แง่ต่อไปคือจะต้องแยกหลักกรรมออกจากลัทธิผิดๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เรียกว่า ติตถายตนะ แปลว่าประชุมแห่งลัทธิเดียรถีย์ซึ่งมีอยู่ ๓ ลัทธิ
ลัทธิที่ ๑ ถือว่าบุคคลจะได้สุขก็ดี จะได้ทุกข์ก็ดี มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ดีล้วนเป็นเพราะกรรมที่ทำไว้แต่ปางก่อนทั้งสิ้นฟังให้ดีนะระวังนะจะสับสนกับพระพุทธศาสนา ลัทธินี้เรียกว่า บุพเพกตวาท
ลัทธิที่ ๒ บอกว่าบุคคลจะได้สุขก็ดี จะได้ทุกข์ก็ดีได้ไม่สุขไม่ทุกข์ก็ดีล้วนเป็นเพราะเทพผู้ยิ่งใหญ่บันดาลให้ทั้งสิ้นคือพระผู้เป็นเจ้าบันดาลให้เป็น ลัทธินี้เรียกว่าอิศวรนิรมิตวาทหรือ อิสสรนิมมานเหตุวาท
ลัทธิที่ ๓ ถือว่าบุคคลจะได้สุขก็ดี ได้ทุกข์ก็ดีได้ไม่สุขได้ไม่ทุกข์ก็ดีล้วนแต่เป็นเรื่องบังเอิญ เป็นไปเองลอยๆ แล้วแต่โชคชะตาไม่มีเหตุปัจจัยลัทธินี้เรียกว่า อเหตุวาท หลักเหล่านี้มีมาในพระคัมภีร์ทั้งนั้น
ติตถายตนะทั้ง ๓ ท่าน กล่าวไว้ทั้งในพระสูตรและในอภิธรรม ในพระอภิธรรมท่านเน้นไว้ แต่ในพระสูตรก็มีมาในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต แต่เรามักไม่เอามาพูดกันส่วนนิยาม
๕ นั้นอยู่ในคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรมซึ่งอธิบายถึงเรื่องกฎเกณฑ์ของความเป็นเหตุปัจจัยนิยาม ๕ นั้นสำหรับเอาไว้พิจารณาความเป็นเหตุปัจจัยให้รอบคอบอย่าไปเอาอะไรเข้ากรรมหมดส่วนติตถายตนะ หรือประชุมลัทธิ ๓ พวก ก็ผิดหลักพระพุทธศาสนา
๑.บุพเพกตวาทถือว่าอะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ปางก่อน
๒.อิศวรนิรมิตวาทถือว่าจะเป็นอะไรๆ ก็เพราะเทพผู้ยิ่งใหญ่บันดาลหรือพระผู้เป็นเจ้าบันดาล
๓.อเหตุวาทถือว่าสิ่งทั้งหลายอะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีเหตุปัจจัยแล้วแต่ความบังเอิญเป็นไป
ลัทธิโชคชะตา ๓ ลัทธินี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นลัทธิที่ผิด
เหตุผลคือ
เพราะมันทำให้คนไม่มีฉันทะไม่มีความเพียรที่จะทำอะไร เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นไปอย่างไม่มีหลักเกณฑ์หรือไม่ขึ้นต่อตัวการภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ ไม่ขึ้นกับการกระทำของเรา
โดยเฉพาะลัทธิที่ ๑ นั้นถือว่าอะไรๆ ก็แล้วแต่กรรมปางก่อน มันจะเป็นอย่างไรก็จะเป็นไปเราจะทำอะไรก็ไม่มีประโยชน์กรรมปางก่อนมันกำหนดไว้หมดแล้ว แล้วเราจะไปทำอะไรได้ก็ต้องปล่อยแล้วแต่มันจะเป็นไป
พระพุทธเจ้าตรัสว่าลัทธินี้เป็นลัทธิของพวกนิครนถ์ หัวหน้าชื่อว่านิครนถนาฏบุตร ให้ไปดูพระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ พระสูตรแรก เทวทหสูตร ตรัสเรื่องนี้โดยเฉพาะก่อนเลย
ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ตรัสเรื่องนี้ไว้รวมกัน ๓ ลัทธิแล้วแต่ในเทวทหสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ มัชฌิมนิกายอุปริปัณณาสก์ก็ตรัสเฉพาะเรื่องลัทธิที่ ๑ ไม่ตรัสลัทธิอื่นเลย
ลัทธินิครนถ์นี้ถือว่าอะไรๆ ก็เป็นเพราะกรรมที่ทำไว้ในชาติก่อน เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำให้สิ้นกรรมโดยไม่ทำกรรมใหม่และเผากรรมเก่าให้หมดสิ้นไปด้วยการบำเพ็ญตบะ ลัทธินี้ต้องแยกให้ดีจากพุทธศาสนาต้องระวังตัวเราเองด้วยว่าจะผลุนผลันตกลงไปใน ๓ ลัทธินี้ โดยเฉพาะลัทธิกรรมเก่าที่ถือว่าแล้วแต่กรรมเก่าเท่านั้นคำว่า กรรมนี้เป็นคำกลางๆ เป็นอดีตก็ได้
ปัจจุบันก็ได้ อนาคตก็ได้ พุทธศาสนาเน้นปัจจุบันมากกรรมเก่าไม่ใช่ไม่มีผล มีผลสำคัญ แต่มันเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดผลในปัจจุบันซึ่งเราจะต้องทำกรรมที่ดี และแก้ไขปรับปรุงตัวเพื่อให้เกิดผลที่ดีต่อไปภายหน้านี่พูดกันทั่วๆไป
โดยหลักการก็คือต้องพยายามแยกให้ถูกต้องมี ๓ ลัทธินี้ที่จะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนเป็นเบื้องต้น
|
|