ความหมายของคำว่า กุศล ก็ให้เข้าใจตามลักษณะที่ว่ามานี้ ส่วนที่เป็นอกุศลก็ตรงกันข้าม ดังได้ยกตัวอย่างไปแล้ว เช่นเมื่อเมตตาเกิดขึ้นในใจเป็นอย่างไร โทสะเกิดขึ้นเป็นอย่างไร ลักษณะก็จะผิดกันให้เห็นชัดๆว่าผลมันเกิดทันที อย่างที่เรียกว่า เป็นสันทิฏฐิโก เห็นเอง เห็นทันตา คำที่เนื่องกันอยู่ กับคำว่า "กุศล" และ "อกุศล" ก็คือคำว่า "บุญ" และ "บาป"
บุญกับกุศล และ บาปกับอกุศล ต่างกันอย่างไร ?
ในที่หลายแห่งใช้แทนกันได้ อย่างในพุทธพจน์ที่ตรัสถึงเรื่อง ปธาน คือความเพียร ๔ ก็จะตรัสคำว่า "อกุศล" กับคำว่า "บาป" ไปด้วยกัน อยู่ในประโยคเดียวกัน
คือเป็นข้อความที่ช่วยขยายความซึ่งกันและกัน เช่นว่า....
ภิกษุยังฉันทะให้เกิดขึ้น ระดมความเพียร เพื่อปิดกั้นบาปอกุศลธรรม ซึ่งยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้นนี้เรียกว่า สังวรปธานแสดงให้เห็นว่า บาปกับอกุศลมาด้วยกัน แต่สำหรับบุญกับกุศล ท่านบอกว่า มันมีความกว้างแคบกว่ากันอยู่หน่อย คือกุศลนั้น ใช้ได้ทั้งโลกียะ และ โลกุตตระ เป็นคำกลางๆ และเป็นคำที่ใช้ในทางหลักวิชาการมากกว่า บางทีก็ระบุว่า โลกิยกุศล โลกุตตรกุศล แต่ถ้าพูดเป็นกลางๆ จะเป็นโลกิยะก็ได้ เป็นโลกุตตระก็ได้
ส่วนคำว่า บุญ นั้น นิยมใช้ในระดับโลกิยะ แต่ก็ไม่เสมอไป มีบางแห่งเหมือนกันที่ท่านใช้ในระดับโลกุตตระ อย่างที่แยกเรียกว่า โอปธิกปุญญะ แปลว่าบุญที่เนื่องด้วยอุปธิและ อโนปธิก ปุญญะ ไม่เนื่องด้วยอุปธิ เป็นต้น หรือบางทีใช้ตรงๆว่า โลกุตตรปุญญะบุญในระดับโลกุตตระ แต่โดยทั่วไปแล้ว บุญใช้ในระดับโลกิยะ ส่วนกุศล เป็นคำกลางๆ ใช้ได้ทั้งโลกิยะและโลกุตตระ นี่เป็นความกว้างแคบกว่ากันนิดหน่อย ระหว่างบุญกับกุศลในแง่รูปศัพท์ ซึ่งก็อาจเอาไปช่วยประกอบเวลาอธิบายเรื่องกรรมได้ แต่เป็นเรื่องเกร็ดไม่ใช่เป็นตัวหลักแท้ๆ
บุญ นัยหนึ่งแปลว่า เป็นเครื่องชำระสันดาน เป็นเครื่องชำระล้างทำให้จิตใจสะอาด ในเวลาที่เป็นเครื่องชำระสันดาน เป็นเครื่องชำระล้างทำให้จิตใจสะอาด ในเวลาที่สิ่งซึ่งเป็นบุญเกิดขึ้นในใจ
เช่น มีเมตตาเกิดขึ้น ก็ชำระจิตใจ ให้สะอาดบริสุทธิ์หรือศรัทธาเกิดขึ้น จิตใจก็ผ่องใส ทำให้หายเศร้าหมอง หายสกปรกความหมายต่อไป
พวกนักวิเคราะห์ศัพท์ แปลบุญว่า นำมาซึ่งการบูชา หรือทำให้เป็นผู้ควรบูชา คือใครก็ตามที่สั่งสมบุญไว้ สั่งสมความดี เช่น สั่งสมศรัทธา เมตตา กรุณา มุทิตา ผู้นั้นก็มีแต่คุณธรรมมากมาย ซึ่งทำให้เป็นผู้ควรบูชา
ฉะนั้น ความหมายหนึ่งของบุญก็คือ ทำให้เป็นคนน่าบูชา และอีกความหมายหนึ่งก็คือ ทำให้เกิดผลที่น่าชื่นชม เพราะว่าเมื่อเกิดบุญแล้ว ก็มีวิบากที่ดีงามน่าชื่นชม จึงเรียกว่ามีผลอันน่าชื่นชม ใกล้กับพุทธพจน์ที่ว่า "สุขสฺเสตํ อธิวจนํ ยยิทํ ปุญฺญานิ" ซึ่งแปลว่า ภิกษุทั้งหลาย คำว่า บุญ นี้ เป็นชื่อของความสุขเมื่อบุญเกิดขึ้นในใจแล้ว จิตใจก็สบายมีความเอิบอิ่มผ่องใส บุญก็จึงเป็นชื่อของความสุขนี้เป็นอย่างๆ ที่อธิบายเกี่ยวกับเรื่องบุญ ส่วนบาปนั้นตรงกันข้าม
บาปนั้น โดยตัวอักษร หรือโดยพยัญชนะแปลว่า สภาวะที่ทำให้ถึงทุคติ หรือทำให้ไปในที่ชั่ว หมายถึงสิ่งที่ทำให้จิตตกต่ำพอบาปเกิดขึ้น ความคิดไม่ดีเกิดขึ้น โทสะ โลภะ เกิดขึ้น จิตก็ตกต่ำลงไป และนำไปสู่ทุคติด้วย และท่านยังให้ความหมายโดยพยัญชนะอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่คนดี พากันรักษาตน ให้ปราศจากไป หมายความว่า คนดีทั้งหลายจะรักษาตนเองให้พ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ จึงเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นบาป เป็นสิ่งที่คนดีละทิ้ง พยายามหลีกหลบเลี่ยงหนี ไม่อยากเกี่ยวข้องด้วย นี่เป็นความหมายประกอบ ซึ่งอาจจะเอาไปใช้อธิบายเป็นเกร็ดได้ ไม่ใช่ตัวหลักแท้ๆ เอามาพูดรวมไว้ด้วยในแง่ต่างๆ ที่เราจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง "กรรม"
|
|