อาการที่อยู่ในฌาน เรียกว่าตถาคตไสยา
ภิกษุ ท. ! การนอน ๔ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่. สี่อย่าง อย่างไรเล่า? สี่
อย่างคือ เปตไสยา กามโภคิไสยา สีหไสยา ตถาคตไสยา.
ภิกษุ ท. ! เปตไสยา (นอนอย่างเปรต) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ
ท. ! โดยมาก พวกเปรต ย่อมนอนหงาย. นี้เรียกว่า เปตไสยา.
ภิกษุ ท. ! กามโภคิไสยา (นอนอย่างคนบริโภคกาม) เป็น
อย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! โดยมาก คนบริโภคกาม ย่อมนอนตะแคงโดยข้าง
เบื้องซ้าย. นี้เรียกว่า กามโภคิไสยา.
ภิกษุ ท. ! สีหไสยา (นอนอย่างสีหะ) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ
ท. ! สีหะเป็นพญาสัตว์ ย่อมสำเร็จการนอนโดยข้างเบื้องขวา เท้าเหลื่อมเท้า
สอดหางไว้ที่ระหว่างแห่งขา. สีหะนั้นครั้นตื่นขึ้น ย่อมชะเง้อกายตอนหน้าขึ้น
สังเกตกายตอนท้าย ถ้าเห็นความดิ้นเคลื่อนที่ของกาย (ในขณะหลับ) ย่อมมี
ความเสียใจเพราะข้อนั้น. ถ้าไม่เห็น ย่อมมีความดีใจ. นี้เรียกว่า สีหไสยา.
ภิกษุ ท. ! ตถาคตไสยา (นอนอย่างตถาคต) เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุ สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
เข้าถึง ฌานที่ ๑ ซึ่งมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่. เพราะ
วิตกวิจารรำงับไป เธอเข้าถึง ฌานที่ ๒ อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน
สามารถให้สมาธิผุดขึ้นเป็นธรรมเอก ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่
สมาธิ แล้วแลอยู่. เพราะปีติจางหายไป เธอเป็นผู้เพ่งเฉยอยู่ได้ มีสติ มีความ
รู้สึกตัวทั่วพร้อม และได้เสวยสุขด้วยนามกาย เข้าถึง ฌานที่ ๓ อันเป็นฌานที่
พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวสรรเสริญผู้ได้บรรลุว่า “เป็นผู้เฉยอยู่ได้ มีสติอยู่
เป็นสุข” แล้วแลอยู่. เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่ง
โสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน เธอเข้าถึง ฌานที่ ๔ อันไม่ทุกข์และไม่สุขมีแต่
สติอันบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. นี้เรียกว่า ตถาคตไสยา.
ภิกษุ ท. ! เหล่านี้ แล การนอน ๔ อย่าง.
- จตุกฺก.อฺ. ๒๑/๓๓๑/๒๔๖.