พรหมวิหาร ๔ ทำให้ตนและผู้อื่นมีแต่ความสุข : หลวงพ่อเปลี่ยน ปัญญาปทีโป

 จำปาพร  

พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป
วัดอรัญญวิเวก จ.เชียงใหม่

...

พระพุทธเจ้าสรรเสริญบุคคลตั้งอยู่ใน
"ความเมตตา ความกรุณา ความมุทิตา อุเบกขา”
ธรรมทั้งสี่อย่างนี้หากบุคคลใดได้ตั้งจิตตั้งใจ
เอาไว้ในดวงจิตดวงใจของตนเองแล้ว
จึงจะมีความสุขความสบายทั้งกายทั้งใจ
นำให้มีความสุขทั้งตนและบุคคลอื่นเกิดขึ้น

นี่แหละเราอยู่ด้วยกันในโลกนี้ "ทุกคนก็ต้องการความสุข"
แต่ได้รับผลตั้งแต่ความทุกข์ความเดือดร้อนวุ่นวาย
ไม่มีความสุขความสบายทั้งกายและทั้งใจ
เพราะเหตุเราไม่ได้ตั้งอยู่ในธรรมทั้งสี่อย่างนี้
เมื่อไม่ได้ตั้งอยู่ในธรรมทั้งสี่อย่างนี้

ไม่มี "เมตตา" แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งตัวเล็กตัวใหญ่
สูงต่ำดำขาว ยาวสั้นก็ดี หรือมนุษย์ด้วยกันนั้นก็ดี
เราไม่มีเมตตาซึ่งกันและกันแล้วก็จะเป็นเหตุ
ทำให้เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ฆ่าฟันรันแทง ทุบตีกัน รบราฆ่าฟันกันไม่หยุดไม่หย่อน
ไม่ผ่อนไม่ผัน จนชีวิตเพื่อนขาดสะบั้นหั่นแหลก
หรือล่วงลับดับจากกันไป ได้มีความวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้
ก็เพราะเหตุอะไร เหตุเราขาด “เมตตาธรรม” นี่แหละ
เมตตาซึ่งกันและกันนั่นแหละ มันจึงมีความทุกข์เดือดร้อน

ไม่มี "กรุณา" สงสารซึ่งกันและกัน ไม่สงสารแก่สัตว์ทั้งหลาย
ไม่สงสารแก่เพื่อนมนุษย์ จะทำกิจการงานอะไรแก่สัตว์ทั้งหลาย
ก็ไม่รู้ว่าหนักว่าเบา ว่ามีกำลังแค่ไหน ใช้ให้มีทุกขทาน
จนเหลือบ่ากว่าแรงจนสัตว์นั้นมีความทุกข์เดือดร้อน ถึงตายไปก็มี
อันนี้คนที่ขาดความสงสารสัตว์ทั้งหลาย
แต่มนุษย์ก็ดี การใช้งานใช้การซึ่งกันและกัน
ไม่คิดเห็นอกเห็นใจ เห็นกำลังของกันและกัน
ใส่ทุกขทานจนเหลือบ่ากว่าแรงจนจะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ
จนจะล่วงลับดับไป จนทำไม่ไหว จนถึงแก่ความตายนั้นก็มี
เพราะเหตุอะไร เพราะเหตุขาดความสงสารซึ่งกันและกันนั่นแหละ

ข้อที่สาม "การมุทิตา" ไม่มี ความพลอยยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดี
มีแต่อยากจะตัดรอนซึ่งกันและกันและเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
หาหนทางขัดแย้งซึ่งกันและกัน เราจะเห็นได้อย่างนี้
เห็นไหมการค้าการขายก็ดี การแข่งความรู้วิชาอันใดกันก็ดี
แก่งแย่งซึ่งกันและกัน เมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี
ก็ไม่มีความพลอยยินดีด้วยหาแต่ตัดรอนกันซึ่งกันและกันอยู่ตลอด
นี่แหละความขาดการพลอยยินดีถึงความดีของผู้อื่น
อย่างนี้แหละก็ทำให้มีความทุกข์ความเดือดร้อน

อีกอย่างการที่บุคคลเราไม่รู้จักเบา
รู้จักวาง "อุเบกขา" การที่ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
และไม่รู้จักปล่อยจักวางในสิ่งนั้น
เช่นว่าเมตตาก็เมตตาซะจนตนเอง
มีความทุกข์ความเดือดร้อนเกินไปนั้นก็ไม่ได้
ความสงสารก็สงสารจนตนเองมีความทุกข์ความเดือดร้อนเกิดขึ้น
มุทิตาความพลอยยินดีก็ยินดีคนอื่นตนเองจนไม่รู้จักปฏิบัติตนเอง
อุเบกขาความวางเฉย ไม่รู้จักการวางเฉย ไปยึดไปติด
ไม่รู้จักของนั้นตั้งอยู่อย่างไร เสื่อมไปอย่างไร .."เป็นธรรมดา"
ก็ให้ตนเองติดอยุ่ในเมตตานั้นจนมีความทุกข์อีกก็ได้
นี่อย่างหนึ่งมันก็มีความทุกข์ความเดือดร้อนเกิดขึ้น

เหตุฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวว่า
การที่บุคคลขาดจากเมตตา ขาดจากกรุณา
ขาดจากมุทิตา ขาดจากอุเบกขาความวางเฉย
อย่างนี้ทำให้ตนเองมีความทุกข์ความเดือดร้อน
ทั้งตนเองและบุคคลอื่นก็เดือดร้อนด้วย
เหตุฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า
มันมีความทุกข์ถ้าบุคคลไม่ตั้งอยู่ในธรรมทั้งสี่อย่างนี้



5,617







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย