ท่านพระพากุละ เป็นบุตรของมหาเศรษฐี ในพระนครโกสัมพี เหตุที่ท่านได้นามว่า พากุละ เพราะท่านอยู่ในตระกูลแห่งเศรษฐีทั้งหลาย หรืออีกประการหนึ่ง เพราะท่านเป็นผู้ที่ตระกูลแห่งเศรษฐีทั้งสองได้เลี้ยงดูรักษา
มีเรื่องราวปรากฏตามประวัติว่า เมื่อท่านเกิดได้เพียง ๕ วัน มารดาบิดาพร้อมด้วยญาติของท่าน ได้จัดทำงานมงคลโกนผมไฟ และได้ขนานนามท่านด้วย พวกพี่เลี้ยงได้พาท่านไปอาบน้ำชำระร่างกายที่แม่น้ำคงคา ในขณะนั้นปรากฏว่า ได้มีปลาใหญ่ตัวหนึ่งว่ายมาตามกระแสน้ำ แลเห็นทารกนั้นเข้าสำคัญว่าเป็นอาหาร จึงได้ฮุบทารกนั้นกลืนเข้าไปในท้อง
ทราบว่าทารกนั้นเป็นผู้มีบุญญาธิการ เมื่ออยู่ในท้องปลาก็ไม่ได้รับอันตรายใด ๆ เลย แม้ความลำบากเพียงเล็กน้อยก็ไม่มี นอนสบายเหมือนนอนบนที่นอนธรรมดา แต่ด้วยอำนาจบุญญาธิการของทารกนั้น ทำให้ปลาตัวนั้นเกิดความเดือดร้อนกระวนกระวายเที่ยวแหวกว่ายไปตามกระแสน้ำ
บังเอิญไปติดข่ายของชาวประมงในพระนครพาราณสี เมื่อชาวประมงนั้นปลดปลาออกจากข่ายปลาตัวนั้นก็ถึงแก่ความตาย เขาจึงได้เอาปลานั้นไปเร่ขาย โดยตั้งราคาไว้ถึงหนึ่งพันกหาปณะ
ในพระนครนั้นมีเศรษฐีท่านหนึ่งมีทรัพย์สมบัติมากมาย แต่หาบุตรธิดาไม่ได้เลย พร้อมด้วยภรรยาได้ซื้อปลานั้นราคาพันกหาปณะ และได้แล่ปลานั้นออก จึงได้พบทารกนั้นนอนอยู่ในท้องปลา เมื่อได้เห็นก็เกิดความรักใคร่ราวกะว่าเป็นบุตรของตน ได้เปล่งอุทานขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า เราได้ลูกในท้องปลาแล้วดังนี้ เศรษฐีและภรรยา ได้เลี้ยงดูทารกนั้นเป็นอย่างดี มิได้มีความรังเกียจเลย
ครั้นต่อมา เศรษฐีผู้เป็นบิดามารดาเดิมได้ทราบเรื่องราวนั้นเข้า จึงได้ไปยังบ้านของเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีพอแลเห็นทารกนั้นก็จำได้ทันทีว่า เป็นบุตรของตน จึงได้ขอทารกนั้นคืนโดยแสดงเหตุผลตั้งแต่ต้นให้ท่านเศรษฐีชาวเมืองพาราณสีทราบ แต่ท่านเศรษฐีก็ไม่ยอมคืนให้
เศรษฐีผู้เป็นมารดาบิดา เมื่อเห็นว่าคงจะเป็นการตกลงกันไม่ได้ จึงได้ถวายฎีกาต่อพระเจ้าพาราณสี เพื่อให้พระองค์ทรงวินิจฉัยชี้ขาด พระองค์จึงได้ทรงวินิจฉัยให้ตระกูลทั้งสองช่วยกันรักษาเลี้ยงดูทารกนั้นไว้เป็นคนกลาง
เศรษฐีทั้งสองนั้นได้ผลัดเปลี่ยนกันรักษาเลี้ยงดูไว้ในตระกูลของตน ๆ มีกำหนดคนละ ๔ เดือน อาศัยเหตุการณ์ตามเรื่องที่กล่าวมานี้ ทารกนั้นจึงได้นามว่า พากุละ ตั้งแต่นั้นมา
พากุลกุมารก็ได้รับการเลี้ยงดูจากตระกูลเศรษฐีทั้งสองเป็นอย่างดียิ่ง จนเด็กนั้นเจริญวัยขึ้นตามลำดับ
เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาได้เสด็จไปประกาศพระศาสนาในพระนครพาราณสี พากุลกุมาร พร้อมด้วยบริวารได้พากันไปเข้าเฝ้า เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระองค์แล้วก็เกิดศรัทธาเลื่อมใส มีความปรารถนาจะบรรพชาอุปสมบทในพระธรรมวินัย จึงได้ทูลขอบรรพชาอุปสมบท
เมื่อได้บรรพชา อุปสมบทแล้ว ได้ฟังพระโอวาทที่พระองค์ทรงสั่งสอนในทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านไม่ประมาท พยายามทำความเพียรเจริญสมณธรรมบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานเพียง ๗ วัน ก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล
ท่านเพียรพยายามประกอบกิจในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่า ตั้งแต่อุปสมบทมาในพระพุทธศาสนาประมาณได้ ๖๐ ปี ท่านไม่เคยจำพรรษาในบ้านเกิดเลย และเป็นผู้ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน ไม่ต้องทำการพยาบาลรักษาร่างกายด้วยเภสัชต่าง ๆ โดยที่สุด แม้ผลสมอชิ้นหนึ่งท่านก็ไม่เคยฉันตามประวัติของท่านกล่าวว่าการที่ท่านเป็นผู้มีโรคาพาธน้อยนั้น เป็นผลของบุญกุศลที่ท่านสร้างเวจกุฎี และให้ยาบำบัดโรคเป็นทาน
เพราะฉะนั้น พระบรมศาสดา จึงทรงตั้งท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะว่า เป็นผู้เลิศกว่า ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายข้างเป็นผู้มีโรคาพาธน้อย
กิจสำคัญที่ท่านได้ทำไว้ในพุทธศาสนามีปรากฏในตำนานว่า ท่านได้ทำให้อเจลกัสสปปริพาชกผู้เป็นสหายเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเข้ามาอุปสมบท จนกระทั่งได้บรรลุพระอรหัตตผล ด้วยการกล่าวแก้ปัญหา
พระพากุลเถระดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน ก่อนแต่จะนิพพาน ท่านได้เข้าเตโชสมาบัตินั่งนิพพาน ณ ท่ามกลางภิกษุสงฆ์ เมื่อท่านนิพพานแล้ว เตโชธาตุก็บังเกิดเป็นไฟไหม้สรีระร่างกายของท่านให้หมดไป ณ ที่นั้นเอง