"กรรมและการวางใจให้ถูกต้องสวยงาม" (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)
"กรรมและการวางใจให้ถูกต้องสวยงาม"
" .. เหตุการณ์ร้ายแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมากมายให้ใด้รู้ได้เห็นในยุคสมัยนี้ "ในฐานะผู้ดู ผู้ไม่ได้เกี่ยวข้องรับความเดือดร้อนเสียหาย" พึงระวังวางใจให้ถูกที่ให้สวยงาม "อย่าให้เป็นการทำร้ายตนเอง คืออย่าให้กรรมของเขาอื่นสามารถเข้ามาทำร้ายใจตนได้"
"การใช้พรหมวิหารธรรม เมตตา กรุณา มุทิตาอุเบกขาในที่นี้ย่อมเหมาะสมยิ่ง" ผู้ได้รับกรรมถึงเป็นถึงตายหรือได้รับความทรมานบาดเจ็บมากน้อยหนักเบาสูญเสียต่าง ๆ ก็ตาม "ในฐานะผู้ดูเราต้องปลงใจลงว่า นั่นเขาได้รับผลแห่งกรรมที่เขาเองต้องเคยทำมาแล้ว"
ส่วนผู้ทำกรรม ก่อความทุกข์ทรมานเสียชีวิตเสียเลือดเนื้อหรือทรัพย์สิน เงินทองแก่ผู้อื่นนั้น "ในฐานะผู้ดูเราก็ต้องพยายามคิดให้พอเข้าใจว่าเขาตามกันมาเพื่อทวงหนี้กรรม" จิตใจของทั้งสองฝ่ายทุกข์ร้อนด้วยกัน ไม่มีฝ่ายใดเป็นสุขได้เลย เราต้องไม่เข้าไปร่วมความร้อนรนนั้นด้วย
"ถ้าเราไปมองผู้ทำกรรมอย่างโกรธแค้นเกลียดชังในความร้ายกาจโหดเหี้ยมอำมหิตของเขา เราก็จะทำร้ายตนเอง" ไม่ใช่ใครที่ไหนทำ "พึงใช้เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาในคู่กรณีทั้งสองฝ่าย" เมตตาที่เขาต้องทุกข์ด้วยกัน "เราทำบุญทำกุคลใดไว้ ก็ตั้งความกรุณาอุทิศไปให้ผู้เป็นเจ้าเวรนายกรรมของเขาทั้งสองฝ่าย" ให้ตัวของเขาด้วย เพื่อให้พอมีความสงบเย็นแม้เท่าที่กำลังจิตของเราจะสามารถช่วยได้
"ขณะเดียวกันมีมุทิตายินดีกับตัวเองกับใครทั้งหลายอื่น ที่ไม่ตกอยู่ในสภาพเช่นคู่กรณี" ไม่ต้องมีจิตใจเร่าร้อนทนทุกข์ทรมานและมีอุเบกขา "คือพยายามวางใจเป็นกลางไม่เอียงไปเมตตากรุณาฝ่ายหนึ่ง" จนทำให้ คิดไม่ดีในอีกฝ่ายหนึ่ง ให้ใจตั้งอยู่ในเมตตาทั้งสองฝ่าย
"ที่สำคัญการวางใจนี้ต้องให้เป็นไปอย่างจริงใจ" เมตตาอย่างจริงใจ กรุณาอย่างจริงใจ มุทิตาอย่างจริงใจ อุเบกขาอย่างจริงใจ "นั่นแหละจึงจะเป็นกรรมดีที่สมบูรณ์จริง" อันจักให้ผลดีได้จริง .. "
"แสงส่องใจ ๓ ตุลาคม ๒๕๓๓"
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร