อภัยโทษ (ปัพพตูปัตถรชาดก)
ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภพระเจ้าโกศล ผู้เข้าเผ้าด้วยความลำบากใจที่มีอำมาตย์และหญิงเป็นที่รักคบชู้กัน ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า...
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอำมาตย์ทำหน้าที่สอนธรรมแก่พระเจ้าพรหมทัต ในเมืองพาราณสี ในสมัยนั้น มีอำมาตย์คนหนึ่งแอบเป็นชู้กับหญิงคนรักของพระราชา พระองค์เองก็ทรงทราบอยู่บ้าง แต่ก็ไม่อาจตัดสินพระทัยที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เพราะอำมาตย์เป็นผู้มีอุปการะคุณมาก และหญิงนั้นก็เป็นที่รักยิ่งของพระองค์
วันหนึ่งพระองค์ด้วยความโทรมนัสเป็นอย่างยิ่งจึงรับสั่งให้อำมาตย์โพธิสัตว์มาเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามปัญหาเป็นคาถาว่า
"สระโบกขรณีมีน้ำเย็นใสสะอาด รสอร่อย เกิดอยู่ที่เชิงเขาหิมพานต์ น่ารื่นรมย์ สุนัขจิ้งจอกรู้อยู่ว่าสระนั้นราชสีห์รักษาอยู่ก็ยังลงไปดื่มกิน"
พระโพธิสัตว์ทราบเรื่องนั้นอยู่แล้ว จึงกราบทูลเป็นคาถาเช่นกันว่า
"ข้าแต่มหาราช ถ้าสัตว์มีเท้าทั้งหลายพากันดื่มน้ำในมหานที แม่น้ำจะไม่ชื่อว่าเป็นแม่น้ำเพราะเหตุนั้นก็หาไม่ หากว่าคน ๒ คนนั้นเป็นที่รักของพระองค์ พระองค์ก็ทรงอภัยโทษเสียเถิด"
พระราชาทรงคลายความโทรมนัสลงไปได้บ้าง และตั้งอยู่ในโอวาทของพระโพธิสัตว์ จึงเรียกบุคคลทั้งสองเข้าเฝ้าและยกโทษให้แก่คนทั้งสอง พร้อมตรัสสอนว่า
"นับตั้งแต่นี้ไปเจ้าทั้งสองอย่าได้กระทำกรรมชัวนี้อีก"
คนทั้งสองรับคำและก็เป็นคนดีมีศีลธรรมมาตั้งแต่วันนั้นตราบเท่าชีวิต
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : คนที่ไม่มีความชั่วโดยชาติกำเนิด ควรได้รับอภัยโทษให้กลับตัวกลับใจ และอาจทำประโยชน์ให้ได้มากมาย
ที่มา : หนังสือนิทานชาดก เล่มที่ ๒ โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม