มัคคสามัคคี

 อชิระ   1 ก.ค. 2555

.......................................

ความพร้อมเพรียงกันของมรรค: สัมมาทิฏฐิ
ทำหน้าที่พิจารณาใน อริยสัจ
สัมมาสังกัปปะ คือ เนกขัมมสังกัปปะ ดำริในการออก อัพยาปาทสังกัปปะ
ดำริในอันไม่ปองร้าย อวิหิงสาสังกัปปะ ดำริในอันไม่เบียดเบียน จึงต่อเนื่องไป
ส่วน สัมมาวาจา พูดชอบ สัมมากัมมันตะ ทำชอบ ดูเป็นทีว่าต้องพูดชอบ
จึงจะเป็น สัมมาวาจา ต้องทำชอบจึงจะเป็น สัมมากัมมันตะ
ถ้าเช่นนี้แล้วมรรคก็ไม่เป็นสามัคคี ก็แตกแยกกัน
เพราะฉะนั้น พระบาลีจึงแสดงว่า สัมมาวาจา คือ เว้นจากวจีทุจริต
สัมมากัมมันตะ คือ เว้นจากกายทุจริต จะให้มรรคเป็นสามัคคีพร้อมเพรียง
กันก็คือ เมื่อสัมมาทิฏฐิมีหน้าที่พิจารณาให้เห็นอริยสัจ ๔
สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ ก็คือ ดำริไปตามสัมมาทิฏฐิ สัมมาวาจา ก็ไม่คิด
ที่จะพูดชั่ว เพราะตั้งใจอยู่ในการพิจารณา สัมมากัมมันตะ ก็เหมือนกัน
เมื่อมีสัมมาทิฏฐิสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ เลี้ยงชีพ ก็
ต้องชอบ พยายามก็ต้องชอบ สติ ก็ต้องระลึกชอบ
สมาธิก็ต้องตั้งมั่นชอบ ไปตามกัน
ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว มรรคก็เป็น มัคคสามัคคี เมื่อมรรคเป็นสามัคคี คือ
พร้อมเพรียงกันแล้ว ก็เป็นเหตุให้เห็นอริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง
คนที่ตั้งใจปฏิบัติตามอริยมรรค ตั้งต้นก็พิจารณาเพื่อให้ เห็นชอบ
แต่ไม่สำเร็จไม่ถึง เห็นชอบ ก็เพราะมรรคไม่สามัคคี ไม่พร้อมเพรียงกัน
ต่อเมื่อรวมองค์มรรคต่าง ๆ เหล่านั้นให้พร้อมเพรียงกัน
เหมือนดังการเดินทางที่แสดงมาแล้ว คือ ใจคิดจะเดิน ตาต้องดูทาง
ดูอันตราย หูต้องฟังอันตราย เท้าก้าวเดิน รวมกันไปเช่นนี้
การเดินจึงจะสำเร็จ
มรรคมีองค์ ๘ ก็เป็นเช่นเดียวกัน ต้องมีสามัคคีกัน ทำหน้าที่พร้อมไป
ด้วยกัน จึงจะให้สำเร็จกิจ คือเห็นอริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง
แต่แม้จะมุ่งปฏิบัติไปมรรค ตั้งต้นแต่พิจารณาอริยสัจ ๔ อันเป็นสัมมาทิฏฐิ
ก็ต้องเริ่มต้นมาแต่ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ อิทธิบาท ๔ สัมมัปปธาน ๔
จึงจะอุดหนุน สติปัฏฐาน ให้เจริญยิ่งขึ้น จนสติปัฏฐานเลื่อนขึ้นเป็น
สติสัมโพชฌงค์แล้วประกอบด้วยองค์อีก ๖ รวมเป็นโพชฌงค์ ๗
โพชฌงค์ ๗ มี อุเบกขาโพชฌงค์ คือ ปัญญาที่พิจารณาเห็นตามเป็นจริง
ไม่ยินดียินร้าย เป็นส่วนปัญญา
เมื่อปัญญาที่พิจารณาเห็นตามเป็นจริงนั้นเลื่อนสูงขึ้น ก็เป็น สัมมาทิฏฐิ
ในองค์มรรค และประกอบด้วยองค์มรรคอีก ๗ จึงเป็นมัคคสามัคคี
ถ้าว่าจำเพาะหน้าที่ ที่จะปฏิบัติเพื่อให้เห็นง่าย ๆ สัมมาทิฏฐิ มีหน้าที่
พิจารณาเพื่อให้เห็นอริยสัจ ๔ ตามเป็นจริง สัมมาสมาธิ อุดหนุนให้การ
พิจารณาอริยสัจ ๔ ให้ตั้งมั่นอยู่ได้ ถ้าขาดสัมมา สมาธิ การตั้งใจมั่น
ก็ไม่มี การพิจารณาอริยสัจ ๔ ก็ไม่เห็น ธรรมเหล่านี้อาศัยซึ่งกันและกันไป
จึงเรียกว่า โพธิปักขิยธรรม ธรรมเป็นฝ่ายแห่งปัญญาเป็นเครื่องตรัสรู้
หรือธรรมเป็นฝ่ายแห่งความตรัสรู้
แต่ธรรมเหล่านี้ ละเอียด ต้องพิจารณาดูให้ดี
ไม่เช่นนั้นก็เป็นแต่พอรู้เลา ๆ อาจจะไม่เข้าใจอรรถคือเนื้อความได้ดี
แต่ท่านแสดงไว้อย่างนี้ก็แสดงไปตามเรื่อง
( โอ. ๑/๒๐๘-๒๑๐ ).

มรรคมีองค์ ๘ ประการนี้ถ้าเกิดขึ้นด้วยกันเป็นมรรคสามัคคีในเวลาใด
ทุกขนิโรธ ก็เป็นอันทำให้แจ้ง จิตก็สงบระงับ
ตัณหาเป็นทุกขสมุทัย ก็เป็นอันละ ทุกข์ ก็เป็นอันกำหนดรู้
ทุกข์เพราะกิเลส ก็ไม่เกิด ชื่อว่าสัจจะทั้ง ๔ เกิดขึ้นในขณะจิตเดียว
แต่ควรสันนิษฐานว่า องค์มรรคทั้ง ๘ ประการนั้น ถึงเกิดขึ้นด้วย
กันเป็นมรรคสามัคคี แต่ถ้ามีกำลังยังไม่เต็มเสมอกันทุกองค์ คือถึง
สัมมาทิฏฐิจะเกิดขึ้นตลอดถึงสัมมาอาชีวะ แต่ถ้าสัมมาวายามะ ยังไม่หนุน
สัมมาสติให้มีกำลังเต็มที่เป็นไปได้นาน และยังไม่หนุนสัมมาสมาธิ ให้มี
กำลังเต็มที่จนถึงฌาน ดังที่ท่านแสดงไว้ สัมมาวายามะ ก็ยังอ่อน สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ ก็ยังอ่อน
เพราะฉะนั้น คงยังไม่เป็นอริยมรรค แต่คงเป็นโลกิยมรรค
ถ้ามรรคเป็นโกลิยมรรคเกิดขึ้น ผลที่เสร็จมาแต่มรรค ก็คงเป็น โลกิยผล
เมื่อผลเป็นโลกิยผล ก็คงเป็น กุปปธรรม คือยังกำเริบยังเสื่อมได้
ต่อเมื่อใด ผู้บำเพ็ญเพียรได้ทำองค์มรรคทั้ง ๘ ประการให้เกิดขึ้นมีกำลัง
เสมอกันตลอดเป็นอริยมรรคแล้ว ผลอันเสร็จมาแต่มรรค ก็คงเป็นอริยผล
องค์มรรคทั้ง ๘ ประการนั้น ถ้าเกิดขึ้นด้วยกันเป็นมรรคสามัคคี ก็คงจะได้
ผลเป็นทุกขนิโรธ
ถึงยังเป็นโกลิยผล เป็นกุปปธรรม ก็อาจระงับทุกข์ ทำจิตให้ผ่องในสงบ
ระงับเป็นอันได้ปรากฏรสพระธรรมได้ชั่วคราว ถ้าท่านผู้บำเพ็ญเพียรได้ทำให้
เกิดขึ้นบ่อย ๆ เข้า ก็คงได้บรรลุผลนั้นบ่อย ๆ เข้า และคงอาจเป็นอุปนิสัย
ให้องค์มรรคทั้ง ๘ มีกำลังเต็มที่เสมอกันเป็นอริยมรรค ผลก็คงเป็นอริยผล
ตามกำลังของมรรค
( วชิร. ๒๖๖-๒๖๗ )   




 เปิดอ่านหน้านี้  5889 

  แสดงความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย