกรณ์ในเรื่องนั้นและให้ไปเชิญตระกูลใหญ่ๆ ในพระนครสาวัตถี มีนางวิสาขามหาอุบาสิกาและอนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นต้น ให้มาพร้อมกันแล้วพิสูจน์ จึงได้รู้ชัดว่านางมีครรภ์ตั้งแต่ครั้งยังไม่ได้บวช จึงได้ตัดสินในท่ามกล่างแห่งบริษัท ๔ ว่า นางภิกษุณีนี้ยังมีศีลบริสุทธิ์อยู่ พระบรมศาสดาจึงตรัสอนุโมทนาสาธุการว่า อุบาลีตัดสินอธิกรณ์ถูกต้องแล้ว
ครั้นกาลต่อมา เมื่อนางภิกษุณีนั้นมีครรภ์แก่ครบกำหนดแล้ว ก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบก็ได้ทรงรับเอาไปเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุตรธรรม และให้นามว่า กัสสปะ
ทารกนั้นเจริญเติบโตด้วยเครื่องบำรุงเลี้ยงอย่างราชกุมาร ดังนั้นชนทั้งหลายจึงได้เรียกว่า กุมารกัสสปะ ต่อมาวันหนึ่ง กุมารกัสสปะลงไปเล่นกับพวกเด็กๆ ที่สนามได้ตีเด็กที่เล่นด้วยกัน ถูกเขาด่าเอาว่า เด็กไม่มีพ่อแม่ตีพวกเราเข้าแล้ว
กุมารกัสสปะได้ฟังดังนั้นจึงเข้าไปกราบทูลพระราชา ตอนแรกพระองค์ตรัสบอกว่าแม่นมเป็นมารดาของเขา แต่เขาก็ไม่เชื่อและอ้อนวอนถามอยู่บ่อยๆ พระองค์จึงตรัสบอกความจริง กุมารกัสสปะเกิดความสลดใจ จึงขอพระบรมราชานุญาตออกบวช พระองค์ก็ทรงอนุญาตแล้วได้ไปบวชในสำนักของพระบรมศาสดา
เมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ตั้งใจเรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระบรมศาสดาเข้าไปสู่ป่า บำเพ็ญความเพียรด้วยความมุ่งมั่นก็ไม่ได้บรรลุคุณวิเศษ จึงได้กลับมาเรียนพระกรรมฐานให้ดีขึ้นอีก แล้วไปอยู่ที่อันธวันวิหาร
ครั้งนั้น สหายของท่านซึ่งเป็นภิกษุเคยบำเพ็ญสมณธรรม ร่วมกันในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ ได้บรรลุอนาคามิผลตายแล้วไปบังเกิดในพรหมโลกชั้นสุทธาวาส ได้ลงมาหาท่านแล้วผูกปํญหาให้ ๑๕ ข้อ แล้วสั่งว่า คนอื่นนอกจากพระบรมศาสดาแล้วไม่มีใครสามารถจะแก้ปัญหานี้ได้ ท่านจงไปสู่สำนักของพระบรมศาสดา เรียนเอาเนื้อความแห่งปัญหาเหล่านี้เถิดจึงลากลับ
ท่านพระกุมารกัสสปะก็ไปทำเหมือนอย่างนั้น ครั้นได้ฟังปัญหาพยากรณ์ ๑๕ ข้อแล้ว ในที่สุดแห่งการพยากรณ์ ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา
ตามประวัติท่านมีความสามารถเสดงธรรมแก่บริษัท ๔ ได้อย่างวิจิตรพิสดาร สมบูรณ์ด้วยข้ออุปมาอุปไมยพร้อมทั้งเหตุผล ให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย ฉลาดในวิธีการสั่งสอน เพราะเหตุที่ท่านประกอบด้วยคุณสมบัติเช่นนี้จึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในจิตรกถา คือแสดงธรรมเทศนาได้อย่างวิจิตร
ครั้นท่านพระกุมารกัสสปะดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน