วิธีนอนเจริญฌานมี ๒ อย่าง คือนอนพักผ่อนร่างกาย กับนอนเพื่อหลับ ซึ่งมีวิธีปฏิบัติต่าง
กันดังนี้
๑. นอนพักผ่อนร่างกาย คือ เมื่อเจริญฌานในอิริยาบถทั้ง ๓ มาแล้ว เกิดความมึนเมื่อยหรือ
อ่อนเพลียร่างกาย ก็พึงนอนเอนกายเสียบ้าง นอนในท่าที่สบายๆ ตามถนัดจะหลับตาหรือ
ลืมตาก็ได้กำหนดใจอยู่ในกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง หรือเอาสติควบคุมใจให้สงบนิ่งอยู่เฉยๆ
ก็ได้
๒. นอนเพื่อหลับ การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่จำเป็นของร่างกาย ใครๆก็เว้นไม่ได้ แม้แต่
พระอรหันต์ก็ต้องพักผ่อนหลับนอนเช่นเดียวกันกับปุถุชน ที่ท่านว่าพระอรหันต์ไม่หลับเลย
นั้น ท่านหมายทางจิตใจต่างหาก มิได้หมายทางกาย การหลับนอนแต่พอดี ย่อมทำให้
ร่างกายสดชื่นแข็งแรง ถ้ามากเกินไป ก็ทำให้อ้วนเทอะทะ ไม่แข็งแรง ถ้าน้อยเกินไปก็ทำให้
อิดโรย อ่อนเพลีย ความจำเสื่อมทรามและง่วงซึมประมาณที่พอดีนั้น สำหรับผู้ที่ทำงานเบา
เพียง ๔ - ๖ ชั่วโมง เป็นประมาณพอดี แต่สำหรับผู้ที่ทำงานหนัก ต้องถึง ๘ ชั่วโมงจึงจะ
พอดี ในเวลาประกอบความเป็นผู้ตื่น ( ชาคริยานุโยค ) นั้น ทรงแนะให้พักผ่อนหลับนอน
เพียง ๔ ชั่วโมง เฉพาะยามท่ามกลางของราตรีเพียงยามเดียว
เวลานอกนั้นเป็นเวลา ประกอบความเพียรทั้งสิ้น และทรงวางแบบการนอนไว้เรียกว่า
"สีหไสยา" คือนอนอย่างราชสีห์ การนอนแบบราชสีห์นั้นคือนอนตะแคงข้างขวา เอนไป
ทางหลัง ให้หน้าหงายนิดหน่อย มือข้างขวาหนุนศีรษะ แขนซ้ายแนบไปตามตัว วางเท้าทับ
เหลื่อมกันนิดหน่อย พอสบาย แล้วตั้งสติ อธิษฐานจิตให้แข็งแรงว่า ถึงเวลานั้นต้องตื่นขึ้น
ทำความเพียรต่อไปก่อนหลับ พึงทำสติอย่าให้ไปอยู่กับอารมณ์ภายนอก ให้อยู่ที่จิต ปล่อยวาง
อารมณ์เรื่อยไป จนกว่าจะหลับ ถ้าให้สติอยู่กับอารมณ์ภายนอกแล้ว จะไม่หลับสนิทลงได้
ครั้นหลับแล้ว ตื่นขึ้น พึงกำหนดดูเวลา ว่าตรงกับอธิษฐานหรือไม่ ? แล้วพึงลุกออกจาก
ออกจากที่นอน ล้างหน้า บ้วนปาก ทำความพากเพียร ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์สืบไป
ถ้าสามารถบังคับให้ตื่นได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ไม่เคลื่อนคลาด เชื่อว่าสำเร็จอำนาจบังคับ
ตัวเอง ขั้นหนึ่งแล้ว พึงฝึกหัดให้ชำนาญต่อไป ทั้งในการบังคับให้หลับ และบังคับให้ตื่นได้
ตามความต้องการ จึงจะชื่อว่า มีอำนาจเหนือกายซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปฏิบัติอบรม
จิตใจขั้นต่อๆไป
ก็เป็นอันว่า ครบทั้ง ๔ อิริยาบถแล้ว สัปดาห์หน้า ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธารก็จะว่าถึงวิธี
การเจริญฌานทั่วไป ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องติดตามกันในสัปดาห์หน้าครับ