องค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร

องค์ที่ ๘ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ วัดบวรนิเวศวิหาร
ทรงดำรงตำแหน่ง   พ.ศ. ๒๓๙๖ – ๒๔๓๕ ในรัชกาลที่ ๔-๕ รวมเป็นเวลา ๓๙ ปี
พระนามเดิม พระองค์เจ้าฤกษ์
พระฉายา ปญฺญาอคฺคโต
นามสกุล -
พระชนก กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
พระชนนี เจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก
ประสูติ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จ.ศ. ๑๑๗๑ ตรงกับวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๒ ในรัชกาลที่ ๒
ทรงอุปสมบท -
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. ๒๓๙๖ ในรัชกาลที่ ๔
สิ้นพระชนม์ วันพฤหัสบดี ที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕ สิริรวมพระชนมายุ ๘๓ ปี

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับมหาสมณุตมาภิเษก เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๓๔ เมื่อพระชนมายุได้ ๘๒ พรรษา เป็นพระมหาสมณเจ้า ฯ ได้ ๑๐ เดือน ก็สิ้นพระชนมเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ พระชมมายุได้ ๘๓ พรรษา

เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใด ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช อีกจนตลอดรัชกาล เป็นเวลา ๑๕ ปี ในระหว่างนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศ ฯ ทรงดำรงพระอิศริยยศ เป็น พระจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ทรงดำรงสมณฐานันดร เป็นที่สองรองจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ขึ้นครองราชย์ ก็ยังมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นระยะเวลาถึง ๒๓ ปี จึงได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศฯ ขณะดำรงพระอิศริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระ เป็นสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ประสูติปี พ.ศ. ๒๓๕๒ เมื่อพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา ได้ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุ ฯ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๒ ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ณ สำนักวัดมหาธาตุ ฯ ทรงแตกฉานในภาษาบาลี พระนิพนธ์ที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในภาษาบาลีคือ พระนิพนธ์เรื่อง สุคตวิทัตถิวิธาน ซึ่งทรงนิพนธ์เป็นภาษาบาลี นอกจากนี้ยังได้ทรงนิพนธ์เรื่องเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ เป็นภาษาบาลีอีกหลายเรื่อง นับว่าพระองค์ทรงเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลี ที่สำคัญพระองค์หนึ่ง ทรงเป็นพระราชาคณะ มีสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะสามัญ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ

เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ทรงสถาปนา พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าฤกษ์ เป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ทรงอิศริยยศเป็นประธานาธิบดีแห่งพระสงฆ์ธรรมยุตินิกาย นับว่าทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติพระองค์แรก ทรงดำรงสมณฐานันดรเป็นที่สอง รองจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จ พระมหาสังฆปรินายก คือ สมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๖ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ซึ่งในปีเดียวกันนี้ ทรงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงเธอกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ การที่เลื่อนพระอิศริยยศครั้งนี้ แม้ว่าพระองค์จะไม่ทรงรับถวาย มหาสมณุตมาภิเษกในที่สมเด็จพระสังฆราช แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ก็ถวายพระเกียรติยศในทางสมณศักดิ์สูงสุด เท่ากับทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงรับถวายมหาสมณุตมาภิเษก ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ เมื่อพระชนมายุได้ ๘๒ พรรษา ด้วยเหตุผลที่ว่า เจ้านายชั้นเดียวกันสิ้นพระชนม์แล้วทั้งสิ้น มีเจ้านายผู้ใหญ่เจริญพระชนมายุเหลืออยู่แต่พระองค์เพียงพระองค์เดียว

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ฯ นอกจากจะเป็นปราชญ์ทางภาษาบาลีแล้ว ยังทรงมีพระปรีชาสามารถ ในด้านต่าง ๆ พอประมวลได้ดังนี้ คือ

- ด้านสถาปัตยกรรม ทรง ออกแบบพระปฐมเจดีย์ องค์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖ - ด้านโบราณคดี ทรงเป็นนักอ่านศิลาจารึกรุ่นแรกของไทยได้ศึกษาและรวบรวมจารึกต่าง ๆ ในประเทศไทยไว้มาก และได้ ทรงอ่านจารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ ที่เป็นอักษรขอม เป็นพระองค์แรก
- ด้านประวัติศาสตร์ ทรงนิพนธ์ลิลิตพงศาวดารเหนือ เรื่องพระปฐมเจดีย์ และพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ เป็นต้น
- ด้านดาราศาสตร์ ทรงพระนิพนธ์ ตำราปักขคณนา (คำนวนปฏิทินทางจันทรคติ) ไว้อย่างพิสดาร
- ด้านวิทยาศาสตร์ ทรงบันทึกจำนวนฝนตกเป็นรายวัน ติดต่อกันเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๘๙ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๓ เพื่อเป็นการเก็บสถิติน้ำฝนในประเทศไทย เรียกบันทึกนี้ว่า จดหมายเหตุบัญชีน้ำฝน
- ด้านกวี ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาบาลี ไว้เป็นจำนวนมาก ที่เป็นภาษาไทย ทรงนิพนธ์ไว้จำนวนมาก เช่น ได้ลงพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ กาพย์เสด็จนครศรีธรรมราช ลิลิตพงศาวดารเหนือ เป็นต้น

ทรงให้กำเนิดพระกริ่งในประเทศไทย ทรงสร้างพระกริ่งที่เรียกกันว่า พระกริ่งปวเรศ ซึ่งเป็นต้นแบบของพระกริ่ง ในยุคต่อมาของไทย

ด้านพระศาสนา ทรงเป็นองค์ประธานชำระและแปลพระไตรปิฎก พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ทรงกำหนดพระราชบัญญัติ และประกาศคณะสงฆ์ต่าง ๆ





จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย