ค้นหาในเว็บไซต์ :

คลังแสงแห่งธรรม
สมาธิ

สมาธิ : เรื่องที่ ๑๖ : อนุสติ ( ๑ )
โดย : พระอริยคุณาธาร สำนักปฏิบัติธรรมเขาสวนกวาง


เมื่อครั้งที่แล้ว ได้นำเสนอเรื่องของ "อสุภะ" จบไปแล้ว มาคราวนี้ ก็จะพูดถึงกรรมฐาน หมวดต่อไปซึ่งได้แก่ หมวดอนุสติ

ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านเจ้าคุณพระอริยคุณาธาร ( ปุสฺโส เส็ง ) ท่านได้ให้คำอธิบายไว้ว่า " อนุสติ คือการนึกถึงบุคคลและธรรม หรือความจริง อันจะก่อให้เกิดความเลื่อมใส ความ ซาบซึ้ง "

เหตุผล หรือความสงบใจอันใดอันหนึ่ง เป็นอุบายวิธี ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงวางไว้ให้ สาธุชนทั่วไป ทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์ ก็ปฏิบัติได้สะดวก แม้จะมีภารกิจในการ ครองชีพหรือ ธุรกิจของหมู่คณะ ของพระศาสนาล้นมือก็อาจปฏิบัติได้ เพราะเป็นอารมณ์ที่หาได้ง่ายสะดวก สบาย และทำได้ในที่แทบทุกแห่ง ทั้งในบ้านทั้งในป่า ทั้งในที่ชุมนุมชนเว้น อานาปานสติ ข้อเดียว ที่จำต้องทำในที่สงัดเงียบ ปลอดโปร่งจึงจะสำเร็จผล

อนุสติมี ๑๐ ประการคือ

๑. พุทธานุสติ นึกถึงพระพุทธเจ้า คือบุคคลผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นอัจฉริยมนุษย์ เป็นผู้มีคุณธรรม สูงสุดน่าอัศจรรย์และน่าเคารพบูชา เป็นพระบรมศาสดาผู้ชี้มรรคาแห่ง ความพ้นทุกข์แก่ เวไนยนิกรเป็นผู้ส่องโลกให้สว่าง ฯลฯ ให้นึกด้วยความเลื่อมใสไปในพระพุทธคุณต่างๆ ตามที่ตนได้สดับมาโดยเฉพาะที่ขึ้นใจก็คือ พุทธคุณ ๙ บท มี อรหัง เป็นต้น บทใดบทหนึ่ง หรือทั้งหมด

๒. ธัมมานุสติ นึกถึงพระธรรม คือสภาวะที่จริงแท้ อันพระบรมศาสดาทรงค้นพบแล้วนำมา บัญญัติสั่งสอน เป็นภาวะละเอียดประณีต ดำรงความจริงของตนยั่งยืน ไม่เปลี่ยนแปลงเป็น สภาวะ ที่เที่ยงธรรม ไม่เข้าออกใคร ใครปฏิบัติผิดธรรม ก็ได้รับโทษเป็นทุกข์ ใครปฏิบัติ ถูกธรรม ก็ได้รับอานิสงส์เป็นสุข เป็นเช่นนี้ทุกกาลสมัย ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงหรือลบล้าง ความจริงอันนี้ได้ ฯลฯ โดยเฉพาะแล้ว พึงนึกไปตามพระธรรมคุณ อันเป็นที่ขึ้นใจ ๖ บท มี สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม เป็นต้น บทใดบทหนึ่ง หรือทั้งหมด

๓. สังฆานุสติ นึกถึงพระสงฆ์ คือชนหมู่หนึ่ง ซึ่งเป็นพระสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ ที่ปฏิบัติตามแบบแผนสิกขาสาชีพของสมณะที่พระบรมศาสดาทรงบัญญัติไว้ เป็นอย่างดี ถึงความเป็นสักขีพยานของพระบรมศาสดาจารย์ในธรรมที่ทรงบัญญัติไว้นั้น มีอยู่ ๔ จำพวก คือ
( ๑ ) พระโสดาบัน
( ๒ ) พระสกิทาคามี
( ๓ ) พระอนาคามี
( ๔ ) พระอรหันต์
เป็นบุคคบที่น่ากราบไหว้เคารพสักการบูชาและเป็นนาบุญของชาวโลก ฯลฯ โดยเฉพาะพึง นึกไปตามคุณบทของพระสงฆ์ ๙ บท มี สุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ เป็นต้น บทใดบทหนึ่ง หรือทั้งหมดก็ได้

๔. สีลานุสติ นึกถึงศีล คือคุณชาติอันหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะทำใจให้เป็นปกติ
- ให้เย็น
- ให้ไม่เดือดร้อน กินแหนงแคลงใจ และควบคุมความประพฤติทางกาย ทางวาจา ให้ ปราศจากโทษ แผ่ความสงบสุข ความร่มเย็นไปยังผู้อื่น สัตว์อื่นๆทั่วไป แล้วนึกถึงศีล ของตน ที่ตนได้ปฏิบัติรักษาอยู่นั้นว่า ปฏิบัติรักษาได้ดีเพียงไร

๕. จาคานุสติ นึกถึงทานบริจาค คือคุณชาติอันหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะทำใจให้กว้างขวาง
- ให้เกิดเมตตากรุณา
- ให้กล้าสละของรักของหวงแหนเพื่อประโยชน์ เป็นคุณชาติที่ค้ำชูโลกให้ดำรงอยู่ใน สันติภาพ สันติสุข โลกดำรงความเป็นโลกที่มีสุขพอสมควร หากโลกขาดทานบริจาค ค้ำจุน โลกจะถึงความปั่นป่วนและล่มจม ชีวิตของมนุษย์แต่ละชีวิตที่เป็นมาได้ ก็ด้วย อำนาจทานบริจาคของบิดามารดา หรือผู้อุปถัมภ์ ไม่มีชีวิตใดที่ปราศจากการอุปถัมภ์ อุ้มชูของผู้มีเมตตาแล้วดำรงอยู่ได้ แล้วพึงนึกถึง ทานบริจาคของตนเองว่าตนได้ สำนึกในคุณทานบริจาค และได้ทำทานบริจาคมาแล้วอย่างไรบ้าง

เรื่องของ "อนุสติ" ยังไม่จบนะครับ คราวหน้า เราจะมาติดตามกันต่อครับ





จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย