การไว้วางใจ (วิสสาสโภชนชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้า ประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภการบริโภคปัจจัย ๔ ที่หมู่ญาติถวาย ด้วยความไว้วางใจ โดยไม่พิจารณาของหมู่ภิกษุ ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นเศรษฐีคนหนึ่ง มีสมบัติมาก ในเมืองพาราณสี เขามีโคอยู่ฝูงหนึ่ง ในฤดูทำนาได้มอบให้คนเลี้ยงโคคนหนึ่ง ต้อนฝูงโคไปตั้งคอกเลี้ยงโคอยู่ในป่า และให้นำน้ำนมโคมามอบให้ตนตามเวลา ก็แลในที่ไม่ไกลจากคอกโคนั้น มีราชสีห์ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ ด้วยความกลัวราชสีห์ ฝูงโคจึงซูบผอม น้ำนมก็ไม่เข้มข้นเหมือนเดิม
วันหนึ่ง คนเลี้ยงโค นำน้ำนมโคมามอบให้เศรษฐี ๆ เห็นแล้วจึงถามว่า
"ทำไม น้ำนมโค ถึงใส "
เขาจึงเล่าเรื่องนั้นให้เศรษฐีฟังว่า
" มีราชสีห์ตัวนั้น ติดพันแม่เนื้อตัวหนึ่งจึงไม่หนีไปไหน "
เศรษฐีจึงแนะนำว่า
" เจ้า จงจับแม่เนื้อนั้น ให้จงได้ ทายาพิษที่ขนของมัน ตั้งแต่หน้าขนผากมันขึ้นไปหลาย ๆ ครั้ง กักไว้ สัก ๒-๓ วัน แล้วค่อยปล่อยมันไป "
เขาได้ทำเช่นนั้น ราชสีห์เห็นแม่เนื้อนั้น ก็เลียตามตัวด้วยความสิเนหา ได้ถึงความสิ้นชีวิตไป
คนเลี้ยงโค ได้นำหนังของราชสีห์ไปมอบให้เศรษฐีๆ จึงกล่าวว่าขึ้นชื่อว่าความเสน่หาในพวกอื่นไม่ควรกระทำ ราชสีห์เพราะอาศัยความติดพันด้วยอำนาจกิเลส เลีียสรีระของแม่เนื้อสิ้นชีวิตแล้วกล่าวคาถานี้ว่า
" บุคคล ไม่ควรไว้วางใจ ในผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกัน
แม้ผู้ที่คุ้นเคยกันแล้ว ก็ไม่ควร ไว้วางใจ
ภัย ย่อมมีมาจากผู้ที่คุ้นเคยกัน เหมือนภัยของราชสีห์เกิดจากแม่เนื้อ "
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๑ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม