นินทาว่าร้าย...เพราะอิจฉาริษยาเป็นเหตุ





นินทาว่าร้าย
เพราะอิจฉาริษยาเป็นเหตุ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมกาสังฆปริณายก



นินทาและสรรเสริญ อันเป็นกระแสแห่งกรรม แห่งโลกธรรม ที่สำคัญอย่างยิ่ง


เป็นเหตุแห่งทุกข์โทษภัยนานาประการ แก่จิตใจที่ขาดสติ ขาดปัญญา
เมื่อผจญกับกระแสเสียงสรรเสริญก็ตาม กระแสเสียงนินทาก็ตาม
ไม่มีสติ ไม่มีปัญญาปิดกั้น ปล่อยให้เข้าไปทำร้ายจิตใจ
หนักหนาเพียงไรก็ได้ เพียงไม่หนักหนานักก็มี


กระแสเสียงนินทาน่าจะหนักหนารุนแรงกว่ากระแสแห่งการยกย่องสรรเสริญ
ดังที่เห็นอยู่ก็เช่นนี้ คือโบราณท่านว่าไว้ว่าจะถึงสมัยหนึ่งที่
คนดีจะต้องเดินตรอก ขี้ครอกจะได้เดินถนน
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม


ผู้ใหญ่ ในสมัยโบราณ ท่านอธิบายให้ลูกหลานเข้าใจความหมายของคำที่ว่านี้คือ
คนดีจะถูกเหยียบย่ำ จนไม่อาจเผยอหน้าให้ใครเห็นได้
คนชั่วร้ายจะได้รับการยกย่อง จนแทบจะล่องลอยฟ้า


ผู้ใหญ่สมัยก่อนที่ ท่านเป็นผู้ดี เป็นคนดี ท่านสอนลูกสอนหลาน
ให้มีเหตุผลในการพูดในการฟัง นั่นก็คือ อย่าไม่มีเหตุผล ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา
ในการพูด ในการฟัง ใครพูดอะไร ใครบอกอะไร ได้ยินก็เชื่อ ก็ฟังก็พูดต่อ


ท่านว่านี้เป็นเหตุสำคัญให้ถึงสมัยผู้ดีต้องเดินตรอก
น่าจะหมายความว่า ผู้ดีหรือคนดี ถูกประณามหยามเหยียด จนอับอายขายหน้า
ไม่อาจให้เห็นหน้าค่าตาได้ พิจารณาให้เห็นเหตุผล น่าจะเห็นได้ว่า
เสียงนินทามีความสำคัญไม่น้อย ทำให้คนดีกลายเป็นคนไม่ดี
หรือคนถูกกลายเป็นคนผิดไปได้มากมายยิ่งขึ้น ในทุกวันนี้


จนเป็นเหตุให้มีคำกล่าวว่า กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยจะถอยจม
หรือผู้ดีจะเดินตรอก ขี้ครอกจะเดินถนน นั่นเอง


ได้ยินใครพูดถึงใครอย่างไร ถ้าเป็นผู้ได้ยิน ที่ไม่เคยพบเคยผ่านเรื่องราว
ที่ฟังเสียงบอกเสียงเล่าด้วยตนเอง ไม่รู้จักผู้ที่ถูกกล่าวถึง ไม่เคยรู้เคยเห็นด้วยตนเอง
ในการพูดการทำของแต่ละคน เขาจะเป็นคนดีคนชั่วหรือเป็นคนถูกคนผิดอย่างไร
แม้ไม่เคยพบ ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ฟัง จากปากเขา
เป็นภาพเป็นเสียงจากคนอื่นทั้งสิ้น


แม้คนอื่นนั้นเราพอรู้จักอยู่ แต่ก็จงมั่นคงในสติปัญญาของตน
จงรอบคอบให้อย่างยิ่ง ในการเชื่อ


ผู้รอบคอบในการเชื่อ ก็คือรอบคอบในการฟัง
เมื่อเป็นผู้รอบคอบในการเชื่อ ก็ย่อมเป็นผู้รอบคอบในการพูดด้วยเป็นธรรมดา
การนินทาว่าร้ายที่เต็มไปทุกแห่งทั่วโลกก็ว่าได้
มิได้เกิดแต่เหตุใดอื่น แต่เกิดจากความเชื่อและนอกจากความเชื่อ ก็คือความอิจฉาริษยา


ที่ทรงมีพระพุทธภาษิตว่า -ความริษยาเป็นเหตุให้โลกฉิบหาย-
จะกล่าวว่าการนินทาว่าร้าย เป็นเหตุให้โลกฉิบหาย ก็น่าจะไม่ผิด
น่าจะเหมือนกันกับที่ทรงมีพระพุทธภาษิตว่า -ความริษยาเป็นเหตุให้โลกฉิบหาย-


เพราะการนินทาว่าร้ายจะไม่เกิด แม้ไม่มีความริษยาเป็นเหตุ
เมื่อได้ฟังการนินทาว่าร้าย ก็ไม่ควรลืมพระพุทธภาษิตที่ว่า
-ความริษยาเป็นเหตุให้โลกฉิบหาย-


ได้ยินเสียงนินทาว่าร้าย ไม่ว่าจะจากผู้ใดก็ตาม ให้นึกถึงพพระพุทธภาษิตทันทีที่ว่า
-ความริษยาเป็นเหตุให้โลกฉิบหาย- อย่ายอมเข้าร่วมในการนินทาว่าร้าย
หรือในความริษยา แม้เพียงด้วยการเชื่อ โดยมิได้บอกกล่าวเล่าขานต่อไปก็ตาม


แต่ถ้าเชื่อตามเสียงนินทาว่าร้ายและเป็นการเชื่อด้วยจริงใจ
เชื่ออย่างปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องที่ได้ยินได้ฟังจากคำบอกเล่าของคนอื่น
ซึ่งอาจจะป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือ น่าไว้ใจ
มีความจริงใจ มีความหวังดี ในการนำเรื่องมาบอกกล่าวเล่าให้ฟัง


จงรอบคอบให้อย่างยิ่งในการฟัง ไม่ว่าผู้พูดผู้เล่าจะเป็นใครก็ตาม นึกไว้อย่างหนึ่งว่า


การนินทาว่าร้าย ถ้าจริงก็เสียหายแก่ผู้พูดผู้ฟังพอสมควร
แต่ถ้าไม่จริง ไม่เพียงแต่ผู้พูดเสียหายเป็นอย่างยิ่ง ผู้ฟังผู้เชื่อก็จะเสียหายมาก



: แสงส่องใจ (๒๔) ๓ ตุลาคม ๒๕๔๙
: สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมกาสังฆปริณายก
   

7,703







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย