คนอกตัญญู (สัจจังกิรชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ ทรงปรารภพระเทวทัต ผู้พยายามตะเกียกตะกายเพื่อปลงพระชนม์ของพระองค์ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานามาแล้ว ในเมืองพาราณสี พระเจ้าพรหมทัต มีพระราชโอรสผู้มีสันดานกักขฬะ หยาบคายอยู่พระองค์หนึ่งนามว่าทุฏฐกุมาร พระกุมารไม่ได้ทุบตีใครแล้วจะไม่ยอมตรัสกับใคร จึงไม่เป็นที่ชอบใจทั้งคนภายในและภายนอกพระราชวัง
วันหนึ่ง ท้าวเธอปรารถนาจะเล่นน้ำในแม่น้ำ จึงไปที่แม่น้ำด้วยขบวนบริวารหมู่ใหญ่ ปรากฏว่า วันนั้น มีพายุฝนตกอย่างหนัก พวกทาสจึงพากันทิ้งพระองค์ให้ลอยไปตามลำน้ำ หนีกลับเข้าเมือง กราบทูลพระราชาว่าไม่พบพระกุมาร พระราชารับสั่งให้ทหารออกติดตามค้นดูให้ทั่วบริเวณก็ไม่พบ
ฝ่ายพระกุมารได้เกาะขอนไม้ลอยไปตามแม่น้ำ ไม่นานก็มีงู หนูและนกแขกเต้าหนีตายมาอาศัยเกาะขอนไม้นั้นตามลำดับ สัตว์ทั้ง ๔ ชนิดได้อาศัยขอนไม้ลอยไปตามแม่น้ำนั้น ที่ใกล้ฝั่งแม่น้ำนั้น มีอาศรมของฤาษีอยู่ตนหนึ่ง ท่านกำลังเดินจงกรมในเวลาเที่ยงคืน ได้ยินเสียงพระกุมารร้องไห้ จึงไปที่ฝั่งน้ำ พบเห็นสัตว์ทั้ง ๔ ชนิดนั้นจึงได้ช่วยขึ้นฝั่งมา ก่อไฟให้สัตว์ที่อ่อนแอกว่าผิงไฟก่อน ให้พระกุมารผิงทีหลัง เมื่อจะให้อาหารก็ให้สัตว์ทั้ง ๓ ชนิดก่อน ให้พระกุมารทีหลัง
พระกุมารผูกโกรธในฤาษีหาว่าไม่ให้เกียรติตน พอผ่านไปสองสามวัน น้ำเหือดแห้งแล้ว สัตว์ทั้งสามก็ร่ำลาฤาษี พร้อมบอกที่อยู่ของตน หากฤาษีเดือดร้อนอะไรจงบอก ส่วนพระกุมารก็ร่ำลาฤาษีเช่นกัน กลับไปถึงเมืองไม่นานก็ได้ขึ้นครองราชสมบัติ
ฝ่ายฤาษี ต้องการจะทดสอบสัตว์ทั้ง ๔ ชนิด จึงไปที่อยู่ของงู หนูและนกแขกเต้าตามลำดับ สัตว์เหล่านั้นต่างก็ยินดีให้การต้อนรับเป็นอย่างดี แล้วเข้าเมืองพักอยู่ที่สวนหลวง เพื่อทดสอบพระราชา รุ่งเช้าจึงออกเที่ยวภิกขาจาร
ฝ่ายพระราชา ในขณะนั้น กำลังประทับบนหลังช้างออกตรวจเมือง ทอดพระเนตรไปเห็นฤาษีแต่ไกลก็จำได้ รับสั่งให้ทหารจับฤาษีไปเฆี่ยนตีทุก ๔ แยกเมือง แล้วน้ำไปตัดศีรษะเสีย พวกทหารได้ทำเช่นนั้น ฤาษีไม่สะทกสะท้านอ้อนวอนอะไร เมื่อถูกเฆี่ยนตีทุก ๔ แยกเมือง กลับกล่าวคาถาว่า
" ได้ยินว่า คนบางพวกในโลกนี้ ได้กล่าวความจริงไว้อย่างนี้ว่า
ไม้ลอยน้ำยังดีกว่า ส่วนคนบางคนที่ประทุษร้ายมิตรไม่ดีเลย "
พวกราชบัณฑิตได้ฟังคำนั้นทุก ๔ แยก จึงถามเหตุนั้น พอฤาษีเล่าความจริงให้ฟังแล้ว เกิดความสลด จึงพากันกบฏจับพระราชาสำเร็จโทษเสียบนคอช้างนั้นเอง ทำการยกฤาษีขึ้นเป็นพระราชาแทน ฤาษีครั้นขึ้นครองราชย์แล้วต้องการทดสอบสัตว์อีก จึงไปที่อยู่ของงูและหนู สัตว์ทั้งสองได้มอบสมบัติจำนวน ๗๐ โกฏิให้พระราชา ส่วนนกแขกเต้าก็จะนำข้าวสาลีมาให้ในฤดู พระราชานำสัตว์ทั้งสามเข้าเมืองบำรุงเลี้ยงอย่างดี ครองราชโดยธรรม ประสบความร่มเย็นเป็นสุขตลอดอายุขัย
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : เกิดเป็นคนต้องรู้จักบุญคุณของคน
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม