ค้นหาในเว็บไซต์ :

คลังแสงแห่งธรรม
สมาธิ

สมาธิ : เรื่องที่ ๑๔ : อสุภะ ( ๑ )
โดย : พระอริยคุณาธาร สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนกวาง


เรื่อง "กสิณ" จบไปตั้งแต่ตอนที่แล้ว และตามที่ได้สัญญาไว้ว่า เรื่องต่อไปจะนำเรื่อง "อสุภะ" มาเสนอ ก็จะขอนำมาเสนอตามสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร ( ปุสฺโส เส็ง ) ท่านได้รวบรวมเอาไว้ มีเนื้อความเริ่มต้นว่าดังนี้ครับ "อสุภะ" คือสิ่งที่ไม่สวยงาม น่าพึงเกลียด พึงหน่าย เมื่อนึกเปรียบเทียบกับอัตภาพที่ยังมี ชีวิตอยู่ ก็จะทำให้เกิดความสังเวช คือทราบซึ้งถึงความจริง อันเป็นลักษณะประจำของสังขาร ร่างกายเป็นอย่างดี ท่านแนะให้นำมาพิจารณาเป็นอารมณ์ เพื่อเกิดสังเวชและเบื่อหน่ายบรรเทา ราคะ คือความ กำหนัดในอัตภาพ และบรรเทาอัสมิมานะ คือความสำคัญผิด คิดว่าเป็นตัวตน ของตนจริงจัง อสุภะในที่นี้ หมายเฉพาะที่เป็นซากศพ หรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของคน ตายแล้ว ตลอดถึงของสัตว์ด้วย

พระโบราณาจารย์ ท่านประมวลเอาไว้ ๑๐ ชนิดคือ
๑. อุทธุมาตกะ ศพขึ้นอืด
๒. วินีลกะ ศพขึ้นพองเขียว
๓. วิปุพพกะ ศพเน่าเฟะน้ำเหลืองไหล
๔. วิฉินทกะ ศพขาดเป็นท่อนๆ
๕. วิขายิตกะ ศพที่ถูกสัตว์กัดกิน
๖. วิขิตตกะ ศพที่กระจัดพลัดพราย
๗. หตวิขิตตกะ ศพที่ถูกสับฟันแทง
๘. โลหิตกะ ศพที่มีเลือดแดงๆไหล
๙. ปุฬุวกะ ศพที่มีหนอนไช
๑๐. อัฏฐิกะ กระดูกชนิดต่างๆ

ในมหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย ทรงแสดงไว้ ๙ ลักษณะคือ
๑. ศพที่ตายแล้วขึ้นอืด พองเขียว - เน่าเฟะ
๒. ศพที่สัตว์ มีสุนัขเป็นต้น กำลังกัดกินอยู่
๓. โครงกระดูกสัตว์ มีเอ็นรัดยึดไว้ ยังมีเนื้อเลือด
๔. โครงกระดูกสัตว์ มีเอ็นรัดยึดไว้ เปื้อนเนื้อเลือด
๕. โครงกระดูกสัตว์ มีเอ็นรัดยึดไว้ ปราศจากเนื้อเลือด
๖. กระดูกที่กระจัดกระจายไปคนละทิศละทาง
๗. กระดูกที่เป็นสีขาวๆ
๘. กระดูกที่เป็นสีเหลืองๆ
๙. กระดูกที่ผุยุ่ยเป็นผงละเอียดแล้ว

ส่วนทสกนิบาต อังคุตตรนิกาย ทรงแสดงไว้ โดยเป็นสัญญา มี ๕ ลักษณะ
๑. อัฏฐิกสัญญา กำหนดหมายกระดูก
๒. ปุฬุวกสัญญา กำหนดหมายหมู่หนอนไชศพ
๓. วินีลกสัญญา กำหนดหมายศพขึ้นพองเขียว
๔. วิฉินทกสัญญา กำหนดหมายศพที่เป็นท่อนๆ
๕. อุทธุมาตกสัญญา กำหนดหมายศพขึ้นอืด

พระโบราณาจารย์คงประมวลเอาลักษณะที่ใกล้กัน รวมเป็นลักษณะเดียว และเพิ่มลักษณะ บางอย่าง ซึ่งน่าจะมี จึงรวมเป็น ๑๐ ลักษณะ อย่างไรก็ตาม จุดหมายของการพิจารณาอสุภะ อยู่ที่ให้เกิดความรู้สึกทราบซึ้งในความจริงของอัตภาพ โดยมีอสุภะเป็นประจักษ์พยานเท่านั้น จะใช้อสุภะในลักษณะใดก็ได้แม้แต่แผลในตัวของตัว ซึ่งเกิดจากเหตุต่างๆ ก็นำมาพิจารณา เป็นอสุภะได้
ส่วนวิธีปฏิบัติของการเพ่งอสุภะนั้น เราจะนำเสนอในตอนต่อไป โปรดติดตาม





จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย