อภัยทาน
ทีนี้ก็มาถึงทานอย่างที่สอง เรียกว่า อภัยทาน แม้สิ่งที่เรียกว่า“ อภัยทาน ”นี้ ก็ต้องมีปฏิคาหก มีผู้รับเหมือนกัน อภัยทาน หมายถึง ให้อภัย คำว่า อภัย นี้แปลว่า ไม่ต้องกลัว ให้อภัย คือเราให้ความไม่ต้องกลัวแก่บุคคลนั้น แปลว่า บุคคลนั้นไม่ต้องกลัวเรา นี่คือให้อภัย ทีนี้บางคนอาจจะคิดว่า นี้มันไม่ใช่ให้ทาน.... นี่มันไม่รู้ เขาพูดไปทั้งที่ไม่รู้การให้อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทาน แต่เขาเรียกว่า “ อภัยทาน ”เป็นสิ่งที่ให้กันได้ ให้ได้ทั้งทางกาย ให้ได้ทั้งทางวาจา ให้ได้ทั้งทางจิตใจ ทางร่างกาย เขามาขอขมาขออภัยเราก็รับ ทางวาจา บอกอโหสิกรรม ทางจิตใจ เราก็สลัดความโกรธ ความอาฆาตจองเวรอย่างนี้ก็เรียกว่า“ อภัยทาน ” ทั้งนั้นมีได้ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ
ทีนี้แยกประเภทให้เห็นชัดว่าอภัยทานนี้ อย่างน้อยก็มีอยู่สัก ๓ อย่าง อภัยทานอย่างแรกคือ การให้อภัยโทษ ให้ขมาโทษ คือยอมรับการขมาโทษ เรียกว่า ให้อภัยโทษ รับการขอขมานี่ เข้าใจกันดีแล้วไม่ต้องอธิบายก็ได้ อย่างที่สอง เราไม่เบียดเบียน ไม่ประทุษร้ายใครนั่นแหละ คือให้อภัยทานเหมือนกัน เราจงเป็นอยู่อย่างไม่เบียดเบียน อย่างไม่ประทุษร้ายใคร ที่เขาเรียกกันว่า “ศีล” ศีล นั่นแหละคือ อภัยทาน เราไม่ประทุษร้าย ไม่เบียดเบียนแก่ชีวิตแก่ร่างกาย หรือแก่น้ำใจ ไม่เบียดเบียนเนื้อตัวของเขา ไม่เบียดเบียนจิตใจของเขา ไม่ทำลายชีวิตของเขาทุกระดับ นับตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานขึ้นมา จนถึงมนุษย์ จนกระทั่งเทวดา หรือพรหมอะไร ถ้ามันจะมี แปลว่าสิ่งที่มีชีวิต มีความรู้สึกนึกคิดแล้ว เราไม่เบียดเบียนให้เขารู้สึกกระทบกระทั่งเป็นทุกข์นี้เรียกว่า ให้ความไม่เบียดเบียน ความไม่ประทุษร้าย อย่างที่สาม แผ่เมตตาจิตอยู่เป็นปกติ ทุกวัน ทุกคืน ทุกลมหายใจเข้าออก นี้ก็คือ อภัยทาน นึกดูแล้วก็น่ารวย ในข้อที่ว่าอภัยทานนี้ไม่ต้องลงทุนสักสตางค์หนึ่งก็ได้ ต้องเสียหลายแสนนะ แต่ว่าทำอภัยทานนี้ ไม่ต้องให้สตางค์สักสตางค์หนึ่งก็ทำได้ แล้วยังจะมีผลสูงกว่าเสียด้วย
อนึ่ง ขอให้รู้ไว้ว่า อภัยทานนี่มันทำยากกว่าที่จะให้วัตถุ เพราะมันเป็นเรื่องจิตใจมากขึ้นไปอีก คนถือตัว ใครมาขอขมาก็ไม่ยอมให้ แถมทำผู้อื่นเดือดร้อนอยู่เรื่อย ไม่รักผู้อื่น ไม่เห็นใจผู้อื่น นี่เรียกว่า ไม่มีอภัยทาน ขอให้ตัดสินใจแน่ลงไปว่า เรานี้ตั้งแต่วันนี้ไป จะสะสางเรื่องอภัยทานนี้ให้เป็นชิ้นเป็นอัน สำหรับวัตถุทานก็ทำมามากแล้ว แต่เรื่องอภัยทานนี้ดูยังโหรงเหรง นี่ขอให้ไปชำระสะสาง คือทำให้มันมีขึ้น ให้มันครบถ้วน ให้มันถูกต้องว่า
๑. ให้อภัยโทษ ยอมรับขมา
๒. ไม่เบียดเบียน ไม่กระทบกระทั่ง ไม่ประทุษร้ายใครหมด
๓. อยู่ด้วยจิตที่แผ่เมตตา ทั้งกลางวัน กลางคืน
ทั้งหมดนี้ ก็เป็นอภัยทาน เป็นทานอย่างที่สอง
- พุทธทาสภิกขุ -