ท่านพระเรวตเถระเป็นบุตรของวังคันตพราหมณ์ และนางสารีพราหมณี ในตำบลบ้านชื่อว่านาลันทะ เป็นบุตรคนสุดท้อง น้องชายของพระสารีบุตร เดิมชื่อว่า เรวตมาณพ
เมื่อบวชแล้ว ท่านได้พำนักอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน ด้วยเหตุนั้นท่านจึงยึดเอาชื่อของป่านั้นนำหน้าชื่อตนว่า ขทิรวนิยเรวตะ (ใช้ตามหลังชื่อก็มี เช่น เรวตขทิรวนิยเถระ)
ในตำนานกล่าวไว้ว่า เมื่อเรวตมาณพเติบโตแล้วมีอายุ ๘ ขวบ มารดาบิดาจึงปรึกษากันว่า บุตรของเราบวชหมดทุกคนแล้ว เหลือแต่เรวตคนเดียว ถ้าเขาจะบวชเสียก็ไม่มีใครสืบวงศ์ตระกูล เราควรผูกพันเรวตะบุตรเราไว้ด้วยการให้มีเหย้าเรือนเสียแต่ยังเด็กยังหนุ่มอยู่ อย่าให้สมณะศากยบุตรมาพาไปบวชอีก
ครั้นปรึกษากันอย่างนั้นแล้วจึงพาไปขอหมั้นนางกุมาริกาผู้มีชาติตระกูลเสมอกัน และได้กำหนดวันอาวาหมงคลด้วย
ครั้นถึงวันกำหนด จึงประดับประดาเรวตมาณพ พาไปเรือนของนางกุมาริกาพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก ในขณะทำการมงคล เรวตมาณพเกิดเบื่อหน่ายในการอยู่ครองเรือน เมื่อเสร็จการมงคลแล้วก็จัดแจงกลับบ้าน เรวตมาณพกับนางกุมาริกานั่งมาในรถคันเดียวกัน
ในระหว่างทางเรวตมาณพหาอุบายหลีกหนีไปเสีย เข้าไปหาภิกษุผู้อยู่ในป่าประมาณ ๓๐ รูป ณ ประเทศนั้นแล้วขอบรรพชา ภิกษุเหล่านั้นทราบว่าเป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ จึงให้บรรพชาโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากมารดาบิดา เพราะท่านพระสารีบุตรได้สั่งแกมบังคับภิกษุทั้งหลายไว้ว่า ถ้าเรวตะน้องชายของผมเข้ามาขอบวชในสำนักของพวกท่าน ท่านทั้งหลาย จงบวชให้เธอด้วย โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากมารดาบิดา เพราะมารดาบิดาของผมเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ครั้นภิกษุเหล่านั้นให้เรวตะบวชเป็นสามเณร แล้วก็ส่งข่าวไปให้พระสารีบุตรทราบ พระเถระมีความประสงค์จะมาเยี่ยมเยียน จึงได้ทูลลาพระบรมศาสดาถึงสองครั้ง พระองค์ตรัสห้ามถึงสองครั้งจึงได้ยับยั้งอยู่ (เรวตสามเณร เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี บริบูรณ์ ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา)
พระเรวตนั้น เมื่อบวชแล้วคิดว่า ถ้าเราจักอยู่ที่นี่ พวกญาติก็จักติดตามมาพบ จึงเรียนกรรมฐานในสำนักของภิกษุเหล่านั้น แล้วถือบาตรและจีวรเที่ยวจาริกไปยังป่าไม้ตะเคียนไหลประมาณ ๓๐ โยชน์ ได้พักอาศัยอยู่ ณ ที่นั้น ทำความเพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐานในสำนักของภิกษุเหล่านั้น ต่อไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตตผลภายในพรรษานั้น
เมื่อออกพรรษาปวารณาแล้วท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลลาพระบรมศาสดา เพื่อจะไปเยี่ยมพระเรวตะ พระบรมศาสดารับสั่งให้รอก่อน เพราะพระองค์จะเสด็จไปด้วย และรับสั่งให้บอกภิกษุผู้จะตามเสด็จตระเตรียมตัว ได้เสด็จไปพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ เป็นบริวาร
ท่านพระเรวตะทำการต้อนรับอย่างดี ในตำนานกล่าวไว้ว่า ท่านพระเรวตะได้เนรมิตพระคันธกุฎี เพื่อเป็นที่ประทับของพระบรมศาสดา เนรมิตเรือนยอด ๕๐๐ เป็นที่พักของภิกษุบริวาร เนรมิตที่จงกรม ๕๐๐ และที่พักกลางคืนและกลางวันอย่างละ ๕๐๐ พระบรมศาสดาเสด็จประทับค้างแรมอยู่ ณ ที่นั้นถึงหนึ่งเดือนแล้วจึงเสด็จกลับ
ส่วนท่านพระเรวตะชอบพำนักอาศัยอยู่ในป่าไม้ตะเคียน เพราะเหตุนั้น พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านว่า เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่า
ท่านพระเรวตะนั้น ดำรงชีพอยู่โดยสมควรแก่กาลสมัยแล้วจึงได้ดับขันธปรินิพพาน