เชื่อมเข้าสู่ปรมัตถธรรม (พระครูเกษมธรรมทัต)
เชื่อมเข้าสู่ปรมัตถธรรม
พระครูเกษมธรรมทัต (สุรศักดิ์ เขมรํสี)
๘ ธันวาคม ๒๕๔๒
นมัตถุ รตนัตตยัสสะ ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอความผาสุกความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย
ต่อไปนี้จะได้บรรยายธรรมะตามหลักคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ โดยเฉพาะคณะผู้เข้าปฏิบัติกรรมฐานกำลังอยู่ในระหว่างทำความเพียรเจริญสติอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะทำปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงให้เกิดขึ้น ก็อาศัยการซักซ้อมทำความเข้าใจเพิ่มเติม การปฏิบัตินั้นจะต้องเจริญสติระลึกรู้ให้ตรงต่อสภาวธรรม แล้วก็ให้มีความพอดี มีความเป็นปรกติ
ในเบื้องต้นก็อาจจะระลึกรู้ในอารมณ์ที่เป็นสมมุติบัญญัติ เป็นสื่อเข้ามาสู่สภาวปรมัตถ์ หรือจะใช้บัญญัติอะไรก็ตามก็ให้เข้าใจว่าเป็นสื่อเข้ามา เป็นที่อาศัยเชื่อมโยง เป็นที่ตั้งเป็นที่เกาะของสติ เพื่อจะได้ตัดอารมณ์สมมุติภายนอกออกไป เพราะอารมณ์ที่เป็นเรื่องราวต่าง ๆ อดีตอนาคตไม่ใช่เป็นอารมณ์ที่จะทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง เราจะต้องละออกไป จิตใจจะต้องทิ้งจากอารมณ์ภายนอกที่เป็นเรื่องราว ที่เป็นสมมุติ ที่เป็นอดีตอนาคตออกไป สติจะต้องคุมจิตให้รู้เข้ามาสู่ภายใน คือรู้เข้ามาที่ร่างกายและจิตใจของตัวเอง
ในเมื่อจิตใจไม่ค่อยอยู่กับตัวเองคอยจะไหลออกไปข้างนอก ก็จำเป็นที่จะต้องเอาอารมณ์สมมุติมาเป็นเครื่องเกาะของสติของจิต และอารมณ์ที่เป็นสมมุตินั้นก็เลือกเอาอารมณ์ที่เป็นกรรมฐานได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้ อันมีลมหายใจเข้าออก มีอิริยาบถ มีธาตุสี่ มีอาการสามสิบสอง เป็นต้น ก็เอามาใช้ในเบื้องต้น เอาสติระลึกถึงลมหายใจเข้าออก ตามดูรู้ทันทุกขณะของลมหายใจเข้าออก แขนขา ลำตัว ศีรษะ ตั้งกายไว้อย่างไร ให้รู้ในอาการของกายอย่างนั้น
หรือกำหนดพิจารณาอาการสามสิบสอง พิจารณาผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ปอด ตับ ม้าม หัวใจ พังผืด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า เลือด น้ำลาย เสลด เหล่านี้เป็นต้น ให้เห็นเป็นของปฏิกูลเป็นของไม่สะอาด ก็แล้วแต่ที่จะถนัดเอามาใช้ ใครรู้สึกว่าทำอย่างไรแล้วมันถนัด คือทำแล้วจิตใจมันสงบ ทำแล้วจิตใจมันอยู่กับเนื้อกับตัวได้ดี ก็ให้ดำเนินสิ่งเหล่านั้นไป ไม่จำเป็นว่าต้องทำเหมือนกันในเบื้องต้นนี้ ถนัดดูลมหายใจก็ดูลมหายใจ ถนัดดูอิริยาบถก็ดูอิริยาบถ ถนัดพิจารณาอาการสามสิบสองแยกแยะให้เห็นร่างกายเป็นของปฏิกูลไม่สะอาดไม่สวยงาม ก็ดูไปอย่างนี้
หรือจะพิจารณาธาตุสี่ แยกกายออกไปให้เห็นว่าเป็นดินเป็นน้ำเป็นไฟเป็นลม ส่วนใดที่มันมีความแค่นแข็งก็เป็นดิน ส่วนใดที่เอิบอาบก็เป็นธาตุน้ำ ส่วนใดที่เป็นไออุ่นก็เป็นธาตุไฟ ส่วนใดที่มีความเคร่งตึงพัดไปมานั้นก็เป็นธาตุลม แยกแยะให้เห็นว่าร่างกายนี้เป็นเพียงธาตุที่มาประชุมกัน หาใช่เป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่ นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่เอามาพิจารณาให้เกิดความสงบให้เกิดความสังเวชให้เกิดความสลดใจ ถ้าจิตมันมีความสังเวชมีความสลด มันก็เกิดความสงบ แล้วก็เป็นวิธีที่จะทำให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ตัดอารมณ์สมมุติภายนอกออกไป เมื่อจิตใจมาอยู่กับเนื้อกับตัวก็เกิดความสงบ
เมื่อจิตใจมีความสงบ ในขั้นต่อไปก็กำหนดเข้าสู่สภาวปรมัตถ์ เชื่อมโยงเข้าไปสู่อารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์ ปรมัตถธรรม หรือที่เรียกว่าเป็นรูปธรรมเป็นนามธรรม อันเป็นสภาวะ อันเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่จริง ๆ ไม่ว่าท่านทั้งหลายจะเริ่มต้นจากการกำหนดดูอะไรก็ตาม ก็เชื่อมเข้ามาสู่สภาวปรมัตถ์ได้ทั้งหมด คือการกำหนดเข้าสู่ความรู้สึกภายในกายที่มีปรากฏอยู่เป็นความรู้สึก เช่น ความรู้สึกมันตึง มันหย่อน มันไหว มันแข็ง มันอ่อน มันเย็น มันร้อน หรือจะเรียกว่ามันรู้สึกกระเพื่อม มีการกระเพื่อม มีความไหว มีความสั่นสะเทือน
หรือมีความรู้สึกสบาย หรือมีความรู้สึกไม่สบาย อันเป็นตัวเวทนา อารมณ์เหล่านี้หรือสภาวะเหล่านี้แหละเป็นปรมัตถธรรม ไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมาย ลักษณะของความแค่นแข็งก็เป็นเพียงลักษณะ ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ความตึงความแข็ง ความไหว ความสบายไม่สบายเป็นความรู้สึก ไม่มีนิมิตเครื่องหมาย ไม่มีรูปทรงสัณฐาน ไม่เป็นชื่อไม่เป็นภาษา แต่เมื่อจิตนึกปรุงแต่งจดจำประสบการณ์ที่จำไว้ มันก็สร้างสมมุติขึ้น เป็นรูปทรงสัณฐานเป็นความหมาย เหล่านี้เรียกว่าเป็นสมมุติเกิดขึ้น
ฉะนั้นผู้ปฏิบัติอาศัยสมมุติในเบื้องต้นแล้วก็เชื่อมไปสู่สภาวะในความรู้สึก ดูอิริยาบถในเบื้องต้น น้อมเข้าไปรู้ในความรู้สึก กำหนดดูลมหายใจเข้าออกอยู่ก็เริ่มสังเกตความรู้สึก เวลาหายใจเข้ามันรู้สึกอย่างไร หายใจออกรู้สึกอย่างไร มันมีความสบาย มันมีความไม่สบาย มันมีความร้อนมันมีความเย็น มันมีความตึงมีความหย่อน มีความกระเพื่อมมีความเคลื่อนไหว นี่เข้าไปสู่สภาวปรมัตถ์ หรือใครที่พิจารณาอาการสามสิบสอง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เป็นต้นเหล่านั้น
จนกระทั่งเห็นนิมิตเครื่องหมายของอาการสามสิบสองเด่นชัด เห็นร่างกายไม่สะอาดไม่สวยงาม จิตใจสงบสังเวช สลด ก็ให้น้อมสติเข้ามารู้ที่จิตใจ ใจมีความสงบ ใจมีความสังเวชก็ดูเข้ามาที่จิต ที่มีความสงบมีความสังเวช น้อมเข้ามาพิจารณาอย่างนี้ หรือท่านที่พิจารณาโดยความเป็นธาตุสี่ก็ตาม เมื่อถึงจุดหนึ่งก็น้อมเข้ามาดูที่จิตใจ จิตอาจจะมีความปีติ เอิบอิ่มอยู่ มีความสุข คือสบาย เย็นใจ โปร่งใจ หรือมันมีความสงบ มีความตั้งมั่น ก็พิจารณาเข้ามาที่กระแสจิตที่มีอาการต่าง ๆ จะเห็นว่าจะปฏิบัติในเบื้องต้นด้วยวิธีการโดยใช้กรรมฐานบทใดก็ตาม เมื่อเข้าสู่สภาวปรมัตถ์แล้วก็จะเป็นสภาวะเป็นเรื่องอย่างเดียวกัน คือเข้าไปจดสภาวะเป็นความรู้สึก
ทางกายก็รู้ที่ความรู้สึกทางกาย ทางใจก็รู้เข้ามาที่จิตใจในความรู้สึก ในทางจิตใจนี้ก็มีทั้งความรู้สึกมีทั้งการรับรู้อารมณ์ ท่านทั้งหลายก็จะต้องพิจารณาสังเกต หนึ่ง สังเกตอาการในจิตว่าอาการในจิตขณะนี้รู้สึกอย่างไร มีปีติ มีความสุข มีความสงบ หรือมันมีความฟุ้งซ่าน หรือมันมีความรำคาญ หรือมันมีความเฉย ๆ สอง สังเกตจิตมันรับรู้อารมณ์ มีการเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ รับรู้อารมณ์ เปลี่ยนอารมณ์ รับรู้อารมณ์ รับอารมณ์หนึ่งหมดไป รับอารมณ์ใหม่อีก ๆ เห็นจิตมีการรับอารมณ์อยู่ตลอด บางทีก็รู้สึกจิตมีความกวัดแกว่งมีการไหวไป แวบไปแวบมา อย่างนี้เรียกว่าพิจารณาลักษณะของจิตใจ ทั้งกิริยาของจิตทั้งคุณสมบัติของจิต พร้อมไปกับการรับรู้ในส่วนทางกายในความรู้สึก
ถ้าปฏิบัติอย่างนี้แล้วก็เรียกว่าได้เจริญครบในสติปัฏฐานทั้งสี่ ทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต ทั้งธรรม กำหนดดูลมหายใจเข้าออกนี่ก็เป็นกาย อิริยาบถก็เป็นกาย อาการสามสิบสองก็เป็นกาย ธาตุสี่ก็เป็นกาย หรืออิริยาบถย่อย คู้เหยียดเคลื่อนไหว ก้มเงย เหลียวซ้ายแลขวาก็เป็นกาย ส่วนความรู้สึกที่สบายก็ดีไม่สบายก็ดี มันก็เป็นเวทนา ส่วนจิตใจก็เป็นลักษณะของธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ เป็นส่วนของธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ส่วนธรรมก็เป็นอาการที่ปรากฏเกิดขึ้นในจิต ส่วนหนึ่งก็คืออาการในจิต ตลอดทั้งสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ เรียกว่าอายาตนะ
กำหนดไว้ทั้งกลิ่น ทั้งเสียง ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพารมณ์ที่มากระทบ เรียกว่าพิจารณาธรรมในธรรมอยู่ บางครั้งก็มีนิวรณ์เกิดขึ้น มีราคะ มีโทสะ มีความฟุ้งซ่าน มีความรำคาญใจ มีความท้อถอย มีความสงสัย สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาก็มีสติกำหนดรู้อาการของสิ่งเหล่านี้ เห็นสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น มันจางลง มันคลายลง มันสิ้นไป มันเกิดขึ้นมาจากเหตุอันใดก็รู้เหตุอันนั้น มันดับไปเพราะเหตุอย่างไรก็รู้อย่างนั้น มันดับไปแล้วไม่เกิดขึ้นมาเพราะเหตุอย่างไรก็รู้ พิจารณาธรรม สิ่งที่ปรากฏเหล่านี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้น ที่เปลี่ยนแปลง ที่หมดไป ที่ดับไป ที่สิ้นไป
เมื่อสติสัมปชัญญะมั่นคงรวมรู้เข้าสู่ภายใน สัมผัสอยู่กับความรู้สึกทางกายทางจิตใจได้ต่อเนื่อง ก็ไม่ต้องไปคำนึงถึงอารมณ์ที่เป็นสมมุติ ให้ทิ้งจากสมมุติของความเป็นรูปร่างสัณฐานออกไป ทิ้งจากความหมาย เช่น มันเข้า มันออก มันสวยงามไม่สวยงาม เหล่านั้นเป็นต้น ก็คลายทิ้งออกไป เหลืออยู่กับความรู้สึกภายใน เมื่อสติมั่นคงอยู่กับภายในอยู่กับสภาวปรมัตถ์ ก็ไม่เห็นมีท่าทางของกายที่นั่งอยู่
ร่างกายหายไป แขนขาลำตัวไม่มี ความหมายว่านั่งก็ไม่มี ไม่รู้ว่านั่งอยู่ ไม่มีที่นั่ง ไม่มีตัวเองว่านั่ง ก็ไม่ต้องไปคำนึงถึง ไม่ต้องไปค้นหา ให้จับดูสภาวะที่เป็นความรู้สึก มีแต่สภาวะความรู้สึกเป็นความสบาย เป็นความไม่สบาย เป็นความเคลื่อนไหว เป็นความรู้สึกเป็นความนึกคิด เป็นความปรุงแต่ง เป็นความจดจำ มีอาการเป็นความรู้สึกต่าง ๆ ทั้งภายใน ทั้งกายทั้งจิตใจอยู่ เรียกว่าดำเนินเข้ามาสู่วิปัสสนา เข้ามาสู่สภาวปรมัตถ์
จากนั้นก็ให้พยายามประคับประคองปรับผ่อนให้สภาวธรรมต่าง ๆ หรือการทำงานการเจริญสตินั้นมีความเหมาะสม มีความเป็นกลาง เรียกว่าให้อินทรีย์มันสม่ำเสมอกัน ตัวปฏิบัติการมีความพร้อมเพรียง มีความสม่ำเสมอกัน ไม่ตึง ไม่หย่อน ไม่ล้ำหน้า ไม่หย่อนยาน สติทำหน้าที่เข้าไปรู้ไประลึก สัมปชัญญะพิจาณาสังเกต ความเพียร เพียรที่จะระลึกรู้ ก็ให้มีความพอดีคือไม่เพ่งไม่จ้องไม่บังคับ การระลึกเป็นไปอย่างพอเหมาะพอดี เรียกว่ามีความปล่อยวางอยู่ในตัว ระลึกไปพร้อมด้วยการปล่อยวาง สติระลึกรู้อารมณ์อันใดก็ปล่อยวางอารมณ์อันนั้น ชั่วขณะนั้น ๆ เช่น รู้ความตึงก็ปล่อยวางความตึง รู้ความเย็นก็ปล่อยวางความเย็น รู้ความคิดก็ปล่อยวาง
ความคิด รู้ความสงบก็ปล่อยวางความสงบ สติระลึกอารมณ์อันใดก็หัดปล่อยอารมณ์อันนั้น ปล่อยให้มันผ่านไป แล้วก็รู้อารมณ์ใหม่ที่ต่อติดกันมากระชั้นชิด รู้ใหม่ๆๆ ผ่านไปๆๆ ทุกระยะทุกขณะ พยายามประคับประคองสติสัมปชัญญะให้เที่ยงตรงอยู่กับปัจจุบัน เป็นปัจจุบัน ปัจจุบันที่สิ้นสุดชั่วขณะนิดเดียว แวบเดียว ๆ ถ้าหากประคับ ประคองได้ส่วนได้พอดี ได้เหมาะสม สละสลวย นุ่มนวล ก็จะเห็นสภาวะปรากฏ ผ่านไป หมดไป สิ้นไป เรียกว่าเห็นความเกิดดับของสภาวะ เห็นความเกิดดับของรูปของนาม
เมื่อเห็นความเกิดดับรูปของนามยิ่งขึ้นมากขึ้น ก็จะดึงเอาความรู้สึกเกิดปรากฏขึ้นในใจว่า ไม่เที่ยง ไม่เที่ยง เห็นสภาวะปรากฏ เห็นความไม่เที่ยงคือมันเปลี่ยนแปลง มีความเป็นทุกข์คือทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ นั่นก็คือเห็นความเกิดดับ เห็นสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แล้วก็จึงเห็นอนัตตาความบังคับบัญชาไม่ได้ สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นล้วนแต่เกิดขึ้น ดับไป บังคับไม่ได้ เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันอย่างนั้น หาใช่สัตว์บุคคล หาใช่ตัวตนเราเขาไม่ จะพบว่าสักแต่ว่าเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้วดับไปเท่านั้นเอง
เมื่อจิตเสพคุ้นกับความเปลี่ยนแปลง กับความเกิดดับ กับความบังคับบัญชาไม่ได้ จิตใจก็จะคลายจะปล่อยจะวาง ยอมรับกับความเป็นจริงว่าสิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้น มีความดับไป มีความเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา บังคับบัญชาไม่ได้ มีสภาพเป็นไปอย่างนั้นเอง จะบังคับไม่ให้มันเกิดก็ไม่ได้ มันเกิดมาแล้วมันจะดับให้มันไม่ดับก็ไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนบังคับบัญชาไม่ได้ เรียกว่าได้เข้าไปเห็นสัจธรรม นี่แหละคือเป็นวิปัสสนา
วิปัสสนาแปลว่าการเห็นแจ้ง เห็นแจ้งก็คือเห็นจริง เห็นของจริงตามความเป็นจริง ของจริงก็คือรูปนาม คือสภาวะตามความเป็นจริง ก็คือสภาวะหรือธรรมชาติเหล่านี้มันมีความเกิดดับ มีความเปลี่ยนแปลง หรือว่าเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น มีความไม่เที่ยงเป็นธรรมดา มีความเป็นทุกข์เป็นธรรมดา มีความเป็นอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้เป็นธรรมดา
นี่คือเป้าหมายของการเจริญสติ คือให้เข้าถึงปัญญา ไม่ใช่เราจะมาทำให้มันเพียงแค่สงบ แค่นิ่งเฉย ๆ เท่านั้น เราจะต้องให้มีปัญญา เพราะฉะนั้นจะต้องมีการพิจารณา มีการใส่ใจ มีการสังเกต แต่ก็ไม่ใช่คิดนึกนะ เพราะการรู้แจ้งการพิสูจน์ความเป็นจริงนั้นมันต้องพิสูจน์ในปัจจุบัน พิสูจน์สภาวะที่กำลังเป็นไปในปัจจุบันนี้ ชั่วขณะหนึ่ง ๆ ชั่วขณะหนึ่ง ๆ แต่ว่าเมื่อสติมันยังไม่มีกำลังมันไม่ทันต่อสภาวะ ก็จะไปบีบให้มันเกิดปัญญาก็ไม่ได้ ก็ต้องปล่อยไป
ต้องสะสมไปเรื่อย ๆ สะสมสติกำลังของความเพียรของสติให้ทันต่อสภาวะบ่อย ๆ เรื่องความรู้ความเห็นไม่ต้องบังคับให้มันเกิด ถ้าเหตุปัจจัยมันพร้อมมันก็เกิด เกิดขึ้นชั่วฉับพลันทันทีต่อสติที่มีความสมบูรณ์ ต่อสภาวะที่กำลังปรากฏ ความแจ่มแจ้งในจิตใจก็ปรากฏขึ้นไม่ต้องคิดไม่ต้องนึกเอา เพราะฉะนั้นก็ขอให้พยายามฝึกฝนอบรมฝึกหัด ไม่ท้อไม่ถอย ใช้ความพากเพียรพยายามให้ต่อเนื่องทุกขณะ
ตามที่ได้บรรยายมาพอสมควรแก่เวลา ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขความเจริญในธรรม จงมีแก่ทุกท่านเทอญ
ที่มา : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13433