...ถูกชมคือธรรมดา ถูกด่าก็ไม่เลว...


ถูกชมคือธรรมดา ถูกด่าก็ไม่เลว


โดย ท่าน ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย


หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าว “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว” กันมาบ้างแล้ว
คำกล่าวนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของจิต
หรืออีกนัยหนึ่งของความคิดได้เป็นอย่างดีว่า
จิตกำหนดวัตถุ หรือกายเป็นไปตามอำนาจของจิต
ผู้รู้ท่านหนึ่งเคยกล่าวถึงความสำคัญของจิต หรือความคิดไว้ว่า


“เธอจงระวังความคิด เพราะความคิดจะกลายเป็นการกระทำ

เธอจงระวังการกระทำ เพราะการกระทำจะกลายเป็นนิสัย

เธอจงระวังนิสัย เพราะนิสัยจะกลายเป็นบุคลิก

เธอจงระวังบุคลิก เพราะบุคลิกจะกำหนดชะตากรรมของเธอ”


ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่า
เรามีความคิดหรือวิธีคิดอย่างไร
ในทางพุทธศาสนานั้น ท่านให้ความสำคัญกับวิธีคิดเป็นอันมาก
พระนักปราชญ์ท่านหนึ่งได้ประมวลวิธีคิดในพุทธศาสนาไว้ว่ามีมากกว่า ๑๐ วิธี


วิธีคิดอย่างหนึ่ง ซึ่งเราควรนำมาปรับใช้ในชีวิตก็คือ วิธีคิดเชิงบวก


วิธีคิดเชิงบวก หมายถึง การรู้จักเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อสิ่งต่างๆ
ซึ่งโดยมากมักแสดงตัวให้เราได้สัมผัสในแง่ลบ
แต่พอเราพลิกมุมมองใหม่ เราจะได้อะไรดีๆ จากเรื่องลบๆ เหล่านั้น
เช่น ในชีวิตจริงของผู้เขียนซึ่งทำงานกับคนหมู่มาก
มักจะพบกับคำชมและคำด่าอยู่เสมอ ๆ
เมื่อแรกเผชิญกับคำชม ผู้เขียนก็ฟู ครั้นพบกับคำด่าก็แฟบ
แต่เมื่อเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อคำชมและคำด่า
ก็รู้สึกว่า ได้คุณค่าจากคำด่าคำชมเป็นอันมาก


คำชมนั้น สำหรับคนที่ไม่คิดอะไรมาก
ดูเหมือนว่า ไม่ลำบากใจเลยที่จะน้อมรับ
แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว คำชมนั่นแหละคืออันตรายยิ่งกว่าคำด่า
เพราะหากเรารู้ไม่ทัน คำชมจะทำให้เราหลงตัวเองและมีโอกาสลืมตัวสูง
ส่วนคำด่า ถ้าพิจารณาไม่ดีก็ทำให้เราเสียศูนย์ได้ง่ายๆ
แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งด้วยวิธีคิดแบบมองโลกในแง่ดี
บางทีคำด่ากลับมีค่ามากกว่าคำชม


คำด่ามีค่ามากอย่างไร ?


(๑)คำด่า คือ กระจกเงาสะท้อนความบกพร่องของงานที่เราทำ

(๒)คำด่า มักแฝงคำแนะนำมาด้วยเสมอ


(๓)คำด่า บอกเราว่า สิ่งที่เราทำอยู่นั้น
หากมีคนที่คิดไม่เหมือนเราเขามองดูอยู่
เขาเห็นอะไรในสิ่งที่เรามองไม่เห็นบ้าง


(๔)คำด่า คือ กระดาษทรายอย่างดี
ที่คอยขัดสีฉวีวรรณให้เรามีความกลมกล่อมลงตัว
เหมือนพระประธานที่ต้องถูกกระดาษทราย ขัดสีฉวีวรรณจนผุดผ่อง


(๕)คำด่า ทำให้เราไม่ประมาทผลีผลาม
ทำอะไรด้วยความเชื่อมั่นมากเกินไป


(๖)คำด่า ทำให้รู้ว่า มีคนรักหรือเกลียดเรามากน้อยแค่ไหน


(๗)คำด่า ทำให้รู้ว่า อย่างน้อยก็มีคนสนใจในสิ่งที่เราทำ
หรืออย่างน้อย สิ่งที่เราทำมันกำลังส่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง
จึงมีคนอุทิศตนมาสนใจและด่าอย่างเป็นงานเป็นการ


(๘)คำด่า จะทำให้เราได้หันกลับมาดูภูมิธรรมของตนเองว่า
เข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน เมื่อทุกข์กระทบแล้วธรรมกระเทือน
หรือกิเลสกระเทือน ถ้า ธรรมกระเทือนแสดงว่าเราฝึกตนเองมาดี
แต่ถ้ากิเลสกระเทือนแสดงว่า
ต้องกลับไปฝึกจิตตัวเองใหม่ให้เข้มแข็งกว่านี้


(๙)คำด่า ทำให้เราได้รู้ว่า ในโลกนี้ไม่มีใครหนีโลกธรรม ๘ ได้
(ได้ลาภ เสื่อมลาภ,ได้ยศ เสื่อมยศ,สรรเสริญ นินทา,สุข ทุกข์)


(๑๐)คำด่า คือ บทเรียนเรื่องการปล่อยวางตัวกูหรืออัตตาที่ดีที่สุด
เพราะหากเรายังปล่อยวางตัวกูไม่ได้ เราก็จะต้องหาวิธีด่าคืนอยู่ไม่สิ้นสุด



ที่มา... http://www.tamdee.net/main/read.php?tid-1790.html

ภาพประกอบจาก... http://www.fotosearch.com/bthumb/CSP/CSP394/k3944442.jpg

----------------------------------------------------------------------------------------------
ลูกโป่ง [DT0329] [ วันพฤหัสบดี ที่ 7 ตุลาคม 2553 เวลา 14:42 น. ]   

7,690







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย