เชิญร่วม .... ปุจฉา : วิสัชนา (ตอน ๑)

 หิ่งห้อยน้อย   12 ก.ย. 2553



 

ขอเรียนเชิญ ผองเพื่อน ชาวกวี
ร่วมเปรมปรีดิ์ ใส่คารม คมปุจฉา
หรือร่วมตอบ ชอบจิต ชิดธัมมา
เชิญท่านร่วม วิสัชนา ในสัทธรรม





เจริญในธรรม เจ้าค่ะ
 







แม้ยังไม่มีคำถาม มาถามไซร้
ขอยกคำถาม ในพระไตรฯ มาให้เห็น
ให้ผู้อ่าน จับคำถาม ตามประเด็น
ตัวอย่างเช่น คำถาม ของเทวา

ได้ทูลถาม พระผู้มี พระภาคเจ้า
โปรดทรงเล่า ให้กระจ่าง ตามปรารถนา
ทำอย่างไร ท่านจึงข้าม โอฆะ
มา
โปรดเมตตา ตอบข้าฯ หายข้องใจ


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ









ได้ทูลถาม พระผู้มี พระภาคเจ้า
โปรดทรงเล่า ให้กระจ่าง ตามปรารถนา
ทำอย่างไร ท่านจึงข้าม โอฆะ
มา
โปรดเมตตา ตอบข้าฯ หายข้องใจ ... หิ่งห้อยน้อย

ก่อนก้าวไป ยังคำตอบ ต้องสอบก่อน
แล้วค่อยย้อน ตามคำถาม กระจ่างใส
ต้องรู้จัก ว่า โอฆะ คืออะไร
แล้วเหตุใด พระพุทธองค์ ต้องข้ามมา

เพื่อประกอบ ความรู้เห็น ให้เด่นชัด
ใยต้องสลัด ต้องข้ามไป ไม่ปรารถนา
โอฆะหรือ คือสิ่งใดโปรดเมตตา
เพื่อจักได้ รู้ว่า ต้องข้ามไป



เจริญในธรรมค่ะ








ก่อนก้าวไป ยังคำตอบ ต้องสอบก่อน
แล้วค่อยย้อน ตามคำถาม กระจ่างใส
ต้องรู้จัก ว่า โอฆะ คืออะไร
แล้วเหตุใด พระพุทธองค์ ต้องข้ามมา ... กระบี่ไร้เงา

ธรรม โอฆะ โยคะ และอนุสัย
เป็นกิเลส มัดสัตว์ไว้ ในสังสาร์
มันนอนเนื่อง เฟื่องฟู อยู่นานมา
ในจินตนา ของเวไนย์ มัดเงื่อนตรม

เปรียบสภาวะ ดุจกระแส น้ำที่หลาก
ไหลเชี่ยวกราก พัดไป ให้สาสม
สิ่งใดขวาง ก็กวาดไว้ ไปสู่ตม
ความขื่นขม ก็ปรากฎ สลดใจ

ได้ตรัสไว้ แบ่งได้ เป็นสี่องค์
พาลุ่มหลง มัวเมา เคล้าอนุสัย
กาโมโฆ ความกำหนัด ความพอใจ
ในสิ่งที่ ยิ่งใหญ่ คือกามคุณ

ทั้ง รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส
ยากขจัด ให้สิ้นไป ไม่นำหนุน
แต่ไม่วาย ติดใจ ในกามคุณ
ไม่ค้ำจุน แต่กลับหนุน กิเลสทราม

เพราะตัณหา เคลียเคล้า เข้าครอบงำ
จึงถลำ ปรารถนา ในภพสาม
ภโวโฆ ความปราถนาภพ ก็ติดตาม
จึงเวียนว่าย ภพทั้งสาม ตลอดมา

รูปราคะ อรูปราคะ ยืดเหนียวแน่น
ดังเป็นแกน ก่อไป ในตัณหา
จึ่งทรงเปรียบ ว่าดั่งน้ำ ที่หลากมา
พัดและพา สู่ความพินาศ อนาถใจ

ทิ้งความเห็น ที่ถูก ปลูกที่ผิด
ก่อให้จิต ขุ่นข้อง ไม่ผ่องใส
ทิฏโฐโฆ
พาจิต เวียนว่ายไป
เป็นกิเลส หมู่ใหญ่ ที่ควรจำ

มาถึงตัว โอฆะ ตัวสุดท้าย
ตัวที่ร้าย ควรละไว้ อย่าอุปถัมภ์
ไม่รู้แจ้ง อริยสัจสี่ ในสัทธรรม
อวิชโชโฆ
จึงน้อมนำ ให้มืดมนธ์

และนี่คือ กระแสน้ำหลาก ท่วมใจสัตว์
ยากเกินที่ จะขจัด ให้หลุดพ้น
เพราะอกุสลา พาใจ ให้มืดมนธ์
จึ่งควรค้น วิธีข้าม โอฆะมาร



เจริญในธรรม เจ้าค่ะ







สาธุ เจ้าค่ะ


เฟื่องฟ้านำ ธัมมา กิเลสสี่
กิเลสที่ มัดสัตว์ไว้ ในสังสาร์
คือโอฆะ ทั้งสี่ ที่กล่าวมา
โดยอรรถา ว่าเป็นเหตุ นำสัตว์ไป

นอกจากนั้น หมายถึง เป็นกลุ่มก้อน

จึงควรย้อน พิจารณา ว่าสิ่งไหน
จักกวาดต้อน หมู่สัตว์ ให้คลาไคล
เป็นหมู่ใหญ่ คือน้ำไหล ที่หลากแรง

อรรถกถาจารย์ จึ่งแปล ดุจน้ำหลาก
ที่เชี่ยวกราก กวาดไป ได้ทุกแห่ง
โอฆะสี่ ย่อมไม่มี ที่อ่อนแรง
กวาดทุกแห่ง ที่เข้าสู่ ลู่ทางมัน

ขอขอบคุณ ที่เป็นห่วง สุขภาพกาย
ได้พักผ่อน ก็เริ่มคลาย กลายผายผัน
อากาศแปร ไปตาม กาลของมัน
ไข้หวัดพลัน ตามมา เข้าราวี

ขอให้เข้า มาสนทนา กันบ่อยบ่อย
พุดเดิลคอย เคียงคู่ กวีศรี
ทิ้งงานโลก ไว้บางอย่าง เข้าทางดี
เข้าทางที่ พุทธองค์ ทรงชี้ไว้


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ





จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อากังเขยยสูตร


ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีศีลอันสมบูรณ์ มีปาติโมกข์อันสมบูรณ์ อยู่เถิด
จงเป็นผู้สำรวมด้วยความสำรวมในปาติโมกข์
ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรอยู่เถิด
จงเป็นผู้มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย
สมาทานศึกษาในสิกขาบททั้งหลายเถิด.


ภิกษุ พึงกระทำให้บริบูรณ์ในศีล
หมั่นประกอบธรรมเครื่องระงับจิตของตน
ไม่ทำฌานให้เหินห่าง ประกอบด้วยวิปัสสนา
พอกพูนสุญญาคาร.






พี่เฟื่องฟ้า มาล้อ กระบี่ฯ เล่น
ยกประเด็น บ่อกิเลส เหตุเรี่องใหญ่
บ่อกิเลส ที่ไม่เคย ปราณีใคร
แม้ผู้ใด เผลอลิ้ม ชิมต้องตรม

กินยาพิษ สุดท้าย วายชีวาตย์
แต่บ่อนี้ กลับประหลาด มิฝาดขม
ยิ่งดื่มกิน สุขจินตนา พารื่นรมย์
น่าอภิรมย์ น่าชื่นใจ ในโลกีย์

เฝ้าแวะเวียน เวียนมาสูด มาดูดดื่ม
จนจิตลืม สู่สงัด จัดวิถี
จึงเวียนว่าย วนวัฏฏ์ไป หลายขวบปี
กัลป์กัปมี นับไม่ได้ ให้น่ากลัว

น่าจะจัด เป็นห้วง มหรรณพ
ที่เวียนว่าย มิรู้จบ พลบสลัว
ห้วงมหรรณพ พี่เฟื่องฟ้า ดูน่ากลัว
จึงอย่ามัว แวะเวียนไป ไม่ได้การ



เจริญในธรรมค่ะ






กามคุณ ๕

น่าจะจัด เป็นห้วง มหรรณพ
ที่เวียนว่าย มิรู้จบ พลบสลัว
ห้วงมหรรณพ พี่เฟื่องฟ้า ดูน่ากลัว
จึงอย่ามัว แวะเวียนไป ไม่ได้การ...กระบี่ไร้เงา


เสียงกระบี่ ฝ่าลม คมยิ่งนัก
ออกจากฝัก คราใด ให้สะท้าน
เพลงกระบี่ บินเดี่ยว ดูเชี่ยวชาญ
ไว้ปราบมาร หรือเอาไว้ ใช้ป้องตัว

การฝึกธรรม รำกระบี่ ที่ฉันเห็น
ทุกประเด็น ดูละม้าย คล้ายไปทั่ว
ต้องฝึกฝน เพื่อให้พ้น ก้นบ่อบัว
พ้นสลัว ขึ้นสู่ ลู่ฟ้างาม

ท่านกระบี่ รู้ไหม ใคร่ปุจฉา
อันกามา ทำอย่างไร ให้พ้นข้าม
กามคุณห้า มันมาขลุก ทุกโมงยาม
พยายาม หลีกไกล ใยยากจริง

รูป ที่เห็น สวยใส อยากใกล้ชิด
เสียง จริต ผ่านหูมา น่าฟังยิ่ง
กลิ่น หอมๆ รส หวานไซร้ ใคร่อยากอิง
โผฏฐัพพะ ชอบจริง ยิ่งสิ่งใด

ฉันปูทาง ให้กระบี่ แค่นี้นะ
วิธีผละ ช่วยบอกที มีบ้างไหม
หรือกระบี่ ดีในฝัก ชักไม่ไว
ช่วยตอบมา อย่าเฉไฉ ให้ฉันคอย...เฟื่องฟ้า


สวัสดีท่านกระบี่ สวัสดี แม่หิ่งห้อยน้อย และกัลยาณมิตรทุกท่าน...








เสียงกระบี่ ฝ่าลม คมยิ่งนัก
ออกจากฝัก คราใด ให้สะท้าน
เพลงกระบี่ บินเดี่ยว ดูเชี่ยวชาญ
ไว้ปราบมาร หรือเอาไว้ ใช้ป้องตัว...เฟื่องฟ้า

กระบี่งาม มิผลีผลาม ออกจากฝัก
เพราะตระหนัก พื้นฐานหม่น ผลสลัว
ไร้แสงเงา ไร้พลัง ดั่งหมอกมัว
ถูกเพลงยั่ว หรีอเพลงเย้า มิกล้าลอง

ยามชักออก จากฝัก เข้ากวัดแกว่ง
ย่อมอ่อนแรง สำนึกไว้ มิให้ผยอง
ดุจผีเสื้อ ตัวน้อย ค่อยประคอง
ปีกทั้งสอง กระพือไว้ ให้รอดภัย

เห็นผีเสื้อ พี่เฟื่องฟ้า จึงฉุกคิด
มาพินิจ เปรียบทฤษฎี ที่หวั่นไหว ทฤษฎีความอลวน (chaos theory)
ยามผีเสื้อ ขยับปีก โบกแกว่งไกว
คลื่นพายุ ลูกใหญ่ เกิดมากมาย

กระบี่ฯ ใคร่ เลียบเคียง เรียงธรรมะ
ตามผัสสะ แห่งกาม ตามขยาย
ยามอายตนะ พบกัน ใน - นอกกาย
เวทนาหมาย สัญญารับ จับจำจินต์

สัญญาแม้ จำสิ่งใด วิญญาณเกิด
สิ่งประเสริฐ หรือต่ำทราม รู้แจ้งสิ้น
ปัญญารู้ แจ้งสะบัด ชัดในจินต์
จึงถวิล สู่อกุศล หรือกุสลา

กามสัญญา เพาะบ่มไป ในหลายชาติ
ยากตัดขาด จริงแท้ พี่เฟื่องฟ้า
นอกจากเพียร ลด ละ ในกามา
เปลี่ยนสัญญา กันใหม่ ดีไหมเอย



เจริญในธรรมค่ะ




อันผู้น้อย ด้อยรู้ ผู้มาใหม่
อยากจะใคร่ ปุจฉา ปัญหาถาม
เหตุแห่งทุกข์ เกิดแต่ใด ในเขตขาม
แล้วกินกาม เกียรติก่อ เกิดแต่ใด

ขอผู้รู้ ทั้งหลาย วิสัชนา
ตอบปุจฉา ปัญหา คลายสงสัย
ผู้ด้อยรู้ อยากรู้ ซึ่งแก่นใน
ขอให้ไข ใบ้บอก ธรรมอันจริง






อะไรเอ่ย...

ดอกไม้งาม แค่ข้ามวัน พลันร่วงเฉา
มองตัวเรา เปลี่ยนไป ไม่เหมือนก่อน
สิ่งที่เห็น มิยืนยง คงถาวร
วันนี้หนาว พรุ่งนี้ร้อน ย้อนไปมา

กระบี่เอย หน้าอ่อนใส ใครเจ้าของ
ลองก้มมอง ขาที่ยืน บนผืนหญ้า
แขนขาวๆ ลองพินิจ พิจารณา
หมดนี้หนา มีอะไร ใช่ของตน

มีบ้างไหม เป็นของเรา แต่เก่าก่อน
แท้แน่นอน ติดตัวไป ในทุกหน
รับรองได้ ว่าสิ่งนี้ มีทุกคน
ถามอีกหน สิ่งนั้นหรือ คืออะไร...เฟื่องฟ้า

สวัสดีท่านกระบี่ ไร้เงา ขอตรวจสอบก่อนว่ากระบี่ท่านคมแค่ไหน...อิ อิ


สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง (อนิจจัง - อนิจจตา)

สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขา สังขารทั้งปวงคงทนอยู่ไม่ได้ (ทุกขัง- ทุกขตา)

สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งปวงไม่เป็นตัวตน (อนัตตา- อนัตตตา)





นี่แหละหรือ คือทุกข์ มิสุขเหรื่อ
ใยจึงเอื้อ ตัวทุกข์ ให้สุขสันต์
มิใช่สุข แต่เป็นทุกข์ ล้วนทุกอัน
เราเสกสรร ว่าสุข แท้ทุกข์เอย






มิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ประการ

@ ทั้งสี่อย่าง ยกมาโชว์ โอฆะแน่
อาจารย์แม่ ยกพระไตร ไม่เคอะเขิน
ขอน้อมรับ ซับเงื่อ เชื่อเหลือเกิน
เพราะหลงเพลิน เดินไกล พระไตรเอง...พุดเดิล

ฟังถ้อยคำ พุดเดิล เกินคาดคิด
ขอใช้สิทธิ์ ตัวช่วย ด้วยรีบเร่ง
เพื่อมิให้ กระทู้ ดูวังเวง
ฉันไม่เก่ง เท่าแม่ แต่ขอลอง

อันทิฏ โฐฆะ มานะมั่น
มีสิบอย่าง ไม่รู้ทัน พลันหม่นหมอง
เห็นก้อนอิฐ หลงผิด คิดว่าทอง
ตะโกนก้อง ใครค้าน พาลไม่ฟัง


สิ่งเหล่านี้ เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ
แม้ใครริ ถือครอง ดั่งต้องขัง
เหมือนมีหมอก เมฆา มาบดบัง
คอยฉุดรั้ง มิให้ถึง ซึ่งมรรคา

ทิฏฐิหนึ่ง ไม่เชื่อ เบื่อจาคะ ( เชื่อว่าทานถวายแล้วไม่มีผล )
มีโมหะ ว่าทำไป ก็ไร้ค่า
ทิฏฐิสอง ไม่เชื่อกรรม ที่ทำมา ( เชื่อว่ากรรมดี-กรรมชั่วไม่มีผล )
เชื่อชาตินี้ ชาติหน้า ว่าไม่มี ( ทิฏฐิสาม )

ทิฏฐิสี่ ไม่เชื่อบุญ คุณของแม่
พ่อแท้ๆ ยังมีจิต คอยคิดหนี ( ทิฏฐิห้า )
ไม่สนใจ ใครว่า ทรพี
สัตว์ทั้งหลาย ไม่มี ที่เกิดมา ( ทิฏฐิหก )

ทิฏฐิเจ็ด เชื่อว่าตาย มลายสูญ
หลงเทิดทูน ติดใจ ในขันธ์ห้า
ทิฏฐิแปด ไม่เชื่อธรรม คำบูชา ( เชื่อว่าคำหรือของที่บูชาแล้วไม่มีผล )
ไม่เชื่อว่า สักการะ จะก่อบุญ ( ทิฏฐิเก้า )

ทิฏฐิสิบ ทระนง หลงทางผิด
ไม่เคยคิด ยอมรับ สนับสนุน
ผู้ถือมั่น พระธรรม และค้ำจุน
จะต่อเติม เป็นบุญ หนุนสุดทาง (เชื่อว่าไม่มีผู้ปฏิบัติธรรมถึงอริยะ )

อันมิจฉา ทิฏฐินี้ ที่กล่าวมา
ดุจนาวา ลำน้อย ลอยเคว้งคว้าง
ไม่มีวัน ไปถึง ซึ่งตรงกลาง
ต้องอับปาง เพราะลงติด ทิฏฐิเอย...เฟื่องฟ้า


มิจฉาทิฏฐิ 10 อย่าง หมายถึง ความเชื่อผิดทาง(หลงผิด) มีดังนี้.-
1.เชื่อว่าทานถวายแล้วไม่มีผล 2.เชื่อว่าคำหรือของที่บูชาแล้วไม่มีผล 3.เชื่อว่าสักการะไม่มีผล 4.เชื่อว่ากรรมดี-กรรมชั่วไม่มีผล** 5.เชื่อว่าไม่มีโลก(ชาติ)นี้ ไม่มีโลก(ชาติ)หน้า 6.บุญคุณแม่ไม่มี 7.บุญคุณพ่อไม่มี 8.ไม่มีสัตว์ยุคต่างๆเกิดขึ้น 9.เชื่อว่าตายแล้วสูญ 10.ไม่มีผู้ปฏิบัติธรรมถึงอริยะ....
ทั้ง 10 อย่างนี้ เป็นความเชื่อผิดทางไม่ดีทั้งสิ้น ...


สวัสดีคุณพุดเดิล สวัสดีกัลยาณมิตรทุกท่าน...




อันผู้น้อย ด้อยรู้ ผู้มาใหม่
อยากจะใคร่ ปุจฉา ปัญหาถาม
เหตุแห่งทุกข์ เกิดแต่ใด ในเขตขาม
แล้วกินกาม เกียรติก่อ เกิดแต่ใด

ขอผู้รู้ ทั้งหลาย วิสัชนา
ตอบปุจฉา ปัญหา คลายสงสัย
ผู้ด้อยรู้ อยากรู้ ซึ่งแก่นใน
ขอให้ไข ใบ้บอก ธรรมอันจริง ... นันทิ

มิได้เป็น ผู้รู้ ที่รู้แน่
เป็นเพียงแค่ ผู้ศึกษา มารังสรรค์
ขออนุญาต นำแสดง แจ้งเหตุนั้น
เหตุทุกข์ทัน ที่รันทด สลดใจ

เพราะตัณหา พาไป ให้เกิดทุกข์
ไร้ความสุข เศร้าซึม ถึงหม่นไหม้
ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
เป็นแดนเกิด ยิ่งใหญ่ ตัณหาทราม

เมื่อเกิดแล้ว ก็ตั้งอยู่ มิรู้ถอย
ดั่งเฝ้าคอย เจริญไป ในภพสาม
สามตัณหา พาท่อง วัฏฏคาม
ก่อรูปนาม ว่ายเวียนไป ในวัฏฏา

ส่วน กิน กาม เกียรติ ก่อ ล้อกิเลส
ล้วนต้นเหตุ เกิดได้ ด้วยตัณหา
จิตสนิท ใกล้ชิด กามสัญญา
กามตัณหา นำมา พาก่อภพ

เป็นคำตอบ ตามนันทิ ที่ปุจฉา
วิสัชชนา ด้วยสมุทัย ให้แจ้งจบ
อริยสัจ สี่ประการ จารไม่ครบ
จึ่งขอจบ ด้วยเหตุทุกข์ พาทุกข์ทน


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ





จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค


[๑๖๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็ทุกขอริยสัจนี้แล คือ ความเกิดก็เป็นทุกข์ ความแก่ก็เป็นทุกข์ ความเจ็บก็เป็นทุกข์
ความตายก็เป็นทุกข์ ความประจวบด้วยสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้ แม้ข้อนั้นก็เป็นทุกข์
โดยย่อ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์


ก็ทุกขสมุทยอริยสัจนี้แล คือ
ตัณหาอันทำให้มีภพใหม่
ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ
ความเพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ
ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา



ก็ทุกขนิโรธอริยสัจนี้แล คือ
ความดับด้วยการสำรอกโดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นแหละ
ความสละ ความวาง ความปล่อย ความไม่อาลัย


ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจนี้แล คือ
อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ซึ่งได้แก่สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ.








@ ทั้งสี่อย่าง ยกมาโชว์ โอฆะแน่
อาจารย์แม่ ยกพระไตร ไม่เคอะเขิน
ขอน้อมรับ ซับเงื่อ เชื่อเหลือเกิน
เพราะหลงเพลิน เดินไกล พระไตรเอง
...พุดเดิล






บัณฑิตชน คนที่ มีปัญญา
ย่อมคบหา พึ่งพา บัณฑิตแน่
กัลยาณมิตรธรรม ที่จริงแท้
มิมีใคร เทียมแท้ เท่าศาสดา

ขอเปล่งคำ วาจา ว่าสาธุ
ที่ท่านลุ ด่านสะกัด จัดมิจฉา
แม่ขอน้อม สิบนิ้ว ร่วมโมทนา
ให้พุดเดิล ผู้สง่า ฝ่ามืดมนธ์


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ





กระบี่เอย หน้าอ่อนใส ใครเจ้าของ
ลองก้มมอง ขาที่ยืน บนผืนหญ้า
แขนขาวๆ ลองพินิจ พิจารณา
หมดนี้หนา มีอะไร ใช่ของตน

มีบ้างไหม เป็นของเรา แต่เก่าก่อน
แท้แน่นอน ติดตัวไป ในทุกหน
รับรองได้ ว่าสิ่งนี้ มีทุกคน
ถามอีกหน สิ่งนั้นหรือ คืออะไร...เฟื่องฟ้า

มองดูแขน เห็นแขน ก็แขนกระบี่ฯ
มองดูขา ขานี่ ของกระบี่ฯ ไหม
มองไปแล้ว แล้วมองอีก ช่างปะไร
ของกระบี่ฯ ทั้งนั้นไซร้ ใช่ธาตุดิน

รูปสักกายฯ ที่เห็น เช่นพี่ว่า
ต่อเบื้องหน้า ย่อมแตกไป สลายสิ้น
จากธาตุน้ำ สู่น้ำ ดิน สู่ดิน
ธาตุลมสิ้น ทิ้งไออุ่น แห่งธาตุไฟ

เหลือเพียงจิต ดวงเดียว ท่องเที่ยวอยู่
จากเบื้องบน ลงสู่ เบื้องล่างไฉน
พกวิบาก ติดตาม ดวงจิตไป
อุบัติใน ภพใหม่ ไม่เชื่องช้า

คมกระบี่ฯ พอที่ สอบผ่านไหม
ได้คะแนน เท่าไร่ พื่เฟื่องฟ้า
พอจะก้าว เคียงพี่ไป ในมรรคา
ขององค์พระศาสดา ได้ไหม ... เอย.......



เจริญในธรรมค่ะ






ทายาทกรรม...

เหลือเพียงจิต ดวงเดียว ท่องเที่ยวอยู่
จากเบื้องบน ลงสู่ เบื้องล่างไฉน
พกวิบาก ติดตาม ดวงจิตไป
อุบัติใน ภพใหม่ ไม่เชื่องช้า

คมกระบี่ฯ พอที่ สอบผ่านไหม
ได้คะแนน เท่าไร่ พื่เฟื่องฟ้า
พอจะก้าว เคียงพี่ไป ในมรรคา
ขององค์พระศาสดา ได้ไหม ... เอย...กระบี่ไร้เงา


คำตอบท่าน ดุจกระบี่ ดีชั้นเลิศ
น้ำใจท่าน แสนประเสริฐ ที่เปิดเผย
นึกไม่ถึง คำตอบนี้ ดีจังเลย
ฉันเพิ่งเคย รู้ว่าจิต ติดตามตน

ในดวงจิต มีวิบาก ลากไปด้วย
แม้วายม้วย ก็ตามชิด ติดทุกหน
กายดับไป จิตภวังค์ ยังเวียนวน
สัตว์หรือคน ไม่พ้น ผลเหมือนกัน

ใครสร้างกรรม ใครก่อ ก็ต้องรับ ( กรรมดี,กรรมชั่ว )
กรรมเคลื่อนขับ ทำอย่างไร ได้อย่างนั้น
วิบากกรรม ตามไปทั่ว ชั่วกัปกัลป์
มิแปรผัน มิอาจกลบ ลบออกไป

คงไม่กล่าว ต่อไป ให้มากความ
ฉันขอถาม สอบปัญญา ปัญหาใหม่
อนุสัย นั้นหรือ คืออะไร
ช่วยตอบมา ไวไว ได้ไหมเธอ...เฟื่องฟ้า

สวัสดีท่านกระบี่ ท่านนี่ไม่ธรรมดาเลย...


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

๗. ฐานสูตร
[๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๕ ประการนี้ อันสตรี บุรุษ คฤหัสถ์
หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ๕ ประการเป็นไฉน คือ สตรี บุรุษ คฤหัสถ์
หรือบรรพชิต ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้น
ความแก่ไปได้ ๑ เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ ๑
เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ๑ เราจะต้องพลัดพรากจาก
ของรักของชอบใจทั้งสิ้น ๑ เรามีกรรมเป็นของตน เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรม
เป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่ง จักทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่ว
ก็ตาม เราจะเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ๑ ฯ






คงไม่กล่าว ต่อไป ให้มากความ
ฉันขอถาม สอบปัญญา ปัญหาใหม่
อนุสัย นั้นหรือ คืออะไร
ช่วยตอบมา ไวไว ได้ไหมเธอ...เฟื่องฟ้า

เพราะติดกิจ โลกจึงมา ช้าไปหน่อย
พี่เฟื่องฟ้า คงคอย มองชะเง้อ
มาพร้อมลม คมกระบี่ ที่เคยเจอ
ระวังไว้ มิให้เผลอ เจอคมตน

อนุสัย
คือกิเลส เหตุตัณหา
นอนเนื่องมา ในจิตใจ ให้สับสน
ดุจยางเหนียว เกาะเกี่ยวไว้ ในจิตตน
เปรียบสังโยชน์ ในกมล ได้เช่นกัน

ความกำหนัด ในกาม กามราคานุสัย
ใช่จะละ จากจิตได้ ในทุกขันธ์
เข้าเคล้าคลุก ขลุกมา ชั่วกัปกัลป์
เนิ่นนานวัน มิจางไป จากใจเรา

ปฏิฆานุสัย
ความขุ่นข้อง หมอง หงุดหงิด
กระทบกระทั่งจิต ก่อโกรธา พาสู่เขลา
ก่อร่างไว้ กลายโทสา มาดั่งเงา
เข้าคลุกเคล้า เป็นพยาบาท อนาถใจ

ส่วนความเห็น ที่ผิด ติดมิจฉา
ร่วมนอนมา เรียกว่า ทิฏฐานุสัย
เปลี่ยนเห็นชอบ ให้เป็นผิด ติดจิตไป
สู่ภพน้อย ภพใหญ่ เวียนว่ายมา

ความลังเล สงสัย ในกุศล
พาจิตดล ติดอบาย กรายตัณหา
ด้วยทิฏฐิ ดำริผิด จิตจึงพา
วิจิกิจฉา นุสัย
ให้รุ่งเรือง

บ้างถือตัว เย่อหยิ่ง ข้าฯ นี้แน่
ข้าฯ ของแท้ เลิศกว่าใคร ให้กระเดื่อง
มานานุสัย เกาะจิตไว้ ดุจรุ่งเรือง
วางตัวเขื่อง เหนือกว่า ไม่ว่าใคร

สร้างกุศล ดลความดี ไม่มีที่ติ
หมายดำริ เพื่อภพ สบสุขใส
ขอกุศล ดลสุข ทุกชาติไป
เพราะ ภวราคานุสัย นอนเนื่องมา

ด้วยไม่มี ปัญญา นำชีวิต
จึงพาจิต มืดมัว กลั้วตัณหา
ไม่รู้จัก อริยะ แห่งสัจจา
เพาะอวิชชา นุสัย ในจิตตน

อนุสัย ทั้งเจ็ด เด็ดทั้งนั้น
คลุกเคล้ากัน ดุจยางเหนียว เหนี่ยวฉ้อฉล
ให้ทุกจิต ว่ายเวียนไป ในวังวน
ที่มืดมนธ์ ในสงสาร นานเท่านาน



เจริญในธรรมค่ะ







จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค


[๓๓๗] อนุสัย ๗ อย่าง
๑. กามราคานุสัย [สภาพที่นอนเนื่องในสันดานคือความกำหนัดในกาม]
๒. ปฏิฆานุสัย [สภาพที่นอนเนื่องในสันดานคือความกระทบกระทั่งแห่งจิต]
๓. ทิฏฐานุสัย [สภาพที่นอนเนื่องในสันดานคือความเห็น]
๔. วิจิกิจฉานุสัย [สภาพที่นอนเนื่องในสันดานคือความสงสัย]
๕. มานานุสัย [สภาพที่นอนเนื่องในสันดานคือความถือตัว]
๖. ภวราคานุสัย [สภาพที่นอนเนื่องในสันดานคือความกำหนัดในภพ]
๗. อวิชชานุสัย [สภาพที่นอนเนื่องในสันดานคือความไม่รู้]







วิธีละอนุสัย ?

อนุสัย ทั้งเจ็ด เด็ดทั้งนั้น
คลุกเคล้ากัน ดุจยางเหนียว เหนี่ยวฉ้อฉล
ให้ทุกจิต ว่ายเวียนไป ในวังวน
ที่มืดมนธ์ ในสงสาร นานเท่านาน...กระบี่ไร้เงา


ยินกระบี่ ไร้เงา เข้าใจยิ่ง
บอกตามจริง ท่านก็รู้ ดูแตกฉาน
อนุสัย เปรียบดั่ง ดังคล้ายมาร
คำตอบท่าน สอบผ่าน ด่านทดลอง

และด่านนี้ แค่เป็น เช่นประถม
กระบี่คม ตอบมา น่ายกย่อง
เห็นฝีมือ ท่ารำ ดูช่ำชอง
แลแคล่วคล่อง ว่องไว ในท่าที

ย้อนกระทู้ เก่าก่อน ตอนแรกเริ่ม
ท่านฮึกเหิม คล้ายจะ ลองกระบี่
เห็นพุดเดิล แลชม้าย คล้ายลองดี
แค่เฉี่ยวลม คมกระบี่ ก็หนีพลัน

ฝีมือท่าน หากเปรียบ เทียบกับแม่
แม่ฉันแก่ แต่ฉันเชื่อ ว่าเหนือชั้น
ส่วนตัวท่าน มุทะลุ ดูดุดัน
ความเห็นฉัน เป็นเช่นนี้ กระบี่คม

พูดถึงเรื่อง อนุสัย ใคร่ถามต่อ
ที่กล่าวมา แค่ตัดพ้อ พอเหมาะสม
ให้ผู้อ่าน ได้อ่านกลอน ผ่อนอารมณ์
มีหวานขม บางเสี้ยว เปรี้ยวก็มี

อยากจะทราบ วิธีละ อนุสัย
เพื่อให้จิต ไฉไล ใสเต็มที่
ช่วยลองบอก ทำอย่างไร ในวิธี
ท่านกระบี่ อย่าช้า ว่ามาเลย...เฟื่องฟ้า


สวัสดีท่านกระบี่ แม่ฉันหายไปแล้ว คำตอบท่านชัดเจน ถือว่าผ่านด่านประถม






ย้อนกระทู้ เก่าก่อน ตอนแรกเริ่ม
ท่านฮึกเหิม คล้ายจะ ลองกระบี่
เห็นพุดเดิล แลชม้าย คล้ายลองดี
แค่เฉี่ยวลม คมกระบี่ ก็หนีพลัน ...เฟื่องฟ้า


ช่างไม่เหมือน พี่เฟื่องฟ้า มาทักทาย
ดุจกระหาย เพลงกระบี่ ที่ชวนฝัน
เพลงกระบี่ แสนนุ่มนวล หวลรำพัน
ใช่ดุดัน อย่างพี่ว่า น่าลองดี

อยากจะทราบ วิธีละ อนุสัย
เพื่อให้จิต ไฉไล ใสเต็มที่
ช่วยลองบอก ทำอย่างไร ในวิธี
ท่านกระบี่ อย่าช้า ว่ามาเลย...เฟื่องฟ้า


แม้นไม่รีบ กล่าววาจา หาคำตอบ
คงไม่น่า ชื่นชอบ จริงเชียวเหวย (กลอนพาไปนะคะ)
จากอนุบาล สู่ประถม (อิอิอิ..) คมจังเลย
แม้นิ่งเฉย คงร่วงลับ กลับอนุบาล

มีทางเดียว ทางเลิศ ประเสริฐยิ่ง
ใช้ความจริง แห่งอริยา มาผสาน
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา พาถึงกาล
พ้นบ่วงมาร ละอนุสัย ได้ทันที

มรรคทั้งแปด เกิดร่วม เกิดพร้อมกัน
จึ่่งจะบั่น ยางเหนียว ได้เต็มที่
ในขณะจิต ขณะเดียวพลัน บั่นทันที
พาฤดี ขาวพิสุทธิ์ ดุจแก้วงาม


เจริญในธรรมค่ะ






[๓๔๑] สาวัตถีนิทาน (ต้นเหตุของเรื่องที่กรุงสาวัตถี)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุสัย ๗ อย่างนี้ ๗ อย่างเป็นไฉน?
ได้แก่
อนุสัยคือกามราคะ ๑
อนุสัยคือปฏิฆะ ๑
อนุสัยคือทิฏฐิ ๑
อนุสัยคือวิจิกิจฉา ๑
อนุสัยคือมานะ ๑
อนุสัยคือภวราคะ ๑
อนุสัยคืออวิชชา ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุสัย ๗ อย่างนี้แล.


[๓๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘
เพื่อรู้ยิ่ง
เพื่อกำหนดรู้
เพื่อความสิ้นไป
เพื่อละอนุสัย ๗ อย่างนี้แล ฯลฯ
ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ นี้แล ฯลฯ




ขอโอกาส ถามไถ่ ใคร่อยากรู้
ผมอ่านดู ในกระทู้ ชวนสงสัย
มิจฉา ทิฏฐิสิบ อยู่แห่งใด
ในพระใตรฯ ใจอยากรู้ จึงถามมา






ทางทั้งแปด ...

มีทางเดียว ทางเลิศ ประเสริฐยิ่ง
ใช้ความจริง แห่งอริยา มาผสาน
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา พาถึงกาล
พ้นบ่วงมาร ละอนุสัย ได้ทันที

มรรคทั้งแปด เกิดร่วม เกิดพร้อมกัน
จึ่งจะบั่น ยางเหนียว ได้เต็มที่
ในขณะจิต ขณะเดียวพลัน บั่นทันที
พาฤดี ขาวพิสุทธิ์ ดุจแก้วงาม...กระบี่ไร้เงา


อันหนทาง แปดประการ ดุจด่านหิน
ยากทั้งสิ้น กรุณา พาฉันข้าม
ถึงแม้ฉัน นั้นจะ พยายาม
ทุกโมงยาม สุดยากแค้น แสนยากเย็น

ปัญญาชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ
ลองทดสอบ ทำอย่างไร ก็ไม่เด่น
ประพฤติชอบ เหมือนไม้หลัก ปักขี้เลน
หากินชอบ ก็ต้องเข็น เช่นรถรวน

ความพยายาม อุตสาหะ ตบะแย่
เหมือนคนแก่ ทำอะไร ไม่ถี่ถ้วน
สมาธิ ไม่เข้มขลัง ยังแปรปรวน
แปดทางด่วน เหมือนทางอับ เมืองลับแล...เฟื่องฟ้า


ฝีมือท่านกระบี่ไม่เลวเลย...




พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖

ขอโอกาส ถามไถ่ ใคร่อยากรู้
ผมอ่านดู ในกระทู้ ชวนสงสัย
มิจฉา ทิฏฐิสิบ อยู่แห่งใด
ในพระใตรฯ ใจอยากรู้ จึงถามมา
...Wutthi001

เห็นโลโก้ เป็นรูปสงฆ์ องค์ประเสริฐ
ดีใจเลิศ ที่ท่านแสร้ง แกล้งปุจฉา
อันมิจฉา ทิฏฐิสิบ ที่หยิบมา
ดูเหมือนว่า ในพระไตร นั้นไม่มี

ในพระไตร เขียนรวมไว้ มิได้แยก
แต่ไม่แปลก ฉันลองมอง ตรองถ้วนถี่
นับอย่างไร ก็ได้สิบ พอดิบพอดี
ท่านหลวงพี่ เห็นเช่นไร ในเรื่องนี้…เฟื่องฟ้า


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

๗. มหาจัตตารีสกสูตร (๑๑๗)
[๒๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก
ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิ
ของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ แก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังสัมมา-
*สมาธินั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ
[๒๕๓] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมา-
*สมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล
เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ
[๒๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิย่อมเป็น
ประธาน ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาทิฐิว่ามิจฉาทิฐิ
รู้จักสัมมาทิฐิว่าสัมมาทิฐิ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

[๒๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า
ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล
ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี
บิดาไม่มี สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติ
ชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี
นี้มิจฉาทิฐิ ฯ ...


กราบนมัสการหลวงพี่และยินดีที่ได้สนทนาธรรมกับท่าน





เห็นโลโก้ เป็นรูปสงฆ์ องค์ประเสริฐ
ดีใจเลิศ ที่ท่านแสร้ง แกล้งปุจฉา
อันมิจฉา ทิฏฐิสิบ ที่หยิบมา
ดูเหมือนว่า ในพระไตร นั้นไม่มี

ในพระไตร เขียนรวมไว้ มิได้แยก
แต่ไม่แปลก ฉันลองมอง ตรองถ้วนถี่
นับอย่างไร ก็ได้สิบ พอดิบพอดี
ท่านหลวงพี่ เห็นเช่นไร ในเรื่องนี้ ........เฟื่องฟ้า

ทิฏฐิสิบ ก็หยิบมา จากพระไตรฯ
แล้วไฉน บอกไม่ใช่ แปลกนะนี่
ที่ยกมา ก็ครบ สิบพอดี
ขออนุโมทนา คำตอบนี้ ของเฟื่องฟ้า

พระคุณเจ้า รู้ว่ามี อะไรบ้าง
ครบสิบอย่าง ที่กล่าวความ ตามปุจฉา
แม้อ่านตาม มหาจัตตารีสกสูตร ที่ยกมา
ทั้งมิจฉาฯ สัมมาฯ ครบองค์ธรรม

ด้วยมิจฉา ทิฏฐิ ก่อให้เกิด
จุดกำเนิด อกุสลา มาอุปถัมภ์
เพาะ งอกงาม อกุศล ดลระกำ
กุศลธรรม ที่พรายเลื่อม ก็เสื่อมไป

อกุศล ที่มี อยู่ในจิต
ที่ฝังสนิท สถิตอยู่ ชูไสว
ได้มิจฉา ทิฏฐิ ผลิดอกใบ
สว่างไสว ดับกุศล ผลเปลี่ยนพลัน่

ต่อเบื้องหน้า กายา แตกไปแล้ว
จิตมิแคล้ว สู่ทุคติ เป็นที่มั่น
นรก ปิตติวิสัย เดรัจฉาน ไม่ห่างกัน
เพราะจิตนั้น ทิ้งสัมมาฯ พาสู่ทุกข์


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ







จาก ....พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต





[๑๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง
ซึ่งจะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง
เหมือนกับมิจฉาทิฐินี้เลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด
อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น
และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญ ไพบูลย์ยิ่ง ฯ





[๑๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง
ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น
หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป เหมือนกับมิจฉาทิฐินี้เลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด
กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น
และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป ฯ





[๑๘๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง
ซึ่งเป็นเหตุให้มิจฉาทิฐิที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้น
หรือมิจฉาทิฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น
เหมือนกับการทำในใจโดยไม่แยบคายนี้เลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลทำในใจโดยไม่แยบคาย
มิจฉาทิฐิที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น
และมิจฉาทิฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น ฯ





[๑๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง
ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายเมื่อแตกกายตายไป
ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เหมือนกับมิจฉาทิฐินี้เลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฐิ
เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ฯ





ขอเอื้อนเอ่ย คำว่า เจริญพร
บุญในก่อน จงพลัน ดันเกื้อหนุน
อีกทั้งบุญ ปัจจุบัน ช่วยเสริมทุน
ที่ช่วยค้น ช่วยหา กระจ่างใจมล

โยมเฟื่องฟ้า ใช่คน ที่อื่นไกล
เคยอาศัย น้ำใจ ไร้หม่นหมอง
หากตรอง ก็จักรู้ ดังใจปอง
สถานที่ อันมีนาม อัมพาราม

นับตอนนั้น ถึงตอนนี้ 4 ขวบปี
ครั้งเป็นที่ สามเณร ผู้น่ารัก
ถึงตอนนี้ มาเป็นพระ ได้ประจักษ์
แม่หิ่งห้อย หายไปไหน ไม่ใยเลย





นมัสการ พระคุณเจ้า ท่านวุฒิชัย
โยมมิได้ หายไป ที่ไหนหนา
ยังเวียนว่าย วนไป ในวัฏฏา
รอฟังธรรม พระศาสดา มหามุนี

ท่านวุฒิชัย ได้อาศัย บุญเฟื่องฟ้า
สี่ปีที่ เคยได้มา พาสุขศรี
ณ วัดอัมพาราม ชลบุรี
สถานที่ ที่นำบุญ หนุนนานมา

เฟื่องฟ้าได้ ร่วมงาน อธิการกุศล
จากเณรซน มุ่งอ่านเขียน เพียรศึกษา
อีกสามเดือน ก็จักรับ ปริญญา
จากมหา จุฬาฯ น่าชื่นชม


หนึ่งใน 30 ลูกเณร ที่เฟื่องฟ้าเคยได้ถวายภัตตาหาร เจ้าค่ะ
ปัจจุบันท่านเป็นพระนิสิตแห่งมหาจุฬาฯ เจ้าค่ะ


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ







ผมขอกราบ สวัสดี พวกพี่ ๆ
ผมเป็นเด็ก ยังเล็ก หัดศึกษา
ในพระธรรม คำสอน พุทธองค์
เรื่องธรรมะ รู้น้อย ด้อยปัญญา
ผมขอฝาก เป็นศิษ ได้ไหมหนา..


**ผมพึ่งเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ครับ... กลอนก็พึ่งเคยเขียน คงไม่ว่ากันนะครับ







ถึงเป็นเด็ก ยังเล็ก ใฝ่ศึกษา
ในธัมมา ที่ประเสริฐ เกิดสุขขี
แสดงให้เห็น จิตเป็น คนใฝ่ดี
อีกยังมี คารวตา น่าชื่นชม

มาเถิดมา phukim มาร่วมสรรค์
ถ้อยจำนรรจ์ ธัมมา พาสุขสม
ไม่มีรส ใดในหล้า น่าชื่นชม
อีกหอมใด ไม่น่าดม เท่าสัทธรรม

การเริ่มต้น ย่อมแสดง แจ้งในจิต
พร้อมบูชิต ธัมมา พาอุปถัมภ์
ค่อยค่อยเรียน เพียรไว้ใน กุศลกรรม
กุศลวิบาก จักนำ สู่ความเจริญ


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ






เฟื่องฟ้าได้ ร่วมงาน อธิการกุศล
จากเณรซน มุ่งอ่านเขียน เพียรศึกษา
อีกสามเดือน ก็จักรับ ปริญญา
จากมหา จุฬาฯ น่าชื่นชม


อีกสามเดือน ก็จักรับ ก็จริงอยู่
แต่ต้องสู้ กันต่อ ด้วยสิกขา
อีกหนึ่งปี จนกว่า รับปริญญา
ด้วยอาสา สอนเณร ที่สาธิต

พุทธศาสตร์ บัณฑิต (มจรฯ) ผู้ฉลาด
เฟื่องในศาสตร์ พุทธศิลป์ จินต์ฝึกฝน
เรียนจบ นึกว่าได้ สมดั่งกมล
อาสวะล้น ยังไม่พ้น เวียนวัฏฏา





เส้นทางธรรม

โยมเฟื่องฟ้า ใช่คน ที่อื่นไกล
เคยอาศัย น้ำใจ ไร้หม่นหมอง
หากตรอง ก็จักรู้ ดังใจปอง
สถานที่ อันมีนาม อัมพาราม

นับตอนนั้น ถึงตอนนี้ 4 ขวบปี
ครั้งเป็นที่ สามเณร ผู้น่ารัก
ถึงตอนนี้ มาเป็นพระ ได้ประจักษ์
แม่หิ่งห้อย หายไปไหน ไม่ใยเลย...วุฒิชัย


เมื่อแรกเห็น รูปสงฆ์ คงใช่แน่
บุญแท้ๆ ดูคุ้นตา ไม่กล้าเอ่ย
อัมพาราม ถิ่นเก่านี้ ที่คุ้นเคย
พอท่านเผย แสนชุ่มชื่น ระรื่นทรวง

แม่หิ่งห้อย พระอาจารย์ ท่านอิทธิฯ
ให้สติ ให้ฉันรอด ปลอดจากบ่วง
ทุกคำสอน ที่เผย มิเคยลวง
จนลุล่วง บัดนี้หนา เกือบห้าปี

จากเณรน้อย วันนี้เห็น เป็นพระสงฆ์
เปลี่ยนรูปองค์ กลับกลายเป็น เช่นหลวงพี่
สง่างาม ทั้งกายใจ ไร้ราคี
อีกวจี แสนเสนาะ เพราะจับใจ


ส่วน Phukim เข้ามาใหม่ ใสสะอาด
เสมือนญาติ เคยสนิท เคยชิดใกล้
มาเถิดหนา เฟื่องฟ้า จะพาไป
แม้หนทาง จะยาวไกล ใช่ยากเย็น

มีหิ่งห้อย คอยช่วยเหลือ เมื่อเดินหลง
ผลักให้ตรง มิให้เลี้ยว คอยเคี่ยวเข็ญ
คอยส่องแสง ดุจพระจันทร์ คืนวันเพ็ญ
เพื่อให้เรา นั้นได้เห็น เส้นทางธรรม...เฟื่องฟ้า

กราบนมัสการหลวงพี่วุฒิชัย สวัสดีท่าน Phukim และกัลยาณมิตรทุกท่าน





พุทธศาสตร์ บัณฑิต (มจรฯ) ผู้ฉลาด
เฟื่องในศาสตร์ พุทธศิลป์ จินต์ฝึกฝน
เรียนจบ นึกว่าได้ สมดั่งกมล
อาสวะล้น ยังไม่พ้น เวียนวัฏฏา

จะเดินดิน กินข้าวแกง หรือร้านหรู
หากเป็นผู้ ตื่นอยู่ รู้ปัญหา
ย่อมรู้เรียน เพียรชอบ ด้วยปัญญา
คอยขจัด ตัณหา ที่ราวี


ย่อมประเสริฐ กว่าลอยฟ้า นภากาศ
แต่ผงาด ด้วยมานะ ละวิถี
อยู่ฟากฟ้า หรือพื้น ปฐพี
ขอแต่เพียง อย่าเสียที ที่พบธรรม



เจริญในธรรม เจ้าค่ะ








ดุจม้าที่ฝึกมาดี

จะเดินดิน กินข้าวแกง หรือร้านหรู
หากเป็นผู้ ตื่นอยู่ รู้ปัญหา
ย่อมรู้เรียน เพียรชอบ ด้วยปัญญา
คอยขจัด ตัณหา ที่ราวี

ย่อมประเสริฐ กว่าลอยฟ้า นภากาศ
แต่ผงาด ด้วยมานะ ละวิถี
อยู่ฟากฟ้า หรือพื้น ปฐพี
ขอแต่เพียง อย่าเสียที ที่พบธรรม...หิ่งห้อยน้อย


ฟังหิ่งห้อย เอ่ยวาจา พาชื่นจิต
เมื่อพินิจ นี่คือทาง สว่างล้ำ
เปรียบผู้ตื่น ย่อมเป็น เช่นผู้นำ
เช้าจรดค่ำ มิเคยหน่าย คลายพากเพียร

ดุจบัณฑิต ผู้มีใจ ไม่ประมาท
ปัญญาปราชญ์ ผ่องอำไพ ไร้หนามเสี้ยน
ดั่งสายน้ำ ไหลไป ไม่ไหลเวียน
มิแปรเปลี่ยน เป็นผู้ตื่น ทั้งคืนวัน

หากเป็นม้า คือม้าดี ฝีเท้าจัด
เห็นเด่นชัด ถึงเส้นชัย ที่ใฝ่ฝัน
ม้าเกียจคร้าน หากลองเปรียบ เทียบแข่งกัน
ย่อมไม่ทัน ม้ากรำศึก ฝึกมาดี...เฟื่องฟ้า


อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อัปปมาทวรรคที่ ๒

ผู้มีปัญญาดีย่อมละทิ้งผู้มีปัญญาทราม
ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะท่านว่า “เธอประมาทแล้ว ปล่อยเวลาล่วงไป (เปล่า) ยังมาพูดว่า ‘ตัวไม่ประมาท’ และทำผู้ไม่ประมาทให้เป็นผู้ประมาท. เธอเป็นเหมือนม้าตัวทุรพล ขาดเชาว์๑- แล้วในสำนักแห่งบุตรของเรา, ส่วนบุตรของเรานี่ เป็นเหมือนม้าที่มีเชาว์เร็วในสำนักของเธอ”
ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
๖. อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ สุตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสํว สีฆสฺโส หิตฺวา ยาติ สุเมธโส.
ผู้มีปัญญาดี เมื่อชนทั้งหลายประมาทแล้ว ไม่ประมาท,
เมื่อชนทั้งหลายหลับแล้ว ตื่นอยู่โดยมาก ย่อมละบุคคล
ผู้มีปัญญาทรามไปเสีย ดุจม้าตัวมีฝีเท้าเร็ว ละทิ้งตัวหา
กำลังมิได้ไปฉะนั้น.






อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ       สุตฺเตสุ พหุชาคโร
อพลสฺสํว สีฆสฺโส          หิตฺวา ยาติ สุเมธโส.

ผู้มีปัญญาดี
เมื่อสัตว์ทั้งหลายประมาทแล้ว ย่อมไม่ประมาท
เมื่อสัตว์ทั้งหลายหลับ ย่อมตื่นอยู่โดยมาก
ย่อมละบุคคลเห็นปานนั้นไป
ประดุจม้ามีกำลังเร็ว ละม้าไม่มีกำลังไป ฉะนั้น


http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=330&Z=365





เฟื่องฟ้าอัญเชิญ คาถา ธรรมบท
ยากจะอด ใจไม่ร่วม รวมภาษา
ได้ตรัสถึง บุคคลดี มีปัญญา
เปรียบอาชา สุเมธโส โก้ดุจกาญจน์

ย่อมวิ่งเร็ว ปานพายุ ที่พัดมา
ทิ้งวัฏฏา ที่ว่ายไป ในสังสาร
คือ บรรลุ มรรค ผล ยลนิพพาน
มิเหลืองาน เหลือกิจการ ที่ต้องทำ

ส่วนพวกเรา ม้าเขลา ขาดพลัง
เพราะจิตพลั้ง หลงกามา พาถลำ
จิตจึงพลาด เพราะประมาท ในสัทธรรม
จึงถลำ เวียนว่ายไป ในวงวัฏฏ์



เจริญในธรรม เจ้าค่ะ





เมื่อได้ฟัง เรื่องม้า อาชาไนย
นึกสงสัย ขึ้นมา พาฉงน
ควรฝึกตน อย่างไร แจ่มใจตน
โปรดช่วยดล โปรดได้บอก ลอกอวิชชา

How to เป็นสิ่ง สำคัญนัก
หากรู้หลัก รู้เกณฑ์ เบนสงสัย
ยังให้ใจ จิตแจ่ม แฉล้มฤทัย
รู้เอาไว้ ประโยชน์ตน ชนผู้อื่น





เมื่อได้ฟัง เรื่องม้า อาชาไนย
นึกสงสัย ขึ้นมา พาฉงน
ควรฝึกตน อย่างไร แจ่มใจตน
โปรดช่วยดล โปรดได้บอก ลอกอวิชชา....Wutthi001

พระคุณเจ้า กล่าวถามมา สัทธายิ่ง
ในความจริง สิ่งสงสัย ใคร่ปุจฉา
ใคร่ฝึกฝน ตนเยี่ยง ม้าอาชา
เพื่อสำรอก อวิชชา ให้สิ้นไป

แม้นต้องการ จะฝึก ต้องฝึกจิต
ให้สนิท ในธรรมะ ละอนุสัย
การฝึกตน ไม่อาจทิ้ง กิเลสไป
ต้องฝึกที่ ภายใน คิอ จิตตน

ต้องหมั่นเพียร ลด ละ กามราคา
ที่มีอยู่ ในจินตนา น่าฉงน
รูป รส เสียง กลิ่น สัมผัส มัดจิตตน
กามคุณห้า ท่วมท้น ล้นจิตเรา

ทั้งอยากได้ อยากเป็น และอยากมี
ชื่นฤดี ยามได้รับ กลับสู่เขลา
ภวตัณหา ติดตามจิต ชิดดั่งเงา
มันคอยเฝ้า เร้า ล่อใจ ให้ชื่นชม

บางอย่างที่ ได้แล้ว ตามปรารถนา
ยึดไว้ว่า ของเราแท้ แน่สุขสม
อยากให้อยู่ ยั้งหยุดไว้ ได้ชื่นชม
สู่อารมณ์ ภวตัณหา เข้าครองใจ

มีบางอย่าง ไม่ยินดี ที่ให้เกิด
กลับกำเนิด ยากนัก จักผลักไส
ไม่อยากได้ ไม่อยากมี เช่นนี้ไป
วิภวตัณหา มาครองใจ ไว้เนิ่นนาน

เมื่อเข้าใจ สภาวธรรม ต้องนำจิต
ให้ใกล้ชิด พุทธพจนา มาผสาน
ต้อง ละ เลิก จากจิตไป ในทุกกาล
น้อมดวงมาน สู่วิเวก เฉกมุนี

ส่วน How to ทำอย่างไร ใช่เลยท่าน
ต้องผสาน อริยมรรคา พาสู่ศรี
กระทำเหตุ ใช่ทำผล ยลให้ดี
อีกทำที่ จิต นี้ ไม่ใช่กาย



เจริญในธรรม เจ้าค่ะ








สังโยชน์ ๗

เมื่อได้ฟัง เรื่องม้า อาชาไนย
นึกสงสัย ขึ้นมา พาฉงน
ควรฝึกตน อย่างไร แจ่มใจตน
โปรดช่วยดล โปรดได้บอก ลอกอวิชชา...Wutthi001


ขอกราบกราน หลวงพี่ ที่นับถือ
พนมมือ แนวตั้ง ทั้งซ้ายขวา
ขอบพระคุณ ที่ท่าน นั้นถามมา
เป็นปุจฉา ที่ดี มีแยบยล

อันม้าดี อยู่ที่ครู เป็นผู้ฝึก
ม้าใดคึก ได้ครูดี ย่อมมีผล
เจอม้าดื้อ บอกให้นิ่ง ยังวิ่งวน
ครูอาจหล่น ต้องกำราบ ปราบให้ดี

การฝึกม้า หรือฝึกคน บนพื้นฐาน
เพื่อใช้งาน ต้องติวเข้ม อย่างเต็มที่
มีสามอย่าง คือกาย ใจ..วจี
เพียงแค่นี้ ก็วิ่งฉิว ปลิวลอยลม

ไม่ต้องถึง ขั้นผละ ละสังโยชน์
หลวงพี่โปรด อย่าตระหนก เดี๋ยวหกล้ม
เพียงสามอย่าง ง่ายๆ เหมือนคลายปม
ไม่ขื่นขม สุขยิ่ง กว่าสิ่งใด

มีอย่างเดียว ที่ฉัน นั้นเป็นห่วง
กลัวหลวงพี่ หล่นร่วง สู่บ่วงได้
ความสงสัย คือตัวขวาง กั้นทางไป
เพราะนี้คือ อนุสัย ในจิตตน..เฟื่องฟ้า


๙> ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อ
ตัดสังโยชน์ ๗ ประการ ๗ ประการเป็นไฉน คือ สังโยชน์ คือ
ความยินดี ๑
ความยินร้าย ๑
ความเห็นผิด ๑
ความสงสัย ๑
มานะ ๑
ความกำหนัดในภพ ๑
อวิชชา ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมอยู่ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อละ เพื่อตัด
สังโยชน์ ๗ ประการนี้แล





เมื่อวานห่าง กันเพียง หนึ่งนาที
มาวันนี้ สามนาที ที่ทิ้งช่วง
จิตเฟื่องฟ้า กับแม่ กว่าล้านดวง
ดังมีห่วง คล้องไว้ สายไยใจ ...(อิอิอิ... ขอตู่หน่อยนะเจ้าคะ)

ช่วยกันต่อ ช่วยกันเติม เสริมธัมมา
ให้ผู้อ่าน ที่ผ่านมา พาสดใส
ได้ลองลิ้ม ชิมสัทธรรม ชื่นฉ่ำใจ
สร้างอุปนิสัย ต่อไป ในสัมปรายฯ



เจริญในธรรม เจ้าค่ะ









กลับมาอีกที กลอนกวี ก้าวไปไกล
ดูสดใส ด้วยธรรมนัย ชวนสิกขา
มีผู้ถาม มีผู้ตอบ มอบวิสัชชนา
ทั้งเฟื่องฟ้า แม่หิ่งห้อยฯ ไม่น้อยคำ

อีกยังมี พระคุณเจ้า ผู้ใฝ่รู้
มือชั้นครู ร่วมด้วย ช่วยอุปถัมภ์
ข้าฯ กระบี่ฯ ขอคารวะ ทุกทุกคำ
จักขอนำ ธรรมที่ให้ ใส่กมล



เจริญในธรรมค่ะ




ให้อะไรดีที่สุด...

กลับมาอีกที กลอนกวี ก้าวไปไกล
ดูสดใส ด้วยธรรมนัย ชวนสิกขา
มีผู้ถาม มีผู้ตอบ มอบวิสัชชนา
ทั้งเฟื่องฟ้า แม่หิ่งห้อยฯ ไม่น้อยคำ

อีกยังมี พระคุณเจ้า ผู้ใฝ่รู้
มือชั้นครู ร่วมด้วย ช่วยอุปถัมภ์
ข้าฯ กระบี่ฯ ขอคารวะ ทุกทุกคำ
จักขอนำ ธรรมที่ให้ ใส่กมล ...กระบี่ไร้เงา


อันที่จริง เฟื่องฟ้า หาเก่งไม่
แค่อาศัย มีพระไตรฯ ไว้ขุดค้น
เปรียบดนตรี เราต้องเล่น เช่นสากล
เล่นกี่หน วนกี่ครั้ง ยังเหมือนเดิม

ฉันมิกล้า เล่นดนตรี ที่ไร้โน้ต
ต้องขอโทษ กลัวเผลอพลาด มีขาดเพิ่ม
เห็นหลายคน นั้นหนอ ชอบต่อเติม
คนฟังเคลิ้ม นึกว่าดี ที่แท้ลวง

อันพระไตรฯ คือของแท้ เป็นแม่บท
เหมือนดังกฎ ใครไม่ใช้ ให้น่าห่วง
การคิดเอง เหมือนหลอกคน ชนทั้งปวง
คล้ายขุดห้วง วางหญ้าคลุม เป็นหลุมพราง

กระบี่เอย เจ้าเรียนรู้ จากครูไหน
ช่างหัวไว สมคำ ร่ำลืออ้าง
ฝีมือดี เชี่ยวชาญ เกินปานกลาง
มีหลายอย่าง น่าสนใจ ใคร่ทดลอง

เรื่องการให้ อะไรที่ ดีที่สุด
เพื่อมนุษย์ สิ่งนี้ มิมีสอง
ให้อาหาร หรืออะไร ลองไตร่ตรอง
ให้โคมไฟ เอาไว้ส่อง แค่มองทาง

พาหนะ ก็แค่เติม เพิ่มความสุข
ไว้นอนซุก เป็นที่อาศัย เหมือนให้ทุกอย่าง
ให้อะไร ดีกว่านี้ มีไหมนาง
อย่าอำพราง กระบี่เอย โปรดเผยมา...เฟื่องฟ้า

สวัสดีกระบี่ไร้เงา อยากให้ท่านเข้ามาบ่อยๆ...





สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ



เรื่องการให้ อะไรที่ ดีที่สุด
เพื่อมนุษย์ สิ่งนี้ มิมีสอง
ให้อาหาร หรืออะไร ลองไต่ตรอง
ให้โคมไฟ เอาไว้ส่อง แค่มองทาง

พาหนะ ก็แค่เติม เพิ่มความสุข
ไว้นอนซุก เป็นที่อาศัย เหมือนให้ทุกอย่าง
ให้อะไร ดีกว่านี้ มีไหมนาง
อย่าอำพราง กระบี่เอย โปรดเผยมา...เฟื่องฟ้า

อยากจะให้ คนหิว มีข้าวอิ่ม
ใช่ให้ชิม อาหาร ชามใหญ่หนา
แต่ต้องให้ เรียนรู้ คู่ปัญญา
ใช้วิชา เลี้ยงชีวา ไห้ยาวนาน

อยากให้ชน เห็นทาง ไปข้างหน้า
ให้ไฟมา ไว้ส่อง ทางขนาน
ถ้าไฟหมด ไฟเสียไป ให้รำคาญ
มืดอีกนาน แม้ไม่มี ที่ทำไฟ

ให้อะไร ไหนเท่า ให้วิชา
ให้ปัญญา เพื่อกระทำ เหตุเข้าไว้
ถ้าให้ผล ผลกลับ ลับลงไป
ทำเหตุใหม่ ไม่เป็น ก็เช่นกัน

แต่ชีวิต ที่เวียนว่าย ไม่รู้จบ
ยากจะพบ ที่สิ้นสุด สุดโศกศัลย์
สิ่งควรให้ ใช่อื่นใด ไม่เทียมทัน
เท่าให้ ธรรม นำชีวัน ผันจากวัฎฎ์


จะพยายามมาบ่อยๆค่ะ

เจริญในธรรมค่ะ




รูปตามมาทีหลัง...






ขอชื่นชม นักเลงพระ ไตรปิฎก
ที่ได้ยก มาประกอบ ชอบอ่านเขียน
หมดข้อค้าน ผู้อ่านมา ตั้งตาเรียน
ด้วยพากเพียร สิกขา น่าชื่นใจ

ท่านกระบี่ บรรเลงเพลง เก่งเกินคาด
ฉันมิอาจ ตามติด พิชิตไล่
ปัญญาท่าน นั้นกระชับ และฉับไว
เปรียบผีเสื้อ เคลื่อนไหว ยิ่งใหญ่จริง...เฟื่องฟ้า

ผีีเสี้อยาม เคลื่อนไหว ด้วยปีกน้อย
คงต้องคอย ระวังไว ไม่สุงสิง
ทั้ง นก เหยี่ยว เฉี่ยวมา น่ากลัวจริง
ถ้าอยู่นิ่ง ดั่งประมาท อาจถึงตาย

ดุจคนเขลา บอดใบ้ ใจประมาท
ทิ้งโอกาส สิกขาธรรม นำสู่สลาย
ประมาทธรรม ทิ้งไป ให้เสียดาย
ผลสุดท้าย ก็ไม่พ้น วนวัฏฏา

พี่เฟื่องฟ้า สมแล้ว ดั่งแก้วขวัญ
ที่บากบั่น เพ่งเรียน เพียรสิกขา
รอวันที่ เป็นยอด แห่งอาชา
วิ่งฟันฝ่า หลุดวงวัฏฏ์ ไม่กลับจร

พระคุณเจ้า วุฒิชัย คงสุขสันต์
ได้อ่านธรรม คนขยัน บั่นสิงขร
ยกพระไตรฯ มาประกอบ ชอบด้วยกลอน
วิสัชชนา ด้วยคำสอน ด้วยกลอนธรรม


เจริญในธรรมค่ะ





สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
สพฺพํ รสํ ธมฺมรโส ชินาติ
สพฺพํ รตึ ธมฺมรติ ชินาติ
ตณฺหกฺข โย สพฺพทุกฺขํ ชินาติ



การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง
รสแห่งธรรมย่อมชนะรสทั้งปวง
ความยินดีในธรรมย่อมชนะความยินดีทั้งปวง
ความสิ้นตัณหาย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง ดังนี้.






ทิ้งคัมภีร์ หนีกันไป ตามแก่นธรรม
เป็นถ้อยคำ ที่ได้ฟัง น่าใจหาย
ได้ยินมา แถลงไป เป็นกลายๆ
เราทั้งหลาย ต้องช่วยกัน ฝ่าฟันเอย

สำนักใหญ่ คนแยะ แทะพระธรรม
กล่าวลำนำ สวยหรู ดูแปลกหนา
ทิ้งคัมภีร์ หนีไปไหน ช่วยบอกมา
ยึดผีป่า จอมปลวก บวกโลกีย์

มีผู้ทิ้ง แผนที่ ไว้ให้ดู
ก็ยังสู้ อุตส่าห์ บ้าจองหอง
แล้วก็คิด พินิจ หลุดครรลอง
แล้วอย่างนี้ จะช่วย ได้เยี่ยงไร

เมธาวี เมธี ก็มียิ่ง
อีกทั้งสิ่ง ประเสริฐ มีให้เสิร์ช (search)
ยังเตลิด ตะแบง ต้องตะเพิด
เสียทีเกิด มาเป็นพระ น่าอับอาย

ขออภัย ทุกท่าน วาจากร้าว
ดินแดนด้าว แดนดง ดลฉงน
กองกมล กระสรวล ใช่กระวน
คำคมคาย คร่าคน คุณค่า


เจริญในธรรม แม่หิ่งห้อยน้อย (เมื่อไรจะใหญ่สักที) คุณโยมเฟื่องฟ้า กระบี่ไร้เงา และกัลยาณมิตรทุกๆท่าน





พระคุณเจ้า กล่าวมา น่าใจหาย
ธรรมกลับกลาย แตกไป ในมิจฉา
เพราะยึดมั่น อุปาทานขันธ์ มั่นอัตตา
ธรรมที่เกิด กับตัวข้าฯ นั่นแหล่ะจริง

ทางใดโปร่ง ทางใดง่าย นั่นแหล่ะใช่
แต่งเติมไป ไร้ หิริ ธรรม นำมารสิง
แผนที่ ดี ของศาสดา กลับมาทิ้ง
ให้อ้างอิง ตำราแต่ง ที่สร้างมา

พระคุณเจ้า อย่าอาลัย ไปผูกพัน
ยกจิตให้ ตั้งมั่น ในสาสนา
ยึดคำสอน ขององค์ พระศาสดา
น้อมนำมา อบรมไว้ ให้นานนาน

อรหัตมรรค สิ่งประเสริฐ อบรมไว้
อย่าใส่ใจ มารที่กวน ล้วนสังขาร
ก้าวเดินตาม ทางพุทธ หลุดทางมาร
บั่นให้ราญ ผลาญให้สิ้น ถิ่นวัฏฏา



เจริญในธรรม เจ้าค่ะ








สำนักใหญ่ คนแยะ แทะพระธรรม
กล่าวลำนำ สวยหรู ดูแปลกหนา
ทิ้งคัมภีร์ หนีไปไหน ช่วยบอกมา
ยึดผีป่า จอมปลวก บวกโลกีย์ ... Wutthi001

ในหลักสูตร ที่ท่านเรียน ก็ใช่หยอก
นำของพม่า มาหลอก ไร้ศักดิ์ศรี
แต่งบิดเบือน เลือนหาย จากคัมภีร์
คำสอนองค์ ภูมี มาเปลี่ยนไป

พระองค์เสด็จ ลงมา จากปราสาท
ยุรยาตร บนดิน ถิ่นอาศัย
แต่ปัจจุบัน สมณศักดิ์ เลื่อนกันไป
พากันไขว่ พากันคว้า มาหาตัว

เป็นหน้าที่ ของเรา ชนชาวพุทธ
อย่าสะดุด แค่ตำรา น่าพาหัว
จงศึกษา ในพระไตรฯ ใส่จิตตัว
พร้อมจะรัว กลองธรรม นำก้าวไป



เจริญในธรรมค่ะ





.







ขอร่วมอภิวาทบูชา            องค์พระศาสดา
ผู้เปี่ยมล้นพ้นคุณ

นอบน้อมสัทธรรมที่หนุน      และได้ค้ำจุน
มนุษย์และหมู่เวไนย

นมัสการสงฆ์ของภูวไนย      ทิ้งตัณหาไกล
เดินตามรอยบาทศาสดา

นมัสการยอกรวันทา          พระคุณเจ้าจารมา
สิ่งเกิดยากในไตรภพ

กระบี่ไร้เงา ขอจรด           สองกรประณต
ขอร่วมบูชาทรงธรรม

ชาตินี้ขอสร้างกุศลกรรม     เพื่อน้อมและนำ
สู่ทางขององค์ศาสดา

มิได้เสียทีเกิดมา             พบพุทธศาสนา
รีบเร่งเพื่อสร้างความเพียร

สัมปธานสี่ที่เรียน            คือสี่งที่เพียร
ให้เกิดภายในจิตตน

ธรรมอื่นใดที่สับสน          มิน้อมสู่ตน
นอกจากคำสอนศาสดา

ขอมั่นในพุทธศาสนา       ทั้งกาย วาจา
และจิตขอน้อมยอมพลี


เจริญในธรรมค่ะ








ทุกข์อันไม่น่ายินดี ปรี่เต็มล้น
นำกมล ผู้ประมาทไว้ ในสังสาร์
กลับยินดี ทวียิ่ง เกินอุปมา
ด้วยเห็นว่า เป็นที่น่า พายินดี

และยังมี ทุกข์อัน ไม่น่ารัก
กลับประจักษ์ ว่าน่ารัก น่าเสริมศรี
ผู้ประมาท พลาดแล้ว มิแคล้วราคี
พุทธวจี ตรัสไว้ ให้พิจารณา

ทุกข์ทั้งหลาย ในกาม ลามสู่จิต
กลับเพลินพิศ แนบสนิท ติดมิจฉา
ผู้ประมาท ย่อมหลงใหล ในกามา
เห็นทุกขา ว่าเป็นสุข สนุกใจ

ผู้ประมาท คำนี้ น่าเชื่อถือ
คำเล่าลือ ที่ดูเด่น เป็นไฉน
คำว่า ประมาท คำนี้หรือ คืออะไร
ขอทิ้งไว้ ให้พินิจ พิจารณา


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ





จากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต สุปปวาสาสูตร


ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว
ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า

ทุกข์อันไม่น่ายินดี
ย่อมครอบงำคนผู้ประมาท
โดยความเป็นของน่ายินดี

ทุกข์อันไม่น่ารัก
ย่อมครอบงำคนผู้ประมาท
โดยความเป็นของน่ารัก

ทุกข์ทั้งหลาย
ย่อมครอบงำบุคคลผู้ประมาท
โดยความเป็นสุข ฯ



http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=1870&Z=1976





นมัสการ ท่านหลวงพี่ ที่เคารพ
ขอน้อมนบ สวัสดี ท่านทั้งหลาย
ผมนั้นหนา สุดดีใจ เกินบรรยาย
เห็นความรู้ ตั้งมากมาย ในที่นี้
จึงใคร่อยาก ฝากตัว เป็นศิษย์ท่าน
ขอโปรดได้ เอ็นดู อย่าถือสา
ผมเป็นเด็ก ศึกษาธรรม แต่นานมา (1ปี ความรู้ยังไม่แน่นเลยครับ)
ท่านทั้งหลาย โปรดเมตตา ช่วยต่อเติม
เห็นวาจา ท่านกระบี่ ดูเฉียบขาด
แม่หิ่งห้อย ก็เก่งกาจ ในคำสอน
กล่าวถึงท่าน เฟื่องฟ้า ก็เก่งกลอน
ผูกคำสอน ศาสดา พาน่าฟัง
แต่ว่าไป ลืมไม่ได้ ท่านผู้นี้
ท่านหลวงพี่ ช่างปุฉฉา เป็นคำสอน
ผูกลงไป เขียนไว้ เป็นบทกลอน
ช่วยสั่งสอน ใครพลาดพลั้ง ให้ดูดี
ผมนี้ขอ นับถือ ด้วยใจจริง

ขอผมถาม คำถาม ซักหนึ่งข้อ
ใคร่ว่าคิด จะลองดี หาใช่ไม่
ไหนก็ผูก บทกลอนข้างต้น ไว้มากมาย
ก็มิวาย นึกคำถาม ได้ขึ้นมา
อยากถามว่า สิ่งใดเป็น ยอดธรรมคำสั่งสอน
อยากขอให้ ท่านทั้งหลาย โปรดช่วยตอบ
ให้ผมหาย ข้องใจ ไร้สงสัย
ขอขอบคุณ ไว้ล่วงหน้า ด้วยจิตใจ
เพราะผมนั้น คงไม่ได้ มาบ่อยนัก







กราบนมัสการพระคุณเจ้า และท่านหิ่งห้อยน้อย ท่านเฟื่องฟ้า ท่านกระบี่ และกัลยาณมิตรทั้งหลาย ผมมาใหม่มีอะไรชี้แนะหน่อยนะครับ











พุทธศาสนา เป็นคำสอน ด้วยเหตุผล
ใช่รอสิ่ง ใดดล ก็หาไม่
สิ่งทุกอย่าง เกิดจาก มีเหตุไซร้
ผลจึงได้ ปรากฏ ดั่งทัสนา

ทรงตรัสรู้ ธรรมเลิศ ประเสริฐยิ่ง
คือความจริง ที่ยิ่งใหญ่ ควรศึกษา
เมื่อตรัสสอน ก็ทรงสอน ในสัจจา
ทุกครั้งที่จบ เทศนา ทุกครั้งไป

ตอบคำถาม ยอดธรรม คำสั่งสอน
ดั่งบทกลอน ที่แจ้ง แถลงไข
นั่นก็คือ อริยสัจ คงเข้าใจ
Fair slave คงพอใจ ในวิสัชนา


เจริญในธรรมค่ะ




ตอบคำถาม ยอดธรรม คำสั่งสอน
ดั่งบทกลอน ที่แจ้ง แถลงไข
นั่นก็คือ อริยสัจ คงเข้าใจ
Fair slave คงพอใจ ในวิสัชนา


ขอขอบคุณ กระบี่ศรี ที่ช่วยตอบ
ช่วยมาบอก ให้ผมแจ้ง แถลงไข
ว่าอริยสัจ คือยอด ในพระไตรฯ
แล้วสิ่งใด ในอริยสัจ ที่สำคัญ?

ขออีกข้อ ไม่เข้าใจ เล่าจึงถาม
จะขอตาม รอยเท้า ศาสนา
เมื่อไม่รู้ ก็ขอรู้ แจ้งธรรมมา
วานกระบี่มา บอกด้วย ให้เข้าใจ

ธรรมใน พระศาสนา มีมากหลาย
เรียนจนตาย คงไม่หมด เรื่องศาสนา
ถึงอยากจะ ละกิเลส แต่ไหนมา
ก็ยังมี เหล่าตัณหา มาวุ่นวาย




พระธรรมจะรักษาคนดี






ปัญญาพาสำเร็จ

ธรรมใน พระศาสนา มีมากหลาย
เรียนจนตาย คงไม่หมด เรื่องศาสนา
ถึงอยากจะ ละกิเลส แต่ไหนมา
ก็ยังมี เหล่าตัณหา มาวุ่นวาย ...Fair slave

คำสั่งสอน ศาสดา น่ายกย่อง
ทุกมุมมอง ล้วนแต่ดี มีค่าหลาย
Fair slave พรากเพียร เรียนจนตาย
ตั้งแต่ต้น จนปลาย จนหน่ายพลัน

พุทธองค์ กล่าวไว้ ในไตรปิฎก
ทรงหยิบยก อย่าเห็น เป็นน่าขัน
เมื่ออ่านดู ท่านจะคลาย หายงงงัน
ขอยืนยัน จงอ่าน อย่าผ่านไป

ท่านให้ใช้ ปัญญา ค้นคว้าเลือก
จะเอาแก่น หรือเปลือก เลือกเป็นไหม
พอเจอแก่น แต่กลับทิ้ง เลือกกิ่งใบ
เพราะอะไร ก็จงคิด พินิจดู...เฟื่องฟ้า


สวัสดีท่าน Fair Slave และสมาชิกทุกท่าน

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๒ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์




๑๐. จูฬสาโรปมสูตร
อุปมานักบวชกับผู้แสวงหาแก่นไม้


[๓๕๔] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีความต้องการ
แก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ละเลยแก่น ละเลย
กระพี้ ละเลยเปลือก ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่งและใบถือไป สำคัญว่าแก่น บุรุษผู้มีจักษุเห็น
เขาผู้นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า บุรุษผู้เจริญนี้ ไม่รู้จักแก่น ไม่รู้จักกระพี้ ไม่รู้จักเปลือก ไม่รู้จัก
สะเก็ด ไม่รู้จักกิ่งและใบ จริงอย่างนั้น บุรุษผู้เจริญนี้ มีความต้องการแก่นไม้ แสวงหาแก่นไม้
เที่ยวเสาะหาแก่นไม้อยู่ เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ละเลยแก่น ละเลยกระพี้ ละเลยเปลือก
ละเลยสะเก็ดไปเสีย ตัดเอากิ่งและใบถือไป สำคัญว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้แก่นของเขา จักไม่สำเร็จประโยชน์ ...






ท่านให้ใช้ ปัญญา ค้นคว้าเลือก
จะเอาแก่น หรือเปลือก เลือกเป็นไหม
พอเจอแก่น แต่กลับทิ้ง เลือกกิ่งใบ
เพราะอะไร ก็จงคิด พินิจดู...เฟื่องฟ้า

ขอขอบคุณ พี่เฟื่องฟ้า เมตตาสอน
ฝากข้อคิด หลายหลากไว้ ในบทกลอน
เมื่อท่านสอน ผมขอจำ มิเลือนลืม
คิดดูแล้ว น่าสังเวช ตัวเองเองนัก
ที่ไม่ยึด ตามหลัก คำสั่งสอน
มั่วตัณหา พาเพลิน หลีกครรลอง
ดังนั้นจึง ได้สิ่งของ ไร้ต้องการ
ความอยากได้ ในตัวใบ หาใช่ไม่
ต้องการแก่น ไม่ใช่ใบ โง่หนักหนา
ดังนั้นจึง ต้องคิด พิจารณา
สักแต่ว่า อ่านผ่านไป ไม่ไตร่ตรอง

ขอขอบคุณสำหรับคำสอนที่เป็นประโยชน์ของพี่เฟื่องฟ้า ครับผม











Namasakar...and bow on my knees to all dhamma preachers,
i lay my ego to her Mother Earth who always keep the TRUTH of dhamma,
Thanks for every guidance i ever read it today,
oneday i could possibly share the voice of dhamma to the world;
but i know not much about English,
you may help me to improve my practice of dhamma,
to be upper level,
to know myself and conquer MARA in me





สวัสดีเจ้าค่ะท่าน yingzaa2010

ขอต้อนรับ ผู้ใฝ่ธรรม จากแดนไกล
ผู้มีใจ ในกุศล ดลสุขขี
หิ่งห้อยน้อย น้อมรับ ด้วยยินดี
แม้นบุญมี คงได้ช่วย ได้อวยธรรม

อยู่ถิ่นใด แม้จิต ชิดกุสลา
นี้นมีค่า เพราะกุศล ดลอุปถัมภ์
กายลำบาก แต่ใจ ไม่ระกำ
จิตจักไม่ ถลำ สู่ห้วงตม

เชิญเถิดท่าน เชิญมาร่วม ร้อยลำนำ
ขับเพลงธรรม ให้เบิกบาน ปานสุขสม
ภาษาใด ใช้สื่อได้ ไม่ระทม
ให้ภาษาธรรม ก้องระงม ในจินตนา



เจริญในธรรม เจ้าค่ะ






ภาษาธรรมย่อมล้ำค่า

ชนชาติใด ภาษาใด ใช่ปัญหา
ของเพียงแต่ มีศรัทธา อย่าสงสัย
ท่านYingsaa เอ่ยวาจา น่าชื่นใจ
หวังพาศาสน์ สู่แดนไกล ให้โลกยล

เพียงคิดดี ทำดี มีจาคะ
ตัดโมหะ ไม่ช้าคลาย หายหมองหม่น
ทิ้งอัตตา อย่าทะนง หลงตัวตน
อย่าปล่อยให้ กิเลสล้น จนพอกพูน

ฉันไม่เก่ง เริ่มศึกษา มาหยกๆ
เหมือนลูกนก ออกจาป่า ค่าแค่ศูนย์
แม่หิ่งห้อย คอยช่วยเหลือ คอยเกื้อกูล
นำข้อมูล จากพระไตรฯ ให้ฉันตรอง

ฉันเวียนวน อยู่ในโลก แสนโศกเศร้า
ด้วยความเขลา หลงความสุข จนทุกข์หมอง
ดีว่ามี แม่หิ่งห้อย คอยประคอง
คอยชี้ช่อง ให้ฉันเห็น เด่นทางธรรม

ภาษากาย ภาษาใด ไหนดีกว่า
ภาษาธรรม นั้นหนา มีค่าล้ำ
แสนเสนาะ มิใช่น้อย ทุกถ้อยคำ
ได้ดื่มด่ำ ครั้งใด ให้สุขจริง...เฟื่องฟ้า

สวัสดีท่าน Yingsaa และสมาชิกทุกท่าน





สวัสดีเจ้าค่ะท่าน yingzaa2010

ขอต้อนรับ ผู้ใฝ่ธรรม จากแดนไกล
ผู้มีใจ ในกุศล ดลสุขขี
หิ่งห้อยน้อย น้อมรับ ด้วยยินดี
แม้นบุญมี คงได้ช่วย ได้อวยธรรม

อยู่ถิ่นใด แม้จิต ชิดกุสลา
นี้นมีค่า เพราะกุศล ดลอุปถัมภ์
กายลำบาก แต่ใจ ไม่ระกำ
จิตจักไม่ ถลำ สู่ห้วงตม

เชิญเถิดท่าน เชิญมาร่วม ร้อยลำนำ
ขับเพลงธรรม ให้เบิกบาน ปานสุขสม
ภาษาใด ใช้สื่อได้ ไม่ระทม
ให้ภาษาธรรม ก้องระงม ในจินตนา



เจริญในธรรม เจ้าค่ะ








ขอขอบคุณ กระบี่ศรี ที่ช่วยตอบ
ช่วยมาบอก ให้ผมแจ้ง แถลงไข
ว่าอริยสัจ คือยอด ในพระไตรฯ
แล้วสิ่งใด ในอริยสัจ ที่สำคัญ? ...Fair slave

ขอถาม Fair slave ก่อนการตอบ จะได้ไหม
ว่าสิ่งใด ในอริยสัจจา น่ารังสรรค์
ที่จัดว่า เป็นสิ่ง ยิ่งสำคัญ
ให้ท่านได้ เข้าใจพลัน และยินดี

อะไรคือ สิ่งที่เรา ชาวพุทธะ
ที่เพียรละ อกุศล เพื่อยลสิ่งนี้
กิจที่ทำ ให้สำเร็จ เสร็จกันที
นั่นแหล่ะคือ คำตอบที่ Fair slave ต้องการ

ทุกขนิโรธ เป็นสิ่ง ที่ประเสริฐ
สิ่งที่เลิศ ในอริยสัจจ์ คือคำขาน
เพราะเป็นผล ที่ทุกคน ล้วนต้องการ
ความดับทุกข์ นิพพาน คือสุขจริง



ขออนุญาตท่านกระบี่ฯ เจ้าค่ะ

เจริญในธรรม เจ้าค่ะ






ขอถาม Fair slave ก่อนการตอบ จะได้ไหม
ว่าสิ่งใด ในอริยสัจจา น่ารังสรรค์
ที่จัดว่า เป็นสิ่ง ยิ่งสำคัญ
ให้ท่านได้ เข้าใจพลัน และยินดี...แม่หิ่งห้อย

ขอบคุณท่าน แม่หิ่งห้อย ช่วยมาถาม
ลูกขอตอบ ไปตาม ที่รู้หนา
ถ้าลูกตอบ ลูกขอตอบ ว่ามรรคา
เพระเป็น ทางนำพา พ้นทุกข์ทน

อะไรคือ สิ่งที่เรา ชาวพุทธะ
ที่เพียรละ อกุศล เพื่อยลสิ่งนี้
กิจที่ทำ ให้สำเร็จ เสร็จกันที
นั่นแหล่ะคือ คำตอบที่ Fair slave ต้องการ...แม่หิ่งห้อย

สิ่งที่ลูก พากเพียร และเรียนรู้
เพื่อหวังสู่ จะได้ดับ ซึ่งตัณหา
ดับความทุกข์ อยากมีสุข ชื่นอุรา
ปราศจาก อกุศลา มาพัวพัน

ทุกขนิโรธ เป็นสิ่ง ที่ประเสริฐ
สิ่งที่เลิศ ในอริยสัจจ์ คือคำขาน
เพราะเป็นผล ที่ทุกคน ล้วนต้องการ
ความดับทุกข์ นิพพาน คือสุขจริง...แม่หิ่งห้อย

ขอบขอบคุณ ที่สุด กับคำตอบ
ที่มาบอก ให้ลูกพบ ซึ่งทางใหม่
ความดับทุกข์(นิโรจ) ต่างหาก ที่ว่าไป
ทำจิตใจ ได้บรรลุ สู่นิพพาน




สวัสดีทุกๆท่าน และขอขอบคุณแม่หิ่งห้อย
ขออนุญาติเรียกแม่นะครับเพราะผมอายุเพิ่งจะ15เองครับ




ขอบคุณท่าน แม่หิ่งห้อย ช่วยมาถาม
ลูกขอตอบ ไปตาม ที่รู้หนา
ถ้าลูกตอบ ลูกขอตอบ ว่ามรรคา
เพระเป็นทาง นำพา พ้นทุกข์ทน ... Fair slave

ขึ้นอยู่กับ Fair slave เลือก ในสิ่งใด
เหตุน้อยใหญ่ หรือใฝ่ ในสิ่งผล
Fair slave ตอบมา ให้ยินยล
กระทำเหตุ ให้เกิดผล สู่นิพพาน

เมื่อจะหวัง สู่ความดับ แห่งตัณหา
จึ่งต้องเพียร สิกขา มาผสาน
ทุกขนิโรธคามินิปฏิปทา ทรงประทาน
เหตุควรน้อม ก้มกราน ปฏิปทา

สิ่งที่ลูก พากเพียร และเรียนรู้
เพื่อหวังสู่ จะได้ดับ ซึ่งตัณหา
ดับความทุกข์ อยากมีสุข ชื่นอุรา
ปราศจาก อกุศลา มาพัวพัน ... Fair slave

สิ่งที่ลูก Fair slave หมั่นเรียนรู้
เพื่อก้าวสู่ บรมสุข ที่สุขสันต์
จึงต้องใช้ มรรคา มาเดินพลัน
เพื่อจะบั่น รากตัณหา ให้ิสิ้นไป

นั่นแหล่ะคือ สิ่งสำคัญ ในชั้นเหตุ
กระทำเหตุ เพื่อเกิดผล ดลจิตใส
เดินตามทาง พุทธองค์ ที่ตรัสไว้
จงมั่นใจ ผลที่ให้ ไม่เปลี่ยนแปลง

ดั่งปลูกข้าว หว่านข้าวไป ในนาดี
ผลทวี เพราะพันธุดี ไม่มีแสลง
แม้นพันธ์ดี หว่านไป ที่นอกแปลง
ดั่งผลแกล้ง ไม่ได้ ดั่งใจปอง

Fair slave หว่านข้าว ได้ข้าวแน่
ไม่เปลี่ยนแปร เป็นถั่ว งา มาสนอง
เดินตามมรรค ย่อมได้ผล ตามครรลอง
อริยะที่หนึ่ง สอง สามและสี่ นี้ตามมา


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ







ทุกข์อันไม่น่ายินดี ปรี่เต็มล้น
นำกมล ผู้ประมาทไว้ ในสังสาร์
กลับยินดี ทวียิ่ง เกินอุปมา
ด้วยเห็นว่า เป็นที่น่า พายินดี

และยังมี ทุกข์อัน ไม่น่ารัก
กลับประจักษ์ ว่าน่ารัก น่าเสริมศรี
ผู้ประมาท พลาดแล้ว มิแคล้วราคี
พุทธวจี ตรัสไว้ ให้พิจารณา

ทุกข์ทั้งหลาย ในกาม ลามสู่จิต
กลับเพลินพิศ แนบสนิท ติดมิจฉา
ผู้ประมาท ย่อมหลงใหล ในกามา
เห็นทุกขา ว่าเป็นสุข สนุกใจ

ผู้ประมาท คำนี้ น่าเชื่อถือ
คำเล่าลือ ที่ดูเด่น เป็นไฉน
คำว่า ประมาท คำนี้หรือ คืออะไร

ขอทิ้งไว้ ให้พินิจ พิจารณา

แต่เนื่องจาก กระทู้นี้ ยาวมากแล้ว
คงไม่แคล้ว ต้องขึ้นใหม่ ใคร่ปุจฉา
เพื่อเสริมสร้าง พลัง และสัทธา
เสริมคุณค่า ปัญญา สร้างบารมี

จึงขอเชิญ ทุกท่านสู่ กระทู้ใหม่
คลายสงสัย คลายกังขา พาสู่ศรี
บ้างปุจฉา บ้างวิสัชนา น่ายินดี
ร่วมกันสร้าง บารมี ที่ปัญญา


ขอเรียนเชิญผู้อ่านทุกท่านที่กระทู้ใหม่ ที่ 0045 ตามลิงค์นี้ค่ะ

http://www.dhammathai.org/kaveedhamma/dbview.php?No=45


เจริญในธรรม เจ้าค่ะ





 เปิดอ่านหน้านี้  5670 

  แสดงความคิดเห็น



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย