ดัดแปลงธาตุ ขันธ์ อายตนะของเราให้ดี : ท่านพ่อลี ธัมมธโร

 จำปาพร  

พระอาจารย์ลี ธัมมธโร
วัดอโศการาม
อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
แสดงพระธรรมเทศนาเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗
ณ วัดหลวงสุมังคลาราม อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ

...

จุดประสงค์ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนธรรมะของพระองค์
ก็เพื่อให้เราปฏิบัติตัวเอง คำว่า "ธรรม" ธรรมนี้
เป็นชื่อของหัวใจมนุษย์ชื่อของสัตว์
"อย่าเข้าใจอื่นนอกจากตัวของเรา"

ลักษณะใดเป็น "คุณ" เราก็ยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง
ลักษณะใดเป็น "โทษ" เราก็ยังไม่แจ่มแจ้ง
เราศีกษาธรรมะแต่ไม่ได้นำธรรมะเข้าตัว
ก็ไม่ได้รับผลเต็มส่วน

ในตัวของเรามานั่งที่นี่มีตัวธรรมะอยู่ถึง ๓ ตัว
ตัวที่ ๑ "ดวงจิตของเรา"
ตัวที่ ๒ "ตรองธรรมะ" (คิดที่จะพูดแต่ไม่ได้พูด)
ตัวที่ ๓ "แต่งคำพูดให้เกิดเสียงออกมาได้ยินกัน"
สิ่งเหล่านี้แหละเรียกว่า "ปธานธรรม"

ถ้ากล่าวตามบัญญัติก็มี ๓ คือ
๑. ธาตุ ๒.ขันธ์ ๓.อายตนะ
เราจะปฏิบัติดีหรือชั่วก็ตาม
ธรรมะสามอย่างนี้ย่อมติดตัวเราอยู่ทุกคน

ร่างกายของเราก็เช่นเดียวกัน
ถ้าเราปล่อยไว้ตามธรรมชาติของมัน
มันก็ให้คุณค่าแก่เราตาม "ธรรมดา"
"ตามธาตุ ตามขันธ์ ตามอายตนะ"

ถ้าเรารู้แยกธาตุว่าส่วนใดเป็นเลือด เนื้อ ฯลฯ
เราก็จะได้คุณประโยชน์มากขึ้นไปอีก
เหมือนส้มโอ ถ้าเราคัดเลือกว่าอย่างไหนควรทำพันธุ์
ก็ดัดแปลงใส่ปุ๋ยเข้า มันก็จะงามขึ้น
ใบงาม ต้นสวย ผลใหญ่ รสดี ฉันใด
มนุษย์มีธาตุ ขันธ์ อายตนะ ก็ตาม
ถ้าเราไม่ดัดแปลงมันก็สุขทุกข์ตาม "ธรรมดา"
คุณภาพของเราที่จะ "สูง"..มีอยู่
แต่ขาดความรู้ที่จะดัดแปลง
พระองค์จึงทรงแนะนำสั่งสอน

เมื่อมหาชนสนใจนำไปปฏิบัติก็จะได้ "มหาผล"
กล่าวแค่กายแค่ใจ "กาย" ของเราก็เป็น "ตัวธรรม" ตัวหนึ่ง
"ใจ" ก็เป็น "ตัวธรรม" ตัวหนึ่ง เรามาศีกษาว่า
ธรรมะสองตัวนี้แหละมา "คัดเลือก"

เรียก "กาย" ว่า "รูปธาตุ"
เรียก "ใจ" ว่า "มโนธาตุ" (สังขตธาตุ)

"ธาตุเศร้าหมองขุ่นมัว" อย่างหนึ่ง
"ธาตุบริสุทธิ์" อย่างหนึ่ง

ในกายนี้ก็มีอยู่สองอย่าง ใจก็มีอยู่สองอย่าง
คือมี "กุศลธาตุ" "อกุศลธาตุ"

บางคราวใจของเราสบายก็เป็น "กุศลธรรม"
ไม่สบายก็เป็น "อกุศลธรรม"
ธาตุดีของร่างกาย ๑ ธาตุชั่ว ๑
ธาตุดีของใจ ๑ ธาตุชั่ว ๑ รวมมี ๔ อย่างด้วยกัน
ฉะนั้นเราจึงมีทั้งสองอย่างเพราะธาตุของเรามีสองอย่าง

ในรูปธาตุก็ดี เมื่อชั่วก็เป็นเปรต อสุรกาย
ถ้าดีก็เป็นเทพยดามาสิงเรา
แต่เราไม่รู้ว่า ตัวเรามี "ผี" สิงอยู่
เหตุนี้เราต้องเลือก..

ธาตุใดที่จะเกิดคุณงามความดี เราต้องสร้างสมให้มาก
ส่วนใจ...ความทุกข์อันใดที่เป็นไปด้วยความเศร้าหมอง
เราก็ต้องเอาออก ถ้าธาตุดีมาเกิดในกายเรา ในจิตเรา
ก็เท่ากับเทพยดามาสิง ถ้าธาตุชั่วมาเกิดก็เท่ากับเปรตสิง
ถ้าเราอยู่กับเทวดาเราก็สบาย ถ้าเราอยู่กับเปรตเราก็ทุกข์

ธาตุที่เกิดทางกาย คือ "การกระทำ" ของเราทั้งหมด
กินดีธาตุของเราก็ดี พูดดีธาตุของเราก็ดี คิดดีธาตุของเราก็ดี

...

คัดลอกเนื้อหาจาก
หนังสือแนวทางวิปัสสนา-กัมมัฏฐาน, พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร.
โดยชมรมกัลยาณธรรม ปี พ.ศ. ๒๕๕๒. หน้า ๑๙๒-๑๙๓

5,575







จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย