พจนานุกรมพุทธศาสน์

หมวด สติปัฏฐาน - สทารสันโดษ

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ : ความหมายของคำศัพท์ทางพระพุทธศาสนา


สติปัฏฐาน - สทารสันโดษ

สติปัฏฐาน ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ, ข้อปฏิบัติมีสติเป็นประธาน, การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง, การมีสติกำกับดูสิ่งต่างๆ และความเป็นไปทั้งหลาย โดยรู้เท่าทันตามสภาวะของมันไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย ที่ทำให้มองเห็นเพี้ยนไปตามอำนาจกิเลส มี ๔ อย่างคือ
๑. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันกายและเรื่องทางกาย
๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันเวทนา
๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันจิตหรือสภาพและอาการของจิต
๔. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม, การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันธรรม; เรียกสั้นๆ ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม

สติวินัย ระเบียบยกเอาสติขึ้นเป็นหลัก ได้แก่กิริยาที่สงฆ์สวดประกาศให้สมมติแก่พระอรหันต์ ว่าเป็นผู้มีสติเต็มที่เพื่อระงับอนุวาทาธิกรณ์ ที่มีผู้โจทท่านด้วยศีลวิบัติ หมายความว่าจำเลยเป็นพระอรหันต์ สงฆ์เห็นว่าไม่เป็นฐานะที่จำเลยจะทำการล่วงละเมิดดังโจทก์กล่าวหา จึงสวดกรรมวาจาประกาศความข้อนี้ไว้ เรียกว่าให้สติวินัย แล้วยกฟ้องของโจทก์เสีย ภายหลังจำเลยจะถูกผู้อื่นโจทด้วยอาบัติอย่างนั้นอีก ก็ไม่ต้องพิจารณาให้อธิกรณ์ระงับด้วยสติวินัย

สติสังวร ดู สังวร

สติสมฺโมสา อาการที่จะต้องอาบัติด้วยลืมสติ

สตูป สิ่งก่อสร้างสำหรับบรรจุของควรบูชา นิยมเรียก สถูป

สเตกิจฉา อาบัติที่ยังพอเยียวยาหรือแก้ไขได้ ได้แก่ อาบัติอย่างกลางและอย่างเบา คือตั้งแต่สังฆาทิเสสลงมา; คู่กับ อเตกิจฉา

สถลมารค ทางบก

สถาปนา ก่อสร้าง, ยกย่องโดยแต่งตั้งให้สูงขึ้น

สถาพร มั่นคง, ยั่งยืน, ยืนยง

สถิต อยู่, ยืนอยู่, ตั้งอยู่

สถูป สิ่งก่อสร้างซึ่งก่อไว้สำหรับบรรจุของควรบูชา เป็นอนุสรณ์ที่เตือนใจให้เกิดปสาทะและกุศลธรรมอื่นๆ เช่น พระสารีริกธาตุ อัฐิแห่งพระสาวกหรือกระดูกแห่งบุคคลที่นับถือ (บาลี: ถูป, สันสกฤต: สฺตูป) ดู ถูปารหบุคคล

สทารสันโดษ ความพอใจด้วยภรรยาของตน, ความยินดีเฉพาะภรรยาของตน (ข้อ ๓ ในเบญจธรรม), จัดเป็นพรหมจรรย์อย่างหนึ่ง




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย