องค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ป.ธ.๙) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม

องค์ที่ ๙ สมเด็จพระสังฆราช (สา ป.ธ.๙) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
ทรงดำรงตำแหน่ง   พ.ศ. ๒๔๓๖ – ๒๔๔๒ ในรัชกาลที่ ๕ รวมเป็นเวลา ๖ ปี
พระนามเดิม สา
พระฉายา ปุสฺสเทโว
นามสกุล -
พระชนก จัน เป็นชาวตำบลบางเชิงกราน จังหวัดราชบุรี
พระชนนี ศุข เป็นชาวตำบลไผ่ใหญ่ แขวง เมืองนนทบุรี
ประสูติ วันพฤหัสบดีที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๕๖ ในรัชกาลที่ ๒
ทรงอุปสมบท ครั้งที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๗๖ และได้ลา สิกขา ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๙๔ เมื่อ ผนวชครั้งใหม่ได้ ๗ พรรษา ก็ทรง สอบได้ ๙ ประโยค อีกครั้งหนึ่ง (คนจึงมักพูดว่า สมเด็จพระ สังฆราชสา ๑๘ ประโยค)
ดำรงตำแหน่ง วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๓๖
สิ้นพระชนม์ วันที่ ๑๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๒ สิริรวมพระชนมายุ ๘๗ ปี

สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดราชประดิษฐ์ สถิตมหาสีมาราม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๒ รวม ๖ พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ ๘๗ พรรษา

พระองค์เป็นชาวตำบลบางไผ่ จังหวัดนนทบุรี ประสูติเมื่อปีพ.ศ.๒๓๕๖ ในรัชสมัยพระบาท สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้บรรพชาเป็นสามเณรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เดิมอยู่วัดใหม่บางขุนเทียนแล้วย้ายไปอยู่วัดสังเวชวิศยารามและไปเรียนพระปริยัติธรรมในพระราชวังบวรกับอาจารย์อ่อนและ โยมบิดาของท่านเองซึ่งเป็นอาจารย์บอกหนังสือ อยู่ที่พระราชวังบวรดัวยกัน เมื่อพระชนมายุได้ ๑๔ ปี ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมเป็นครั้งแรก แปลได้ ๒ ประโยคจึงยังไม่ได้เป็นเปรียญ แต่คนเรียกกันว่า เปรียญวังหน้า ซึ่งมีที่มาของชื่อนี้ว่าในการแปลพระปริยัติธรรมนั้นผู้เข้าแปลครั้งแรกต้องแปลให้ได้ครบ ๓ ประโยคในคราวเดียวจึงจะนับว่าเป็นเปรียญถ้าได้ไม่ครบในการสอบครั้งต่อไปจะต้องเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด ครั้งนั้นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ มีพระประสงค์ที่จะอุปการะภิกษุสามเณรที่เข้าสอบ มิให้ท้อถอย ดังนั้นถ้ารูปใดแปลได้ ๒ ประโยค ก็ทรงรับอุปการะไปจนกว่าจะสอบเข้าแปลใหม่ ได้เป็นเปรียญ ๓ ประโยค ภิกษุ สามเณร ที่ได้รับพระราชทานอุปการะในเกณฑ์ดังกล่าว จึงได้ชื่อว่า เปรียญวังหน้า

พระองค์ได้เข้าถวายตัวเป็นศิษย์อยู่ในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ตั้งแต่เป็น สามเณร และได้ ศึกษาพระปริยัติธรรมต่อที่สำนักวัดราชาธิวาส จนพระชนมายุได้ ๑๘ ปี จึงได้เข้าแปลพระปริยัติธรรม อีกครั้งหนึ่งและทรงแปลได้หมดทั้ง ๙ ประโยคได้เป็นเปรียญเอกตั้งแต่ยังทรงเป็นสามเณรนับเป็นสามเณร องค์แรกที่ได้เป็นเปรียญ ๙ ประโยค ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

พระองค์ได้อุปสมบท ณ วัดราชาธิวาส เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๖ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙ ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ มาอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ฯ ทรงได้รับพระราชทาน แต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระอมรโมลีเมื่อปีพ.ศ.๒๓๘๒ พรรษา ๖ และทรงอยู่ในฐานะพระเถระผู้ใหญ่ผู้เป็นต้นวงศ์ของคณะธรรมยุติรูปหนึ่งใน ๑๐ รูป ต่อมาได้ลาสิกขาไปเป็นฆราวาสอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อุปสมบทใหม่ ที่วัดบวรนิเวศ ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ พระชนมายุได้ ๓๘ ปี เมื่ออุปสมบทแล้ว ว่ากันว่าได้ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้งหนึ่งและทรงแปลได้หมดทั้ง ๙ ประโยคจึงมีผู้กล่าวถึงพระองค์ ด้วยสมญานามว่า สังฆราช ๑๘ ประโยค ในคราวอุปสมบทครั้งที่ ๒ นี้ พระองค์ทรงเป็นพระอันดับอยู่ ๗ ปี จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๑ รับประราชทานนิตยภัตรเสมอพระราชาคณะชั้นเทพ แต่ถือตาลปัตรแฉกเสมอพระราชาคณะชั้นสามัญ คนทั่วไปเรียกกันโดยย่อว่า เจ้าคุณสา

พระองค์ได้แต่งหนังสือเทศน์ขึ้นไว้สำหรับใช้อ่านในวันธรรมสวนะปกติและในวันบูชาแต่งเรื่องปฐมสมโพธิ์ย่อ ๓ กัณฑ์จบสำหรับถวายเทศน์ในวันวิสาขบูชา๓วันๆ ละหนึ่งกัณฑ์และเรื่องจาตุรงคสันนิบาตกับ โอวาทปาติโมกข์สำหรับถวายในวันมาฆบูชาที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามและยังได้รจนาปฐมสมโพธิ์ภาคพิสดารสำหรับใช้เทศนาในวัด ๒ คืนจบอีกด้วยพระนิพนธ์ต่างๆของพระองค์ยังคงใช้ในการเทศนาและศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุ สามเณร จนถึงปัจจุบัน

เมื่อสร้างวัดราชประดิษฐ์ ฯ เสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้อาราธนาพระองค์ ครั้งยังเป็นที่พระสาสนโสภณ จากวัดบวรนิเวศ ฯ มาครองวัดราชประดิษฐ์ ฯ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก และได้รับพระราชทานตาลปัตรแฉกพื้นแพรเสมอชั้นธรรม และเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ได้โปรดเกล้าฯสถาปนาเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่ พระธรรมวโรดม แต่คงใช้ราชทินนามเดิมว่า พระสาสนโสภณ ที่พระธรรมวโรดม ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๒ ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะฝ่ายเหนือ

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งแต่เดิมจารึกไว้ด้วย อักษรขอม ด้วยการจารลงในใบลาน การคัดลอกทำได้ช้า ทำให้ไม่เป็นที่แพร่หลาย ไม่พอใช้ในการศึกษาเล่าเรียนไม่สะดวกในการเก็บรักษาและนำมาใช้อ่านทั้งตัวอักษรขอมก็มีผู้อ่านได้น้อยลง ตามลำดับ การพิมพ์พระไตรปิฎก เป็นเล่มด้วยตัวอักษรไทย จะแก้ปัญหาข้อขัดข้องดังกล่าวได้ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้อาราธนาพระเถระนุเถระมาประชุม ร่วมกับราชบัณฑิตทั้งหลาย ตรวจชำระพระไตรปิฎกแล้วจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือขึ้นสมเด็จพระสังฆราช(สา)ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ร่วมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระยศกรมหมื่นเป็นรองอธิบดี จัดการทั้งปวงในการสังคายนาครั้งนี้ พระไตรปิฎกที่จัดพิมพ์ครั้งนี้มีจำนวน ๑๐๐๐ จบ ๆ ละ ๓๙ เล่ม ใช้เงิน ๒๐๐๐ ชั่ง พิมพ์เสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ เป็นที่เลื่องลือแพร่หลายไปทั่วโลก

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ สถาปนาเพิ่มอิสริยยศให้เป็น พิเศษกว่าสมเด็จพระราชาคณะแต่ก่อนมา คือทรงสถาปนาให้เป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ นับว่าเป็นพระมหาเถระรูปที่ ๒ ที่ได้รับสถาปนาในพระราชทินนามนี้ อันเป็นพระราชทินนามสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

เมื่อพระองค์ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖ พระองค์ไม่ได้รับพระราชนามพระสุพรรณบัตรใหม่ คงใช้พระสุพรรณบัตรเดิม แต่ได้รับพระราชทานใบกำกับ พระสุพรรณบัตรใหม่

งานพระนิพนธ์ของพระองค์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นงานแปลพระสูตรที่มีอยู่ ๒๐ สูตร หนังสือเทศนามี ๗๐ กัณฑ์ และเบ็ดเตล็ดมี ๕ เรื่อง

พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกเลยตลอดรัชสมัย เป็นเวลาถึง ๑๑ ปี





จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย