ค้นหาในเว็บไซต์ :

กรรม

  หั ว ข้ อ เ รื่ อ ง ที่ ๑๓ : หลักกรรมสำหรับคนสมัยใหม่ ( ๘ )
  โ ด ย : พระธรรมปิฎก ( ป.อ.ปยุตฺโต )

     "...แม้แต่สังคมมนุษย์ที่จะเป็นไปอย่างไร ก็เริ่มมาจากมโนกรรม อย่างที่ปัจจุบันนี้ ชอบเรียกว่า ค่านิยม
 
   สังคมมีค่านิยมอย่างไร ก็จะชักนำลักษณะการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในสังคมนั้นให้เป็นอย่างนั้นยกตัวอย่างเช่น คนในสังคมหนึ่ง ถือว่าถ้าเรารักษาระเบียบวินัยได้เคร่งครัด ก็เป็นคนเก่ง ความเก่งกล้าสามารถ อยู่ที่ทำได้ตามระเบียบแบบแผนการนิยมความเก่งในแง่นี้ ก็เรียกว่า เป็นค่านิยม ที่จะรักษาระเบียบ คนพวกนี้ก็จะพยายามรักษาระเบียบวินัยให้ เคร่งครัดจนอาจทำให้ประเทศนั้น สังคมนั้นมีระเบียบวินัยดี ส่วนในอีกสังคมหนึ่งคนอาจจะมองอีกอย่างหนึ่ง มีค่านิยมอีกแบบหนึ่ง โดยมีความชื่นชมว่า ใครไม่ต้องทำตามระเบียบได้ ใครฝืนระเบียบได้ ใครมีอภิสิทธิ์ ไม่ต้องทำตามกฎหมายได้ เป็นคนเก่งในสังคมแบบนี้ คนก็จะไม่มีระเบียบวินัย เพราะถือว่า ใครไม่ต้องทำตามระเบียบได้ คนนั้นเก่งขอให้ลองคิดดูว่าสังคมของเรา เป็นสังคมแบบไหน มีค่านิยมอย่างไร นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ความใฝ่ ความชอบ อะไรต่างๆ ที่อยู่ในใจ เป็นตัวนำเป็นเครื่องกำหนดวิถีชีวิตของบุคคล และเป็นเครื่องชี้นำชะตากรรมของสังคม

สังคมใดมีค่านิยมที่ดีงาม เอื้อต่อการพัฒนา สังคมนั้นก็มีทางที่จะพัฒนาไปได้ดี สังคมใดมีค่านิยมต่ำทราม ขัดถ่วงการพัฒนา สังคมนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเสื่อมโทรมพัฒนาได้ยากจะประสบปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอย่างมากมาย
 
   ถ้าจะพัฒนาสังคมนี้ให้ก้าวหน้า ถ้าต้องการให้สังคมเจริญพัฒนาไปได้ดี ก็จะต้องแก้ค่านิยมที่ผิดพลาดให้ได้ และต้องสร้างค่านิยมที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นด้วย เรื่องค่านิยมนี้เป็นตัวอย่างเด่นชัดอย่างหนึ่งของ มโนกรรม มโนกรรม เป็นสิ่งสำคัญมาก มีผลระยะยาวลึกซึ้งและกว้างไกล ครอบคลุมไปทั้งหมด พระพุทธศาสนาถือว่า ค่านิยมนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก และมองที่จิตใจเป็นจุดเริ่มต้น เพราะฉะนั้น ในการพิจารณาเรื่องกรรม จะต้องให้เข้าใจถึงหลักการของพระพุทธศาสนา ที่ถือว่า มโนกรรมสำคัญที่สุด และให้เห็นว่าสำคัญอย่างไร นี้คือจุดที่หนึ่ง"






จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย