สมาธิภาวนา |
ย่อความจากพระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก
เล่ม 21 ขุททกนิกาย
มหานิทเทส สาริปุตตสุตตนิทเทส
ในพระสูตรนี้ ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าเอาไว้ ดังนี้
[๘๘๑] ...
[๘๘๙] ...... พระผู้มีพระภาคย่อมทรงทราบว่า บุคคลนี้เป็นราคจริต บุคคลนี้เป็นโทสจริต บุคคลนี้เป็นโมหจริต บุคคลนี้เป็นวิตักกจริต บุคคลนี้เป็นศรัทธาจริต บุคคลนี้เป็นญาณจริต.
พระผู้มีพระภาคย่อมตรัสบอกอสุภกถาแก่บุคคลผู้เป็นราคจริต. ย่อมตรัสบอกเมตตาภาวนาแก่บุคคลผู้เป็นโทสจริต. ทรงแนะนำบุคคลผู้เป็นโมหจริตให้ตั้งอยู่ในการเรียน ในการไต่ถาม ในการฟังธรรมตามกาลอันควร ในการสนทนาธรรมตามกาลอันควร ในการอยู่ร่วมกับครู. ย่อมตรัสบอกอานาปานสติแก่บุคคลผู้เป็นวิตักกจริต. ย่อมตรัสบอกพระสูตรอันเป็นนิมิตดี ความตรัสรู้ดีแห่งพระพุทธเจ้า ความเป็นธรรมดีแห่งพระธรรม ความปฏิบัติดีแห่งพระสงฆ์ และศีลทั้งหลายของตน อันเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส แก่บุคคลผู้เป็นศรัทธาจริต. ย่อมตรัสบอกธรรมอันเป็นนิมิตแห่งวิปัสสนา ซึ่งมีอาการไม่เที่ยง มีอาการเป็นทุกข์ มีอาการเป็นอนัตตา แก่บุคคลผู้เป็นญาณจริต.
วิเคราะห์/เพิ่มเติม
1.) การเจริญสมถกรรมฐานนั้นมีหลายวิธี
ในพระพุทธศาสนานั้นได้รวบรวมเอาไว้ได้ถึง 40 วิธี (ขอให้ดูรายละเอียดในเรื่องสมาธิ
40 วิธี ในหมวดสมถกรรมฐาน (สมาธิ) ประกอบ) ซึ่งกรรมฐานแต่ละชนิดนั้นก็เหมาะสมกับแต่ละบุคคลแตกต่างกันไป
ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับจริต พื้นฐาน ประสบการณ์ สิ่งแวดล้อม เวลา โอกาส
และบุญบารมีที่เคยสั่งสมมาของแต่ละคน การเจริญกรรมฐานที่เหมาะสมกับตน
ย่อมมีความเจริญก้าวหน้าได้รวดเร็วกว่ากรรมฐานชนิดอื่น
2.) ผู้เป็นราคจริตนั้น เป็นผู้ที่มีกิเลสหนักไปทางด้านราคะ คือความเพลิดเพลินยินดี
ซึ่งเป็นโลภะชนิดหนึ่ง พระพุทธเจ้าจึงทรงให้กรรมฐานที่เป็นปฏิปักษ์กัน
คืออสุภกรรมฐาน คือให้พิจารณาถึงความไม่สวยไม่งาม เป็นของเน่าเหม็น
น่ารังเกียจของสิ่งต่างๆ ตลอดไปจนถึงซากศพ ซึ่งเป็นสภาพที่จะต้องเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตทั้งหลายในอนาคต
อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อลดกิเลสด้านนี้ลงไป
3.) ผู้เป็นโทสจริตนั้น เป็นผู้ที่มีจิตใจเร่าร้อน มักโกรธ ขัดเคืองใจได้ง่าย
พระพุทธเจ้าจึงทรงให้เจริญเมตตาภาวนา คือการแผ่เมตตา ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข
ออกไปในทิศต่างๆ อย่างไม่มีประมาณ ซึ่งเป็นสภาวจิตที่ตรงข้ามกับโทสะ
เพื่อปรับพื้นฐานจิตให้เย็นขึ้น
ผู้เป็นวิตักกจริตนั้น จิตใจมักซัดส่ายไปมาอยู่เสมอ จึงทรงให้อานาปานสติ
คือให้ใช้ลมหายใจเป็นเครื่องยึดจิตเอาไว้ ไม่ให้ซัดส่าย
ที่กล่าวถึงในพระสูตรนี้ เป็นการให้กรรมฐานตามจริต แต่ความเหมาะสมของกรรมฐานสำหรับแต่ละบุคคลนั้น
นอกจากเรื่องของจริตแล้ว ก็ยังมีเหตุปัจจัยในด้านอื่นๆ อีก ดังที่กล่าวแล้วในข้อ
1. ดังนั้น ชนิดของกรรมฐานจึงมีมากกว่าที่กล่าวถึงในพระสูตรนี้