หัวใจเปรต เขียนโดย สืบ ธรรมไทย

 pt  4,879 

สมัยหนึ่งเมื่อครั้งสมเด็จพระกัสสปะพุทธเจ้ายังทรงประกาศสัจธรรมอยู่ มีอยู่คราวหนึ่งพระองค์พร้อมด้วยพระอรหันต์ขีณาสพจำนวนสองหมื่นรูปได้เสด็จมาถึงนครแห่งหนึ่ง ชาวเมืองพอทราบต่างก็ดีใจ รีบชักชวนพวกพ้องพากันมาบริจาคทานรักษาศีลกันเป็นจำนวนมาก ประชาชนทุกหมู่เหล่าต่างร่วมแรงร่วมใจกันถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ โดยมีสมเด็จพระกัสสปะพุทธเจ้าทรงเป็นองค์ประธาน ติดกันเป็นเวลาหลายวัน

ครานั้นยังมีบุตรเศรษฐี ๔ คน เขาทั้งสี่เป็นเพื่อนที่รักกันมาก พ่อแม่แต่ละคนต่างก็มีทรัพย์อยู่ถึงคนละสี่สิบโกฏิ บุตรเศรษฐีสี่คนนี้เห็นประชาชนต่างพากันบริจาคทานรักษาศีลแทนที่พวกตนจักมีจิตยินดี มีใจเลื่อมใสศรัทธา ร่วมแรงร่วมใจทำบุญทำทานกับเขา ที่ไหนได้กลับพากันดูหมิ่นเหยีดหยาม เห็นว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้โง่เขลาเบาปัญญา บ้าศรัทธางมงาย ทำบุญทำทานไปทำไม? ไม่เห็นจักเกิดประโยชน์อันใด มีแต่จะพาให้สูญสิ้นทรัพย์ไปเปล่าๆ สู้เอาเงินเหล่านี้มาซื้อเหล้ายากินกันก็ไม่ได้ ยังจะมีความสุขเสียกว่าเป็นไหนๆ!

เมื่อคนพาลทั้งสี่นี้ต่างเห็นตรงกัน ดังนั้นพวกเขาจึงนำเอาทรัพย์ที่พ่อแม่ให้มา นำไปซื้อสุรายาเมามาดื่มกินกันอย่างมีสนุกสนาน พอเมาได้ที่ก็กระทำกันไปต่างๆนานา ตามแต่อำนาจกิเลสจักพาไป ไม่ว่าลูกเขาเมียใครหากตนพอใจ ก็จักใช้ทรัพย์ที่มีนั้นเป็นเครื่องล่อ หลอกเอาหญิงเหล่านั้นมาบำเรอความสุขแห่งตนทุกครั้งไป

เขาทั้งสี่เฝ้าทำกรรมชั่วช้าอย่างนี้เป็นอาจิณ พอถึงคราชีวาขาดสิ้น บาปที่ทำไว้จึงรวมกันเป็นชนกกรรม ฉุดกระชากลากนำพวกเขาให้ไปเกิดยังอเวจีมหานรก ทนรับทัณฑ์เพราะใจสกปรกอยู่สิ้นกาลช้านาน ครั้นพอพ้นผ่านจากอเวจีมหานรกมาแล้ว ก็ยังไม่แคล้วต้องมาเกิดอยู่ในโลหกุมภีนรกต่ออีกเป็นเวลาหลายกัปหลายกัลป์ โดยไปเกิดเป็นสตว์นรกตนใหญ่ ๔ ตน แหวกว่ายกระเสือกกระสนอยู่ในนรกขุมนี้

บางท่านอาจสงสัยว่าโลหกุมภีนรกนั้นมีลักษณะเช่นไร? ไฉนจึงต้องใช้คำว่าแหวกว่ายด้วย? ตอบว่าก็เพราะนรกขุมนี้มันมีลักษณะคล้ายกับหม้อหรือถังน้ำนั่นเอง แต่ว่าขนาดของมันนั้นมิได้เหมือนกับหม้อหรือถังน้ำบนโลกเรา ความกว้าง ความยาว ความลึก นรกขุมนี้วัดได้ด้านละ ๖๐ โยชน์ ผนังสี่ด้านแลพื้นสร้างจากเหล็กกล้า ภายในหม้อหรือถังมหึมานี้บรรจุน้ำโลหะที่เดือดพล่านอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากด้านนอกรอบผนังนรกขุมนี้มีไฟนรกคอยแผดเผาอยู่ตลอดชั่วนาตาปี ทำให้ทุกที่ทุกทางในนรกขุมนี้ไม่ว่าจักมองไปไหนก็จักเห็นแต่สีแดงเพลิงไปหมด

สัตว์นรกลูกชายเศรษฐีทั้งสี่ต่างก็ถูกต้มเคี่ยวอยู่ในหม้อเหล็กใหญ่ใบนี้นั่นเอง! พวกเขาต่างพยายามจะว่ายขึ้นไปให้ถึงปากหม้อนรกให้ได้ ด้วยคิดว่าจะหาหนทางปีนหนีไปจากดินแดนอันแสนทรมานนี้ แต่ไม่ว่าพยายามเท่าใดก็มิเคยที่จักประสบกับความสำเร็จสักครั้ง บางครั้งจวนเจียนจะถึงปากหม้อยู่แล้วแต่ก็ถูกดูดจมลงไปอีก ทั้งนี้เพราะสภาพสัตว์นรกขุมนี้เปรียบแล้วก็ไม่ต่างจากเมล็ดข้าวสารที่ถูกต้มเคี่ยวอยู่ในหม้อที่มีน้ำอันเดือดพล่านนั่นเอง เราจะเห็นว่าข้าวแต่ละเม็ดประเดี๋ยวก็โผล่ขึ้นมา ประเดี๋ยวก็จมลงไป ประเดี๋ยวก็โผล่ขึ้นมา ประเดี๋ยวก็จมลงไป เป็นอยู่อย่างนี้ไม่มีสิ้นสุด สัตว์นรกขุมนี้ก็มิได้ต่างจากเม็ดข้าวดังว่าเลย! การที่พวกเขาจะพยายามโผล่ศรีษะขึ้นไปยังปากหม้อให้ได้นั้น มันจึงยากยิ่งกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขาเสียอีก แต่พวกเขาก็หาท้อไม่

สุดท้ายหลังจากพยายามอยู่ถึง ๖๐,๐๐๐ ปี ในที่สุดเขาทั้งสี่ก็บังเอิญโผล่มาเจอกันที่ปากหม้อนรกพอดี เวลานั้นด้วยความอัดอั้นตันใจ สัตว์นรกตนแรกพอเห็นหน้าเพื่อนก็อยากจะระบายความทุกข์ให้เพื่อนทราบ จึงพูดว่า “ ทุกขะชีวิตะมะ ชีวิม หา..( ช่างน่าอนาถนัก เพราะเรามิได้ทำบุญให้ทานจึงต้องมาพบพานกับความทุกข์ทรมานถึงปานฉะนี้! ทั้งที่เมื่อตอนเป็นมนุษย์ก็มีทรัพย์ตั้งมากตั้งมาย..) ” แต่พอเขาอ้าปากพูดได้แค่คำว่า ทุ…เท่านั้น บัดนั้นร่างเขาก็ถูกดูดจมลงไปที่ยังก้นหม้อเหมือนเดิม

สัตว์นรกตนที่สองพอเห็นหน้าเพื่อนก็ให้ดีใจเช่นกัน ใคร่จะระบายความทุกข์ให้เพื่อนฟังบ้าง จึงพูดว่า “ สฏฐีวัสสะ สะหัสสานิ... ( เพื่อนเอ๋ย! ตั้งแต่พวกเราดำผุดดำว่ายอยู่ในหม้อนรกนี้ นี่ก็เป็นเวลาถึงหกหมื่นปีแล้ว เมื่อไหร่เราจึงจักพ้นไปจากนรกขุมนี้เสียที?..) ” แต่เพียงเขาเอ่ยได้คำว่า ส...เท่านั้น ฉับพลันก็ถูกดูดจมลงไปที่ยังก้นหม้อเหมือนดังกับสัตว์นรกตนแรก

สัตว์นรกตนที่สามและสี่ก็เหมือนกัน คิดจักกล่าวคำว่า “ นัตถิอันโตกุโตอันโต...( เพื่อนเอ๋ย! บาปกรรมที่เราทำไว้ บัดนี้ได้ย้อนมาให้ผลอย่างสาสมแล้ว...) ” และ “ โสหังนูนะ อิโตคันตะวา...( ถ้าเราพ้นไปจากนรกขุมนี้เมื่อใด แลได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ เราจะไม่ทำอะไรเลยนอกจากบริจาคทานแลรักษาศีลเท่านั้น..) ” แต่พอทั้งคู่เอ่ยได้แค่คำว่า น... และ โส... เขาทั้งสองก็ถูกดูดจมลงไปที่ยังก้นหม้อเหมือนดังกับสัตว์นรกสองตนแรก

คำโอดครวญของสัตว์นรกสี่ตนนี้พระเกจิสมัยก่อนท่านได้นำเอาคำขึ้นต้นคือ ทุ สฺ นฺ โส มาบัญญัติรวมกันไว้เป็นคาถาชื่อว่า “ คาถาหัวใจเปรต ” (ทำไมไม่เรียกคาถาหัวใจสัตว์นรกก็ไม่ทราบ) เพื่อใช้เป็นเครื่องเตือนสติมิให้เผลอใจไปกระทำความชั่ว สืบต่อกันมาตราบจนทุกวันนี้.

สืบ ธรรมไทย
   

ที่มา : อ้างอิงจากพุทธชาดก และ โลกทีปนี เรียบเรียงโดย พระพรหมโมลี(วิลาศ ญาณวโร ป.ธ.๙)


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย