โลกธรรมแปดประการ
ผุฎฺฐสฺส โลกธมฺเมหิ ยสฺส น กมฺปติ
อโลกํ วิรชํ เขมํ เอตมฺมงฺ คลมุตฺตมํ
แปลว่าบุคคลผู้ใด ได้ประสบกับโลกธรรมแปดประการนี้แล้ว
มีจิตใจตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ต่อโลกธรรมแปดอย่างนี้
ผู้นั้นได้ชื่อว่าเป็นผู้มี จิตเกษม มีจิตปลอดโปร่ง
จากความทุกข์ความเดือดร้อนโดยประการทั้งปวง
พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงไว้อย่างนี้
แต่สำหรับพระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์นั้น
ท่านได้รู้เท่าโลกธรรมแปดอย่างนี้แล้ว
แม้ใครจะนินทา สรรเสริญ ท่านก็ไม่หวั่นไหว
เพราะเหตุว่า คนในโลกนี้แหละ
ถ้าเขาชอบใจเขาก็สรรเสริญให้
ถ้าเขาไม่ชอบใจเขาก็นินทาให้
อันนี้มันเป็นเรียกว่า โลกธรรม เป็นธรรมประจำโลก
บุคคลผู้ยังไม่สิ้นกิเลสก็เป็นอย่างนี้ละ
ท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วท่านไม่นินทาใคร ท่านไม่สรรเสริญใคร
ถ้าสรรเสริญก็สรรเสริญในบุคคลผู้กระทำคุณงามความดี
ไม่ใช่สรรเสริญด้วยความลำเอียง
ถ้าบุคคลผู้มีกิเลสเหล่านี้มีอคติ
เห็นเพื่อนที่รักต่างๆ มาร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา
เมื่อเห็นเขาทำชั่วลงไป
แล้วก็ปกปิดความชั่วของเพื่อนนั้นไม่เปิดเผย
ไม่ตักเตือนกันอย่างนี้ ช่วยปกปิดความชั่วของเพื่อนไว้
อย่างนี้เรียกว่าเป็นผู้มี ฉันทาคติ
เป็นผู้มีความถือความรักใคร่เป็นเกณฑ์
แม้ว่าผู้นั้นจะทำชั่วอย่างไร ก็สนับสนุนอยู่งั้นแหละ
อือ แต่คนส่วนมากมักจะเป็นอย่างนี้
ถ้าเป็นเพื่อนรักเพื่อนใคร่กันละโอ๊ ทิ้งกันไม่ได้
ถ้าถึงทำผิดทำพลาด ยังไง ต้องอุ้มชูกันไว้
ก็เป็นการส่งเสริมให้คนผู้นั้นทำชั่วเรื่อยไป เป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ทั้งหลายท่านจึงไม่ประพฤติเช่นนั้นต่อไป
ใครจะทำดี ก็เป็นความดีของผู้นั้น
ใครกระทำชั่วก็เป็นความชั่วของผู้นั้น
เราจะไปลบล้างความชั่วเขาไม่ได้
เขาเองต้องลบล้างความชั่วเขาเอง
เมื่อเขารู้ตัวเมื่อใดว่าอ้อเรานี่ทำผิด ทำชั่วแล้วอย่างนี้
เขากลับจิตเขาไม่ทำอีกต่อไปแล้ว
อย่างนี้ความชั่วมันจึงจะหมดไป
ไม่ใช่ว่าผู้อื่นไป ปิดบังไปอุ้มชูเข้าไว้
ความชั่วของผู้นั้นจะหมดไปเอง
โดยที่ผู้นั้นไม่ได้เห็นโทษแห่งความชั่วนั้นเลย
เช่นนี้นะไม่ควรแท้พวกเรา
จะเป็นมิตรเป็นเพื่อนกันยังไงก็ช่าง
ทีแรกก็ทำดี แต่ต่อมามันทำไม่ดี ทำชั่วผิดศีลผิดธรรม
ไปอย่างนี้ได้รับโทษทางกฎหมายบ้าง ทางศีลธรรมบ้าง
เราก็ไม่สามารถจะไปช่วยเขาได้
จะไปช่วยปกปิดความชั่วเขางี้มันไม่ถูกต้อง
เราก็วางอุเบกขาลง เท่านั้นแหละ
...ก็สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
ผู้ใดทำกรรมอันใดย่อมได้รับผลแห่งกรรมอันนั้น...
เรานึกถึงกรรมถึงเวรของตนเองบ้างของผู้อื่นบ้าง
เรื่องกรรมนี่แหละสำคัญมากนะ
แต่คนเราไม่ค่อยจะเชื่อกรรม ไม่ค่อยจะเชื่อผลแห่งกรรม
มักจะลุอำนาจแก่ตัณหา แล้วแต่ตัณหามันจะชักจูงไปยังไง
ก็ไปตามตัณหานั้นยังงี้แหละ
เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ละ อคติสี่ประการ
อย่าไปยึดมั่นอยู่ในอคติ
ฉันทาคติ มีลำเอียงเพราะความรักกัน
โทสาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน
โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง
ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว
อย่างว่าเห็นเขามีเงินมากกว่าเขามีอำนาจอย่างนี้
เมื่อเขาทำผิดลงเราจะไปทักท้วงก็กลัว
กลัวอำนาจเงินเขากลัวเขาจะทอดทิ้งอะไรต่ออะไรอย่างนี้
และชื่อว่า ภยาคติ แปลว่า มีความลำเอียงเพราะความกลัว
ถ้าไม่ลำเอียงเพราะความกลัว
เขาทำผิดเราก็ต้องว่าตามความผิดของเขาไปอย่างงั้น
เขาทำถูกเราก็ว่าไปตามการกระทำถูกของเขา
เรามีจิตเป็นกลาง ขอให้เข้าใจ
พยายามทำจิตให้เป็นกลางให้ได้
เมื่อทำจิตให้เป็นกลางได้
จึงจะผ่านโลกธรรมแปดประการนี้ไปได้
ถ้าไม่ทำจิตให้เป็นกลางอย่างนี้เดี๋ยวก็จะเกิดวิกฤติทางจิตใจขึ้นมา
เดี๋ยวก็คนนั้นนินทา เดี๋ยวก็คนนี้สรรเสริญ
แล้วจิตหวั่นไหวไปกับสรรเสริญนินทา อยู่อย่างนั้นแล้ว
เมื่อเวลามีลาภ มียศมาก็ดีอกดีใจ
ถ้าเวลาเสื่อมลาภเสื่อมยศก็เสียใจเศร้าโศก
นี่เรียกว่า คนผู้ถูกโลกธรรมครอบงำจิตใจ
ย่อมมีแต่ความทุกข์ ความโศกเป็นยังงั้น
ถ้าหากว่าเรามีอุบายรู้เท่าว่า ลาภยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์
ทั้งหลายเหล่านี้ นินทาว่าร้ายต่างๆ มันเป็นธรรมประจำโลก
ธรรมเหล่านี้ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป
ก็ต้องพิจารณาให้เห็นอย่างนี้
เมื่อมีลาภมา ลาภนั้นมันก็ไม่ยั่งยืน ใช้ไปจ่ายไปก็หมดไป
แต่ในเมื่อมียศถาบรรดาศักดิ์
เขาสมมุติแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ
หรือเจ้าหน้าที่ทำราชการงานเมืองต่างๆ นานา
หมู่นี้นะก็อย่าไปไว้ใจว่า
ไอ้ยศถาบรรดาศักดิ์เหล่านั้นมันจะยั่งยืนไปตลอด
เราต้องวางจิตให้เป็นกลาง
ถ้าหากว่าเขาผู้บังคับบัญชาเขาเห็นเขาไม่ชอบใจ
เขาก็ถอดออกเมื่อไรก็ได้ เราก็ไม่ต้องเสียใจดีใจอะไร
เพราะว่าลาภยศมันไม่เที่ยง
มันมีเกิดขึ้นแล้วมันก็มีเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา
ขอให้พากันทำความรู้เท่าโลกธรรมอย่างนี้
โลกธรรมที่ประสบความสุข ก็อย่าเพลิดเพลินในความสุขนั้น
เพราะความสุขในโลกนี้มันไม่เที่ยงไม่ยั่งยืน
แต่ว่าความสุขที่มีร่างกายสมบูรณ์
โรคภัยไข้เจ็บไม่เบียดเบียนอย่างนี้ก็
มันก็เป็นสุขอีกส่วนหนึ่ง
บัดนี้ความสุขที่มีทรัพย์สมบัติเงินทองข้าวของพอใช้
พอจ่ายอันนี้มันก็เป็นสุข ประการหนึ่ง เป็นยังงั้น
ความสุขที่เกิดแต่ร่างกายไม่มีโรคภัยเบียดเบียน
อย่างนี้มันก็เป็นความสุขอีกประเภทหนึ่ง
ไอ้ความสุขทั้งหมดเหล่านี้...ล้วนแต่เป็นของไม่เที่ยง
เราภาวนาเราต้องรู้เท่าไว้ เมื่อเวลามันเกิดขึ้นมาเมื่อไร
เราก็จะได้รู้เท่าทัน จะมีใจตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เป็นยังงั้น
เพราะว่าถ้าเราจะไปมัวเสียใจ
เศร้าโศกกับความผิดหวังดังกล่าวมานั้น
มันก็เป็นความเศร้าโศกเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์อะไร
มีแต่ความทุกข์ใจอย่างเดียว
เหตุนั้นถ้าเรารู้เท่าเราไม่เสียใจดีใจ กับความมีลาภมียศ
ความเสื่อมลาภเสื่อมยศ ความสรรเสริญความนินทา
สุขทุกข์ อะไรต่างๆ นานา เหล่านี้นะ..เรารู้เท่าว่าโลกธรรม
ธรรมเหล่านี้เป็นธรรมประจำโลก
เกิดขึ้นมาแล้วมันก็แปรปรวนแตกดับไป ไม่ยั่งยืน
เราพยายามฝึกจิตใจให้รู้เท่า
ให้เป็นกลางต่อโลกธรรมแปดประการนี้ เสมอๆ ไป
แล้วความทุกข์ทางจิตใจก็เบาบางไป
และสรุปใจความว่า บุคคลผู้ที่หวั่นไหวต่อโลกธรรมแปดประการนี้
มันก็ขึ้นอยู่กับจิตใจที่มา ถือมั่นในธาตุสี่ขันธ์ห้า
นี่ถือว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นเราเป็นเขา
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หวงแหนในธาตุสี่ขันธ์ห้า
ใครจะมาด่าว่าติเตียนไม่ได้ มาด่าเราหรือมาว่าเราหรือ
เราก็เป็นคนๆ หนึ่ง เราก็ด่าตอบได้เรามีปากเหมือนกัน
อันนี้ก็ให้พากันรู้ไว้ว่าเขาด่ามา เขาก็ไม่ได้ด่าเราดอก
เราไม่มีอยู่ในขันธ์ห้า ขันธ์ห้าไม่ได้มีอยู่ในเรา
ขันธ์ห้านี้ มันก็มีรูปธรรมนามธรรมเท่านี้เอง
รูปธรรมนี้ก็ประกอบไปด้วยธาตุสี่ ดิน น้ำ ไฟ ลม
นามธรรมนี่ก็จิตกับกายสัมผัสกัน
ก็เกิดเวทนาขึ้นมา เกิดสัญญา เกิดสังขาร เกิดวิญญาณขึ้นมา
อันนี้เป็นนามธรรม เป็นธรรมที่ไม่มีรูปร่าง
เป็นธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนเราเขาอีกเช่นเดียวกันกับรูปธรรมนั้นเอง
ดังนั้นพวกเราที่ภาวนาอยู่เสมอ
...ให้พิจารณาโลกธรรมแปดนี่...ให้รู้เท่า
:: หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ