"หลวงปู่เจี๊ยะพบหลวงปู่ขาว" (หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)

 วิริยะ12    27 ก.พ. 2563

 "หลวงปู่เจี๊ยะพบหลวงปู่ขาว"

" .. หมู่เอ๋ย ... สาเหตุที่ผมจะเคารพรักหลวงปู่ขาวมาก ก็เพราะท่านพระอาจารย์มั่นนั้นเองเป็นผู้รับรอง จึงขอเล่าย้อนอดีตให้พวกท่านฟัง เรื่องที่ท่านพระอาจารย์มั่น ชมเชยหลวงปู่ขาวมากนั้น ผมได้ฟังมากับหูว่า "ท่านขาวเป็นพระสำคัญมากนะ หมด(กิเลส)แล้วนะเจี๊ยะ ให้จับตาดูไว่ให้ดีจะเป็นที่พึ่งได้"

เมื่อผมได้ยินท่านพระอาจารย์มั่นพูดดังนั้น ผมก็ฮึดฮัดชื้นมาในใจอยากเจอ อยากพบ อยากเห็น เพราะปกติแล้วท่านพระอาจารย์มั่นท่านจะไม่ชื่นชมใครง่าย ๆ แสดงว่าพระรูปนั้นไม่ธรรมดาแน่นอน ต้องมีอะไรที่เราจะสามารถค้นคว้าเอาจากท่านได้และสิ่งนั้นคือธรรม

.. พบหลวงปู่ขาว ..

พระอาจารย์เจี๊ยะเล่าให้พระฟังต่อว่า .. เมื่อผมออกจากท่านพระอาจารย์มั่นไปแล้ว ก็รอนแรมตามที่ต่าง ๆ เพื่อเสาะแสวงหาหลวงปู่ขาวใหญ่เลย เที่ยวตามหาเสมอในเวลาออกเที่ยวธุดงค์ อยากทราบว่าหลวงปู่ขาวอยู่ที่ไหน "ในที่สุดผมก็ไปเจอหลวงปู่ขาวจนได้" ในที่แห่งหนึ่ง

ถามพระรูปหนึ่งว่า "หลวงปู่ขาวองค์ไหน"
พระรูปนั้นชี้บอกว่า "โน้น ... รูปโน่นหลวงปู่ขาว ... อยู่ท้ายสุดโน้น"

ไม่มีใครสนใจท่านเลย เหมือนว่าเป็นพระแก่ ๆ ธรรมดา ธรรมดา เมื่อพระบอกว่าอย่างนั้น เราก็ดิ่งเข้าไปหาท่านเลย ท่านนั่งอยู่ท้ายสุดเลย คลานเข้ากราบทันที ไม่สนใจกับอะไรทั้งนั้น เมื่อผมเข้าไปกราบ พนมมือขึ้นเหนือหัวพูดว่า

"ครูบาจารย์ขาวครับ! ถ้าผมผิดพลาดอะไร อย่าลืมตักเตือนผมนะ ผมยอมรับผิดทุกอย่าง ขอให้ตักเตือนผม สอนผม บางทีอาจจะพลั้งเผลอหรือทำกรรมอันไม่สมควร"

เมื่อผมกราบเสร็จพูดเสร็จ หลวงปู่ขาวท่านก็ยังงง ๆ คงจะคิดว่า "นั่นใครวะ? มันมาจากไหน? มากราบแล้วพูดเอา ๆ แล้วมาตู่ให้เราเป็นอาจารย์" ไม่เฉพาะแต่หลวงปู่ขาวเท่านั้น แม้แต่พระเณร ทั้งหลายที่อยู่ในที่นั้นก็พากันงุนงงเป็นอย่างยิ่ง

นี่นิสัยผมเป็นอย่างนี้ไม่เหมือนใคร ทำอะไรท่าด้วยความถึงใจ ท่าจริงเชื่อจริง เชื่อพระพุทธเจ้า เชื่อจริง ๆ เชื่อท่านพระอาจารย์มั่นเชื่อจริง ๆ "จึงเป็นเหตุให้รู้จักกับหลวงปู่ขาวตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา"

ตอนนั้นท่านยังไม่มาสร้างวัดปาแก้วชุมพล ยังไม่ได้สร้างวัดถํ้ากลองเพล ในพรรษา (๒๕๑๙) นี้ ผมจึงจะต้องลาพวกท่านไปจำพรรษาที่วัดถํ้ากลองเพล .. "

"พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง"
(หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท)
    



DT014902

วิริยะ12

27 ก.พ. 2563
 เปิดอ่านหน้านี้  5337 

  ความคิดเห็น


RELATED STORIES



จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย