มูลกรรมฐาน
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
กุลบุตรผู้บรรพชาอุปสมบทเข้ามาในพระพุทธศาสนานี้แล้ว
ใครเล่าไม่เคยเรียนกรรมฐานมา บอกได้ทีเดียวว่า ไม่เคยมี
พระอุปัชฌาย์ทุกองค์เมื่อบวชกุลบุตรจะไม่สอนกรรมฐานก่อน
แล้วจึงให้ผ้าภายหลังไม่มี
ถ้าอุปัชฌาย์องค์ใดไม่สอนกรรมฐานก่อน
อุปัชฌาย์องค์นั้นดำรงความเป็นอุปัชฌายะต่อไปไม่ได้
ฉะนั้นกุลบุตรผู้บวชมาแล้ว
จึงได้ชื่อว่าเรียนกรรมฐานมาแล้ว ไม่ต้องสงสัยว่า ไม่ได้เรียน
พระอุปัชฌายะสอนกรรมฐาน ๕
คือ เกสา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง
ในกรรมฐานทั้ง ๕ นี้ มีหนังเป็นที่สุด ทำไมจึงสอนถึงหนังเท่านั้น?
เพราะเหตุว่า หนัง มันเป็นอาการใหญ่
คนเราทุกคนต้องมีหนังหุ้มห่อ
ถ้าไม่มีหนัง ผม ขน เล็บ ฟัน ก็อยู่ไม่ได้ ต้องหลุดหล่นทำลายไป
เนื้อ กระดูก เอ็น และอาการทั้งหมดในร่างกายนี้
ก็จะอยู่ไม่ได้ ต้องแตกต้องทำลายไป
คนเราจะหลงรูปก็มาหลง หนัง หมายความสวยๆ งามๆ
เกิดความรักใคร่แล้วก็ปรารถนาเพราะมาหมายอยู่ที่หนัง
เมื่อเห็นแล้วก็สำคัญเอาผิวพรรณของมัน
คือ ผิว ดำ-ขาว-แดง-ดำแดง-ขาวแดง
ผิวอะไรต่ออะไร ก็เพราะหมายสีหนัง
ถ้าไม่มีหนังแล้ว ใครเล่าจะหมายว่าสวยงาม?
ใครเล่าจะรักจะชอบจะปรารถนา? มีแต่จะเกลียดหน่ายไม่ปรารถนา
ถ้าหนังไม่หุ้มห่ออยู่แล้ว เนื้อเอ็นและอาการอื่นๆ ก็จะอยู่ไม่ได้
ทั้งจะประกอบกิจการอะไรก็ไม่ได้ จึงว่า หนังเป็นของสำคัญนัก
จะเป็นอยู่ได้กินก็เพราะหนัง จะเกิดความหลงสวยหลงงามก็เพราะมีหนัง
ฉะนั้นพระอุปัชฌายะท่านจึงสอนถึงแต่หนังเป็นที่สุด
ถ้าเรามาตั้งใจพิจารณาจนให้เห็นความเปื่อยเน่าเกิดอสุภนิมิต ปรากฏแน่แก่ใจแล้ว
ย่อมจะเห็นอนิจจสัจจธรรม ทุกขสัจจธรรม อนัตตาสัจจธรรม
จึงจะแก้ความหลงสวยหลงงามอันมั่นหมายอยู่ที่หนัง
ย่อมไม่สำคัญหมาย และไม่ชอบใจ ไม่ปรารถนาเอาเพราะเห็นตามความเป็นจริง
เมื่อใดเชื่อคำสอนของพระอุปัชฌายะไม่ประมาทแล้ว จึงจะได้เห็นสัจจธรรม
ถ้าไม่เชื่อคำสอนพระอุปัชฌายะ ย่อมแก้ความหลงของตนไม่ได้
ย่อมตกอยู่ในบ่วงแห่งรัชชนิอารมณ์ ตกอยู่ในวัฏจักร
เพราะฉะนั้น คำสอนที่พระอุปัชฌายะได้สอนแล้วแต่ก่อนบวชนั้น
เป็นคำสอนที่จริงที่ดีแล้วเราไม่ต้องไปหาทางอื่นอีก
ถ้ายังสงสัย ยังหาไปทางอื่นอีกชื่อว่า ยังหลงงมงาย
ถ้าไม่หลงจะไปหาทำไม คนไม่หลงก็ไม่มีการหา
คนที่หลงจึงมีการหา หาเท่าไรยิ่งหลงไปไกลเท่านั้น
ใครเป็นผู้ไม่หา มาพิจารณาอยู่ในของที่มีอยู่นี้
ก็จะเห็นแจ้งซึ่งภูตธรรม ฐีติธรรม อันเกษมจากโยคาสวะทั้งหลาย
ความในเรื่องนี้ ไม่ใช่มติของพระอุปัชฌายะทั้งหลายคิดได้
แล้วสอนกุลบุตรตามมติของใครของมัน
เนื่องด้วยพุทธพจน์แห่งพระพุทธองค์เจ้า
ได้ทรงบัญญัติไว้ให้อุปัชฌายะเป็นผู้สอนกุลบุตรผู้บวชใหม่ ให้กรรมฐานประจำตน
ถ้ามิฉะนั้นก็ไม่สมกับการออกบวชที่ได้สละบ้านเรือนครอบครัว
ออกมาบำเพ็ญเนกขัมมธรรม หวังโมกขธรรม
การบวชก็จะเท่ากับการทำเล่น พระองค์ได้ทรงบัญญัติมาแล้ว
พระอุปัชฌายะทั้งหลายจึงดำรงประเพณีนี้สืบมาตราบเท่าทุกวันนี้
พระอุปัชฌายะสอนไม่ผิด สอนจริงแท้ๆ เป็นแต่กุลบุตรผู้รับเอาคำสอนไม่ตั้งใจ
มัวประมาทลุ่มหลงเอง ฉะนั้นความในเรื่องนี้
วิญญูชนจึงได้รับรองทีเดียวว่า เป็นวิสุทธิมรรคเที่ยงแท้
ที่มา...มุตโตทัย พระธรรมเทศนาของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
บันทึกโดย พระอาจารย์วัน อุตฺตโม และ พระอาจารย์ทองคำ ญาโณภาโส
ณ วัดป่าบ้านหนองผือ อ. พรรณานิคม จ. สกลนคร
พ.ศ. ๒๔๙๑ - ๒๔๙๒
http://www.luangpumun.org