"ขันติ โสรัจจะ" (สมเด็จพระญาณสังวร)

 วิริยะ12  

 "ขันติ โสรัจจะ"

"สีลสมาธิคุณานํ ขนฺติ ปธานการณํ
สพฺเพปิ กุสลา ธมฺมา ขนฺตฺยาเยว วฑฺฒนฺติ เต"


พระพุทธศาสนสุภาษิต บทนี้แปลความว่า ..
"ขันติเป็นประธาน เป็นเหตุ แห่งคุณคือศีลและสมาธิ กุศลธรรมทั้งปวงย่อมเจริญ เพราะขันติเท่านั้น"

" .. "ขันติ ความอดทน" ความทนทานอย่างสามัญ "อย่างสามัญที่มีความอดกลั้นเป็นลักษณะ เรียกว่า อธิวาสนขันติ ขันติคือความอดกลั้น" เช่น "ทนตรากตรำต่อ หนาว ร้อน หิว กระหาย" เป็นต้น

ทนลำบากต่อทุกขเวทนาในเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย "ทนต่อความเจ็บใจ ต่อถ้อยคำ จาบจ้วงล่วงเกิน" เพราะสิ่งที่อดทนเหล่านี้มีเกิดขึ้นอยู่ที่กาย ใจ ปรากฎมีหนาว ร้อน หิว กระหาย "มีทุกขเวทนา มีความเจ็บใจ จึงอดกลั้นไว้"

หนาว ร้อน หิว กระหาย ก็อดกลั้นตามที่ควรอดกลั้น "เจ็บปวดก็อดกลั้นไม่ร้องทุรนทุราย" เจ็บใจก็อดกลั้นไม่แสดงอาการโกรธร้ายแรงทางกาย วาจา "อดกลั้นให้อยู่ในใจและพิจารณาระบายออก ทำให้ผ่อนคลาย ไม่ให้เครียด ให้สงบ ใจจึงแจ่มใสแช่มชื่น กายก็สงบเป็นปกติ อาการดังนี้เรียกว่า โสรัจจะ" ที่แปลว่าความเสงี่ยมคือสงบปกติ

"ขันติที่สมบูรณ์จึงต้องมีโสรัจจะ ประกอบอยู่ด้วย" การหัดอดกลั้นและทำใจให้สงบ เป็นปกติในเวลาต้องอนิฏฐารมณ์ คือเรื่องที่ไม่ชอบ ย่อมยากในตอนแรก "แต่เมื่อหัดปฏิบัติบ่อยเข้า ก็จะง่ายขึ้น จนถึงทำจิตให้สงบเป็นปกติได้ มีอาการมั่นคง มีอารมณ์อะไรมากระทบกระทั่งก็ไม่กระเทือน ขันติก็เลื่อนขึ้นเป็นมีความทนทานเป็นลักษณะ เรียกว่าตีติกขาขันติ"

"ขันติคือ ความทนทาน" ดังที่ตรัสไว้ในโอวาทปาฎิโมกข์ว่า "ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา" ขันติ คือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง "ขันติเป็นอลังการวิเศษ" อำนวยผลแก่ผู้ที่มีอยู่ทุกคน "เพราะผู้ที่มีจิตใจเข็มแข้งอดทนสงบอยู่เป็นปกติ ทนทานได้ทุกสถานการณ์ ย่อมชื่อว่าได้ที่ตั้งรับอันมั่นคง เป็นผู้ชนะในขั้นที่ตั้งรับแล้ว" ทำให้สามารถปฎิบัติกิจหน้าที่ให้สำเร็จ .. "

สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ ๑๙
 

5,693







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย