การเลื่อนฌาน คือก้าวหน้าไปสู่ฌานชั้นสูงกว่า ถ้าท่านผู้ปฏิบัติไม่ใจร้อนเกินไปเมื่อฝึกโดย
ขั้นทั้ง ๕ ในฌานขั้นหนึ่งๆ ชำนาญแล้ว การก้าวไปสู่ฌานขั้นสูงกว่า จะไม่ยากเลย และไม่ค่อย
ผิดพลาดด้วย
ขอให้ถือหลักของโบราณว่า "ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ" ไว้เป็นคติเตือนใจเสมอๆ วิธีการ
ที่จะเลื่อนฌานได้สะดวกดังใจนั้น อยู่ที่กำหนดหัวเลี้ยวหัวต่อของฌานไว้ให้ดี คือขั้นต่อไปจะ
ต้องละองค์ฌานที่เท่าไร และองค์ฌานนั้นมีลักษณะอย่างไร ?ดำรงอยู่ได้ด้วยอะไร ? ดัง
ที่ได้เคยอธิบายไว้แล้วในตอนก่อนๆ เมื่อกำหนดรู้แจ่มชัดแล้ว พึงกำหนดใจไว้ด้วยองค์ที่
เป็นปฏิปักษ์ กับองค์ที่ต้องละนั้นให้มาก เพียงเท่านี้จิตก็เลื่อนขึ้นสู่ฌานชั้นสูงกว่าได้ทันที
เมื่อเข้าถึงขีดขั้นของฌานชั้นนั้นแล้ว พึงทำการฝึกหัดตามขั้นทั้ง ๕ ให้ชำนาญ แล้วจึงเลื่อน
สู่ชั้นที่สูงกว่าขึ้นไป โดยนัยนี้ตลอดทั้ง ๔ ฌาน
เพื่อสะดวกแก่การกำหนดหัวต่อของฌานดังกล่าวแล้วแก่ผู้ปฏิบัติ จึงขอชี้หนามของฌาน
ให้เห็นชัดโดยอาศัยพระพุทธภาษิตเป็นหลัก ดังต่อไปนี้
พระบรมศาสดาตรัสชี้หนามของฌานไว้ว่า
เสียง เป็นหนามของ ปฐมฌาน
วิตก = ความคิด, วิจาร = ความอ่าน เป็นหนามของ ทุติยฌาน
ปีติ = ความชุ่มชื่น เป็นหนามของ ตติยฌาน
ลมหายใจ เป็นหนามของ จตุตถฌาน ดังนี้