เหตุแห่งความพินาศ ข้อที่ 2 ความเกียจคร้าน
"นิทานธรรมะ" เรื่อง เหตุแห่งความพินาศ ข้อที่ 2 ความเกียจคร้าน...
เหตุแห่งความพินาศข้อที่ ๒ ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ คือ โกสัชชะ แปลว่า ความเกียจคร้าน หรือมักพูดกันว่าขี้เกียจ ลักษณะของ ความเกียจคร้าน ก็คือการไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น โดยเฉพาะงาน ตามหน้าที่ และงานที่ควรทำ หรือต้องทำ เหตุผลที่คนเกียจคร้าน มักจะอ้าง ในการที่จะไม่ทำงาน ท่านว่ามักไม่ค่อยพ้นเรื่อง ๓ ประเภท คือ
อ้างลมฟ้าอากาศ เช่น อ้างว่าหนาวจะตาย ร้อนจะตาย
อ้างเวลา เช่นตอนนี้ ยังไม่ถึงเวลางาน วันนี้หมดเวลาแล้ว
และ อ้างเรื่องกิน เช่น ตอนนี้กำลังหิว ขอกินก่อน ครั้นกินอิ่มแล้ว ก็อ้างต่อไปว่า ตอนนี้กำลังอิ่มอยู่ รอให้ข้าว เรียงเม็ดก่อน
สรุปว่า คนขี้เกียจสามารถยกเหตุมาอ้างได้ทุกเรื่อง เพื่อที่จะไม่ต้องทำงาน นักปราชญ์ท่านว่า ค่าของคนนั้น อยู่ที่การงาน ดังคำกล่าวที่ว่า "ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน" คนที่ไม่ทำอะไรเลย เพราะความเกียจคร้าน ก็คือคนที่ไม่มีค่าอะไรเลยนั่นเอง คนที่มีความรู้สูงๆ มีความสามารถ มีฝีมือดีในการทำงาน แต่ถ้าขี้เกียจเสียแล้ว ก็หมดซึ่งคุณค่าและกลายเป็นคนไร้ค่าทันที ยิ่งถ้าเป็นคนขี้เกียจ มาแต่ต้นด้วยแล้ว การที่จะมีความรู้ มีความสามารถ ก็เป็นอันไม่ต้องกล่าวถึงเลยทีเดียว ผู้รู้จึงกล่าวว่า "เกียจคร้าน ก็หาวิชาความรู้ไม่ได้ ไร้วิชาก็หาทรัพย์ไม่ได้ ไร้ทรัพย์ก็หาเพื่อนได้ยาก ไร้เพื่อนก็หาความสุขได้ยาก" ชีวิตที่ไร้สุข ก็คือชีวิตที่ล้มเหลว นับเป็นความพินาศอย่างร้ายแรง ความเกียจคร้าน จึงเป็นเหตุแห่งความพินาศ ด้วยประการฉะนี้
ความขี้เกียจนั้น เนื้อแท้ก็คืออาการ ที่ใจไม่สู้ ใจไม่ถึง ใจไม่กล้า ที่จะเผชิญกับ ความลำบาก ความเหน็ดเหนื่อย และความไม่สุขสบาย ในการที่จะต้องทำงาน หรือทำหน้าที่ต่าง ๆ คุณธรรมที่จะปราบ ความเกียจคร้านได้ ก็คือ วิริยะ หรือความขยันหมั่นเพียร คำว่า วิริยะ เป็นคำเดียวกับ วีระ ที่แปล ว่ากล้าหาญ ไม่กลัวอะไร คนที่มีวิริยะ จะไม่กลัวลมฟ้าอากาศ ไม่หลีกเลี่ยง วันเวลา และไม่คำนึงถึงว่า ท้องจะหิว จะอิ่ม สรุปว่า คนขยันหมั่นเพียร จะกล้าเผชิญ อุปสรรคทุกชนิด โดยไม่หวาดหวั่น นั่นคือหนทาง แห่งความสำเร็จในชีวิต
ถ้าคนเราประพฤติตน เป็นคนเกียจคร้าน จะต้องพบกับ ความพินาศนานัปการ ตรงกันข้ามถ้ามี วิริยะ คือ ความขยัน หมั่นเพียร ก็จะประสบความสำเร็จในชีวิต สมความปรารถนาอย่างแน่นอน