คุณธรรมของพระอรหันต์ : หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
พระอาจารย์เหรียญ วรลาโภ
วัดอรัญญบรรพต
อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
...
ในอธิกรณสมถะ ๗ *นั่นน่ะ เพิ่นจึงว่า สงฆ์นั้นน่ะสวดประกาศให้สมมติ
แก่พระอรหันต์ว่าเป็น “ผู้มีสติเต็มที่”เพื่อไม่ให้ใครโจทก์ท่านด้วยอาบัติ
พระอรหันต์นั้นท่านมีสติเต็มที่เลย มีสติอยู่ตลอดเวลา ท่านไม่หลง
ท่านมีความไม่หลงเป็นธรรมดา นี่จึงว่า “สติ” นี้มันสำคัญขนาดไหน
ให้พากันฟังแล้วพิจารณาดู
แสดงว่า ท่านผู้ละอาสวะกิเลสขาดจากสันดานแล้วนั้น
ท่านมีจิตแน่วแน่อยู่ตลอดไป เมื่อมีจิตแน่วแน่อยู่อย่างนั้น
ก็มีสติประจำตัวอยู่ตลอดไป เพราะมันไม่มีกิเลสมารบกวนที่จะให้จิตนี้
ระลึกไปในเรื่องที่ไม่เป็นสาระประโยชน์อะไรต่ออะไรหมู่นั้น มันไม่มี
กิเลสเหล่านั้นท่านละหมดแล้ว เหตุนั้นจิตของท่านจึงเป็นปกติรู้ ปกติเห็น
ความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างไป เห็นก็สักแต่ว่าเห็น
ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยินไปเท่านั้นเอง ภายในจิตใจนั้นไม่ได้วิตกวิจารณ์
ไม่ได้หวั่นไหวไปด้วยความยินดียินร้ายอะไรเลย
นี้เป็น “คุณธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย”
เรียกว่า ท่านมี "ฉฬงฺคุเปกขา” เป็นเครื่องอยู่เพิ่นว่า
เรียกว่า มีจิตวางเฉยต่ออายตนะภายในภายนอกต่อวิญญาณความรู้สึก
ต่อสัมผัสต่างๆหมู่นี้ ท่านไม่ได้หวั่นไหวเลย ไม่ได้หลงอารมณ์เหล่านี้เลย
อะไรจะกระทบมาเมื่อไรเวลาไหนขณะไหนท่านก็รู้เท่าอยู่อย่างนั้น
ไม่ถือมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนเป็นเขาเป็นเราอะไรเลย
นี้ล่ะ "คุณธรรมของพระอรหันต์"
ไอ้พวกเราชื่อว่ายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์นี่ เราก็จะพยายามบำเพ็ญคุณธรรมเหล่านี้ไป
ไม่ท้อไม่ถอยแล้ว ไม่วันใดก็วันหนึ่งหรือไม่ก็ไม่ชาติชาติหนึ่ง
ก็ต้องได้เป็น “พระอรหันต์” ให้ได้ "เดินตามรอยของพระอรหันต์" หมายความว่าอย่างนั้น
บางคนก็ว่า อ้าว เราเป็นปุถุชนน่ะจะไปเดินตามรอยของท่านได้อย่างไร
ส่วนมากมันก็มักจะเป็นอย่างว่านี้แหละ ออกความเห็นมาอย่างว่านี้
แต่ความจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น หมายความว่า เหมือนอย่างว่า
มีบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งนะ เขาทำทางให้เตียนโล่งไปก่อนแล้วอย่างนี้
แล้วเขาก็ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในทางนั้น เอ้า ใครอยากเดินก็เดินได้อย่างนี้
ใครเล่าจะไปบุกป่าเข้าไปโน่นน่ะ มันก็ต้องเดินไปตามทางที่โล่งเตียนนั้นเองนะ
อันนี้ฉันใดก็อย่างนั้นแหละ ธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย
ท่านไมได้สงวนลิขสิทธิ์เลย ใครยินดีปฏิบัติตามท่านก็นับว่าพอใจแล้ว
ท่านไมได้หวงน่ะ ความมุ่งหมายของท่านยังอยากให้โลกทั้งโลกนี่
ปฏิบัติตามรอยของพระอรหันต์นะกันทั้งหมดนู่น
เพราะฉะนั้นเราจะไปย่อท้ออย่างไรเล่า เราจะไปนึกว่าไอ้เรานี่น่ะ
มันจะก้าวไปตามท่านไม่ไหวแล้ว ไม่ควรที่จะไปคิดอย่างนั้น
ก็ธรรมดานะการเดินทางน่ะ เมื่อต่างคนต่างมีกำลังอยู่นี่
สมมตินะว่า สมมติว่าพระเจ้าอยู่หัวนี้นะ
ก็เมื่อพระองค์ทรงพระดำเนินไปก่อนแล้วอย่างนี้ เอ้า ประชาราษฎรก็เดินตามหลัง
อย่างนี้แหละ ไม่ใช่ว่าจะไปทรงพระดำเนินได้แต่พระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น
ราษฎรก็เดินตามได้ เออเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเราจะเป็นปุถุชน
คนยังเป็นผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสตัณหาอยู่ก็ตาม
เราก็พยายามเดินตามรอยของพระอรหันต์นั่นแหละ เป็นอย่างนั้น
คือ ฝึกสติสัมปชัญญะนี่ให้แก่กล้าขึ้นในกายในวาจาในใจนี่
ให้แก่กล้าขึ้นรู้ทั่วถึงทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
รู้ทั่วถึงในรูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสต่างๆ
ที่มันกระทบกระทั่งมาประจำวันประจำเวลาอยู่นี้นะ
นี่เราทำความรู้เท่าอยู่เสมอและควบคุมจิตไม่ให้มันหวั่นไหวไปตาม
หือ..อย่างนี้ซิ เรียกว่า "ดำเนินตามรอยของพระอรหันต์" น่ะ
ถึงแม้ว่าเราจะยังไม่บรรลุถึงพระนิพพานอย่างพระพุทธเจ้า
และพระอรหันต์ทั้งหลายก็ตาม มันก็เป็นธรรมดาแหละ
เมื่อเรายังเดินทางไปไม่ถึงจุดนั้นแล้วมันจะได้บรรลุยังไงล่ะ
แต่ทีนี้ถ้าเราไม่พยายามเดินซะเลย มันก็ยิ่งไม่ได้บรรลุ
ยิ่งห่างไกลพระนิพพาน ไม่ทราบว่าจะท่องเที่ยวเกิดตายอยู่กี่ชาติกี่ภพ
จึงจะได้บรรลุถึงซึ่งพระนิพพาน ถ้าไม่ทำความเพียร ไม่มีทางเลย
จะเทียวเกิดเทียวตายอยู่กี่ล้านกี่โกฏิชาติก็ไม่นะ ไม่ใกล้ต่อพระนิพพานเลย
ก็จะได้มาทนทุกข์ทรมานอยู่ในโลกสงสารอันนี้ ชาติแล้วชาติเล่าอยู่อย่างนั้น
...
*อธิกรณสมถะ ธรรมเครื่องระงับอธิกรณ์,
วิธีดำเนินการเพื่อระงับอธิกรณ์มี ๗ อย่าง คือ
๑. สัมมุขาวินัย วิธีระงับในที่พร้อมหน้า
๒. สติวินัย วิธีระงับโดยถือสติเป็นหลัก
๓. อมูฬหวินัย วิธีระงับสำหรับผู้หายจากเป็นบ้า
๔. ปฏิญญาตกรณะ การทำตามที่รับ
๕. ตัสสปาปิยสิกา การตัดสินลงโทษแก่ผู้ผิด (ที่ไม่รับ)
๖. เยภุยยสิกา การตัดสินตามคำของคนข้างมาก
๗. ติณวัตถารกวินัย วิธีดุจกลบไว้ด้วยหญ้า (ประนีประนอม)
[จาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ]
...
ส่วนหนึ่งจากพระธรรมเทศนาหัวข้อ
"คนโง่มีมากกว่าคนฉลาด ๑๓ พ.ย ๒๕๓๑"