กาลต่อไปพระพุทธศาสนาจะไปตั้งมั่นนอกชมพูทวีป

 DhammathaiTeam  

หมวดที่ ๘ - หลังพุทธปรินิพพาน

"กาลต่อไปพระพุทธศาสนาจะไปตั้งมั่นนอกชมพูทวีป"

ในคราวสังคายนาพระพุทธศาสนา ครั้งที่ ๓ ดังได้กล่าวถึงมาแล้วข้างต้น พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระผู้เป็นประธานทรงเล็งเห็นการณ์ไกลอย่างยิ่ง โดยพิจารณาว่า กาลต่อไปพระพุทธศาสนาจะไปตั้งมั่นนอกชมพูทวีป จึงจัดส่งพระเถระพร้อมด้วยบริวารให้ไปเผยแฟ่พุทธศาสนา ในส่วนต่าง ๆ ของทวีปเอเชีย ๙ สาย คือ

๑. พระมหินทเถระ พร้อมด้วยพระอิฏฏิยเถระ พระอุตติยเถระพระสัมพลเถระ พระภัททสาลเถระ และสุมนสามเณรไปเผยแผ่พระศาสนาที่เกาะลังกา ในรัชสมัยของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ

๒.พระมัชฌันติกเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่แคว้นคันธาระและกาศมีระ ทรมานพวกนาคให้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา

๓. พระมหาเทวะ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ แคว้นมหิสสกมณฑล ได้แก่ แถบตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำโคธาวารี อันเป้นแคว้นไมซอร์ในปัจจุบัน

๔. พระรักขิตเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ วนวาสีประเทศ ได้แก่ แว่นแคว้นกนราเหนือ ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียก่อให้เกิดวัดขึ้นถึง ๕๐๐ วัด ในดินแดนส่วนนี้

๕.พระโยนกธรรมรักขิต ซึ่งเป็นเถระอรหันต์ชนชาติกรีก ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ อปันตกชนบท เชื่อกันว่า ได้แก่ ดินแดนชายทะเลอันเป็นเมืองบอมเบย์ในปัจจุบัน

๖. พระมหารักขิตเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ โยนกประเทศคือดินแดนที่อยู่ในการยึดครองของผรั่งชาติ กรีก ในทวีปเอเชียตอนกลาง เหนืออิหร่าน ขึ้นไปจนถึงเตอรกีสถาน

๗. พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ อีก ๔ รูปคือ พระกัสสปโคตะ พระมูลกเทวะ พระทุนทภิสสร และพระเทวะไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย

๘. พระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณถูมิ เชื่อกันว่าได้แก่ดินแดนที่เป็นจังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน

๙. พระมหาธรรมรักขิต ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่แว้นมหาราษฎร์ คือดินแดนแถบตะวันออกเฉียงเหนือ ห่างจากเมืองบอมเบย์ในปัจจุบัน

การไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาของธรรมทูตทุกสาย เป็นการไปอย่างคณะสงฆ์ ซึ่งสามารถให้การอุปสมบทแก่กุลบุตรผู้มีศรัทธาได้ มีหลักฐานซึ่งค้นพบที่จังหวัดนครปฐมระบุว่า พระโสณเถระกับพระอุตตรเถระมาประดิษฐานพระพุทธศาสนาในดินแดนส่วนนี้

พระพุทธศาสนาได้เจริญถึงขั้นสูงสุด โดยเฉพาะในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ในโลกที่นับถือพระพุทธศาสนา และเผยแผ่พระพุทธศานาออกนอกชมพูทวีปสู่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียแต่แล้วในกาลต่อมา พระพุทธศาสนาในดินแดนอินเดียค่อย ๆ เสื่อมแล้วได้มาสูญไปเกือบสิ้นเชิง เป็นเวลานานกว่า ๗๐๐ ปีที่พระพุทธศาสนาสูญไปจากประเทศนี้ จวบจนกระทั่งเมื่อประมาณ ๖๐ ปีที่ผ่านมามีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดียมากขึ้น มีชาวพุทธเพิ่มมากขึ้นมีการประมาณกันว่า ในปัจจุบันมีผู้นับถือพระพุทธศาสนา ในประเทศอินเดีย ๓๐-๔๐ ล้านคน จากจำนวนประชากรอินเดียประมาณเกือบพันล้านคน

ภัียอันตรายที่เป็นเหตุแห่งความเสื่อมของพระพุทธศาสนา ในอินเดียนั้น มีอยู่ ๒ ประเภทใหญ่ คือ ๑. ภัยภายใน ๒. ภัยภายนอก

ภัยภายใน เกิดจากพุทธบริษัท ๔ (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) โดยตรง พอจะจำแนกเป็น ๓ ประการคือ
๑. การเสื่อมทางศีลธรรมและการเสื่อมจากการบรรลุมรรคผลของชาวพุทธ
๒. ความแตกแยกทางนิกายและความขัดแย้งทางนิกาย
๓. ลัทธิมหายานและลัทธิตันตรยานเกิดขึ้น ทำให้เกิดพระสัทธรรมปฏิรูปต่าง ๆ ขึ้นในพระพุทธศาสนา

ภัยภายนอก การที่พระพุทธศาสนาต้องเสื่อมไปจากอินเดียนั้นหาได้เกิดจากภัยภายในอย่างเดัยวไม่ ภัยภายนอกก็จัดว่าเป็นอันตรายมากเช่นกันที่ทำให้พระพุทธศาสนาต้องเสื่อมไปจากดินแดนพุทธภูมิภัยภายนอกนั้นพอจะจำแนกได้ ๖ ประการคือ
๑. การปองร้ายของพวกพราหมณ์
๒.การฟื้นตัวใหม่ของพวกพราหมณ์
๓.การถูกศาสนาพราหมณ์กลืน
๔.การขาดราชูปถัมภ์
๕. การทำลายล้างของกษัตริย์ภายนอกพระพุทธศาสนา
๖. การทำลายล้างของพวกมุสลิม



ที่มา : หนังสือ ความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า โดย ภัทรวรรณ วันทนชัยสุข

 เปิดอ่านหน้านี้  7481   ครั้ง





จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย