๖. เทวตานุสติ นึกถึงเทวดา หรือบุคคลผู้ทำความดีด้วยกาย - วาจา - ใจ แล้วอุบัติขึ้นในสวรรค์
ถึงความเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์ เลิศกว่า ประณีตกว่ากามคุณอันเป็นของมนุษย์
แล้วนึกถึงคุณธรรมที่อำนวยผลให้ไปเกิดในสวรรค์ มีศรัทธาความเชื่อกรรมว่า ทำดีได้ดี
ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น แล้วนึกเปรียบเทียบตนกับเทวดาว่า มีคุณธรรมเหมือนกันหรือไม่
๗. อุปสมานุสติ นึกถึงพระนิพพาน คือธรรมชาติอันสงบประณีตอันหนึ่ง ซึ่งเมื่อเข้าถึงแล้ว
ย่อม หมดทุกข์ - หมดโศก - หมดโรค - หมดภัย มีใจปลอดโปร่งเย็นสบาย หมดความ
วุ่นวาย - กระเสือกกระสน - ทุรนทุราย - ตัดกระแสวงกลมได้ขาดสะบั้นไม่ต้องหมุนไป
ในคติกำเนิดเกิดแก่ตายอีกเลย ธรรมชาตินั้น พระบรมศาสดาทรงค้นพบด้วยพระองค์
เอง แล้วนำมาบัญญัติเปิดเผยให้ปรากฏขึ้น และบอกแนวทางปฏิบัติไว้อย่างดี เพื่อให้เข้า
ถึงธรรมชาตินั้น ธรรมชาตินั้น เป็นอมตะ - มีสุข - สิ้นสุดซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกับโลก
โลกมีลักษณะที่เรียกว่า ตาย คือความแตก - ขาด - ทำลาย เป็นลักษณะประจำตัว
โลกมีลักษณะที่เรียกว่า ทุกข์ คือความลำบาก - คับแค้น - บีบคั้น เป็นลักษณะประจำตัว
โลกมีลักษณะที่เรียกว่า ไม่แน่ คือมีความเปลี่ยนแปลง - ไม่สิ้นสุด - ไม่หยุดยั้ง เป็นลักษณะ
ประจำตัว
โลกเป็นด้านนอก พระนิพพานเป็นด้านในคนสามัญมองเห็นแต่ด้านนอก ไม่มองด้านใน
จึงไม่ได้ความเย็นใจ
เมื่อใดบุคคลมามองด้านใน ศึกษาสำเหนียกด้วยดี พินิจด้วยปัญญาอันบริสุทธิ์แล้วเมื่อนั้น
เขาจะพบเห็นธรรมชาติอันปราศจากทุกข์ คือพระนิพพาน ในที่ใดมีทุกข์ ความสิ้นทุกข์ก็จะ
ต้องมีในที่นั้น ก็ในที่ใดมีความรุ่มร้อน ความสิ้นแห่งความรุ่มร้อนก็จะต้องมีในที่นั้นความย่อ
ก็คือ เมื่อมีร้อนก็ย่อมมีเย็นแก้ มีมืดก็ย่อมมีสว่างแก้เมื่อมีทุกข์ก็จะต้องมีสุขแก้เป็นแท้ การนึก
ถึงพระนิพพานโดยบัดนี้ก็ดี โดยนัยที่ตนได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากตำราแบบแผนก็ดี จักเป็น
อุบายทำใจให้สงบเย็นลงได้
๘. มรณานุสติ นึกถึงความตาย คือสภาวะที่จริงแท้อันหนึ่ง ซึ่งเมื่อมาสู่ชีวิตแล้วทำให้ชีวิต
ขาดสะบั้นลง แต่ก่อน เคยไปมาได้ ดื่มกินได้ นั่งนอนได้ ทำกิจต่างๆได้หัวเราะและร้องไห้
ได้ครั้นมรณะมาถึงแล้ว กิริยาอาการเหล่านั้น ย่อมอันตรธานไปทันที มรณะนี้มีอำนาจใหญ่
ยิ่งที่สุด ไม่มีมนุษย์คนใดเอาชนะมันได้
นักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุด ก็ยังไม่สามารถเอาชนะมันได้ พระบรมครูของเราได้รับยกย่อง
ว่าเป็นยอดปราชญ์ มีอำนาจใหญ่ยิ่งกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งมวล ทรงยืนยัน พระองค์ว่าบรรลุ
ถึงธรรมอันไม่ตาย ก็ยังทรงต้องทอดทิ้งพระสรีรกายไว้ในโลก ให้เป็นภาระแก่พุทธบริษัท
จัดการถวายพระเพลิง มีพระบรมธาตุเป็นสักขีพยานอยู่ในปัจจุบันนี้ใครเล่าที่ไม่ต้องตาย ?
ตลอดกาลอันยืดยาวนานของโลกนี้ มีคนเกิดคนตายสืบเนื่องกันมา จนนับประมาณไม่ถ้วนแล้ว
มีใครบ้าง ซึ่งเกิดแต่แรกมีมนุษย์ในโลก แล้วอยู่ยั่งยืนมาจนถึงบัดนี้
อนึ่ง ความตายนี้ จะมาสู่ชีวิตของบุคคลโดยไม่มีนิมิตบอกเหตุล่วงหน้าด้วยไม่มีใครกำหนด
รู้วันเวลาตายของตนได้ล่วงหน้านานๆ ที่จะได้มีเวลาเตรียมตัวและกะการงานให้ทันกำหนด
ฉะนั้น จึงไม่ควรวางใจในชีวิต กิจใดที่ควรทำ ควรรีบทำกิจนั้นเสีย อย่าผัดวันประกันพรุ่ง
การนึกถึงความตาย แล้วเกิดใจฝ่อหมดเยื่อใยในชีวิต ไม่อยากจะทำกิจอะไร งอมืองอเท้ารอ
คอยความตายเช่นนี้ ไม่สำเร็จประโยชน์ เป็นการคิดผิด พึงกลับความคิดเสียใหม่
พึงนึกถึงความตาย แล้วเตือนสติตนให้ตื่นตัวขึ้น ไม่ประมาทหลับไหลอยู่รีบทำกิจที่ควรทำ
ให้ทันเวลา รีบพากเพียรชำระล้างจิตใจของตนให้สะอาด ปราศจากกิเลส ก่อนความตายมาถึง
ดังนี้จึงจะสำเร็จประโยชน์ตามความประสงค์ของกรรมฐานบทนี้...