สมาธิภาวนา |
สิ่งที่ใช้ในการยึดจิตในการทำสมาธิ ที่เรียกว่าอารมณ์ของสมาธินั้น ในทางพระพุทธศาสนา อาจารย์ในสมัยโบราณได้รวบรวมไว้ได้ถึง 40 อย่าง แยกเป็นกลุ่มได้ดังนี้คือ
กสิณ 10 ประกอบด้วย
1.) กสิณดิน คือการเพ่งดินที่นำมาปั้นเป็นวงกลม(แบน) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ โดยทำความรู้สึกถึงความแข็งของดิน ไม่ใช่เพ่งที่สีของดินนั้น เพราะจะกลายเป็นกสิณสีต่างๆ แทน
2.) กสิณน้ำ คือการเพ่งน้ำที่บรรจุในภาชนะปากกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ
3.) กสิณไฟ คือการเพ่งเปลวไฟผ่านช่องที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ โดยทำความรู้สึกถึงความร้อนของไฟ
4.) กสิณลม คือการเพ่งอาการเคลื่อนไหวของใบไม้ กิ่งไม้ที่ถูกลมพัด
5.) กสิณสีเขียว คือการเพ่งวัตถุสีเขียว เช่น กระดาษสีเขียว ที่เป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ โดยทำความรู้สึกถึงสีเขียวที่ปรากฏ
6.) กสิณสีเหลือง คือการเพ่งวัตถุสีเหลือง เช่น กระดาษสีเหลือง ที่เป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ
7.) กสิณสีแดง คือการเพ่งวัตถุสีแดง เช่น กระดาษสีแดง ที่เป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ
8.) กสิณสีขาว คือการเพ่งวัตถุสีขาว เช่น กระดาษสีขาว ที่เป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเท่ากับ ความยาวของใบหน้าของผู้ปฏิบัติ
9.) กสิณแสงสว่าง คือการเพ่งแสงสว่างที่ลอดช่องหลังคาลงมากระทบพื้น หรือฝาผนังเป็นวงกลม หรืออาจจะประยุกต์ใช้แสงอย่างอื่นก็ได้ โดยทำความรู้สึกถึงความสว่าง ไม่ใช่เพ่งที่สีของแสงนั้น
10.) อากาสกสิณ (ช่องว่าง) คือการเพ่งช่องว่างต่างๆ เช่น ช่องว่างในกรอบหน้าต่าง ประตู
อสุภะ 10
คือการเพ่งซากศพชนิดต่างๆ มีข้อดีคือ ภาพจะติดตาได้ง่ายมาก
และจะได้เตือนใจถึงความตายที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ประกอบด้วย
1.) ศพขึ้นอืด
2.) ศพที่เปลี่ยนสภาพเป็นสีเขียวคล้ำปนกับสีอื่นๆ
3.) ศพที่มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม
4.) ศพที่ขาดเป็น 2 ท่อน
5.) ศพที่ถูกสัตว์กัดกินแล้ว
6.) ศพที่ขาดกระจุยกระจาย มือ เท้า ศีรษะแยกขาดไปอยู่ข้างๆ
7.) ศพที่ถูกสับเป็นท่อนๆ กระจัดกระจาย
8.) ศพที่มีเลือดอาบ
9.) ศพที่ถูกหนอนชอนไชเต็มไปหมด
10.) ศพที่เหลือแต่กระดูก
อนุสติ 10 ประกอบด้วย
1.) พุทธานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า ด้วยความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธา
2.) ธัมมานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระธรรม ด้วยความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธา
3.) สังฆานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระอริยสงฆ์ ด้วยความรู้สึกเลื่อมใส ศรัทธา
4.) สีลานุสติ คือการระลึกถึงความบริสุทธิ์ของศีลของตนเอง ด้วยความอิ่มเอิบใจ พร้อมด้วยการพิจารณาถึงอานิสงส์ต่างๆ ที่จะได้รับจากความบริสุทธิ์ของศีลนั้น
5.) จาคานุสติ คือการระลึกถึงการให้ทานที่ตนได้ทำไปแล้ว ด้วยความอิ่มเอิบใจ พร้อมด้วยการพิจารณาถึงอานิสงส์ต่างๆ ที่จะได้รับจากการให้ทานนั้น
6.) เทวตานุสติ คือการพิจารณาถึงบุญกุศลต่างๆ ที่ทำให้เกิดเป็นเทวดา แล้วระลึกถึงบุญกุศลต่างๆ ที่ตนได้ทำไว้แล้ว อันจะส่งผลให้ได้เกิดเป็นเทวดา
7.) มรณานุสติ คือการระลึกถึงความตายที่ต้องมีขึ้นเป็นธรรมดา โดยไม่รู้ว่าจะช้าหรือเร็วเท่าใด จะได้ไม่ประมาทในการรีบทำบุญกุศลต่างๆ รวมทั้งมีความเพียรในการทำกรรมฐาน คือสมาธิ และวิปัสสนา เพื่อให้พร้อมสำหรับความตาย
8.) กายคตาสติ คือการพิจารณาถึงร่างกายว่าประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ เช่น ผม, ขน, เล็บ, ฟัน, หนัง, เนื้อ, เอ็น, กระดูก ฯลฯ เต็มไปด้วยของไม่สะอาด น่าเกลียด ไม่สวยงาม เป็นที่เกิดของโรคนานาชนิด ไม่น่ารักน่าใคร่ เพื่อไม่ให้ลุ่มหลงมัวเมาในกาย
9.) อานาปานสติ คือการเพ่งลมหายใจเข้าออก
10.) อุปสมานุสติ คือการระลึกถึงคุณของพระนิพพาน
อัปปมัญญา 4 คือ การแผ่ความรู้สึกออกไปโดยไม่มีประมาณ ประกอบด้วย
1.) เมตตา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข
2.) กรุณา คือความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นจากความทุกข์
3.) มุทิตา คือความยินดีที่ผู้อื่นมีความสุข
4.) อุเบกขา คือความรู้สึกที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในความสุขความทุกข์ของผู้อื่น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม จึงทำลายความยินดียินร้าย ความชอบความชังลงได้ วางจิตให้เป็นกลาง ไม่ฟูไม่แฟบ ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว สงบนิ่งอยู่
อื่นๆ อีก 2 อย่างคือ
1.) อาหาเรปฏิกูลสัญญา คือการพิจารณาถึงความเป็นปฏิกูล น่ารังเกียจ ของอาหารที่รับประทานเข้าไป พิจารณาถึงการแปรสภาพของอาหาร ตั้งแต่ถูกเคี้ยว คลุกเคล้ากับน้ำลายอยู่ในปาก ผ่านไปยังกระเพาะ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ จนกระทั่งออกมาจากร่างกายอีกครั้ง ด้วยสภาพที่บูดเน่า น่ารังเกียจ เพื่อประโยชน์ในการไม่ติดในรสอาหาร รวมถึงป้องกันกิเลสตัวอื่นๆ ที่จะเกิดจากอาหาร
2.) จตุธาตุววัฏฐาน คือการพิจารณาร่างกายของตนว่าเป็นเพียงธาตุ 4 คือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม เท่านั้น ปราศจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา เพื่อขจัดความยึดมั่นถือมั่น
อรูปสมาบัติ 4 คือ การใช้สิ่งที่ไม่ใช่รูปธรรมเป็นเครื่องยึดจิต เป็นสมาธิขั้นสูงกว่าขั้นที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด (ซึ่งเป็นรูปสมาบัติ) ประกอบด้วย
1.) อากาสานัญจายตนะ คือการเพ่งช่องว่างที่กว้างใหญ่หาที่สุดไม่ได้ ซึ่งเกิดจากการเพิกรูปธรรม (เช่น นิมิตต่างๆ ที่ใช้ยึดจิตในรูปสมาบัติ) ออกไป ในชั้นอรูปสมาบัตินี้ จะพ้นจากความยินดีพอใจในรูปธรรมทั้งปวง ยินดีพอใจเฉพาะในนามธรรมเท่านั้น
2.) วิญญาณัญจายตนะ คือการเพ่ง หรือทำความรู้สึกไปที่วิญญาณหรือจิต ที่แผ่ออกไปรับรู้ความรู้สึกในช่องว่างที่กว้างใหญ่ไพศาลในขั้นอากาสานัญจายตนะนั้น จิตจะละเอียด ประณีตกว่าอากาสานัญจายตนะ
3.) อากิญจัญญายตนะ คือการทำความรู้สึกถึงความไม่มีอะไรเลย หลังจากเพิกวิญญาณัญจายตนะออกไป จิตจึงละเอียดประณีตขึ้นไปอีก
4.) เนวสัญญานาสัญญายตนะ คือความรู้สึกที่เหลืออยู่น้อยมาก จนแทบไม่รู้สึกตัวเลย หลังจากเพิกความรู้สึกในอากิญจัญญายตนะออกไป เป็นจิตที่ละเอียด ประณีตที่สุดที่ปุถุชน โสดาบัน และสกทาคามีบุคคลจะทำได้
(อนาคามีบุคคล และพระอรหันต์จะทำได้ถึงขั้นหมดความรู้สึกตัวอย่างสิ้นเชิง ที่เรียกว่านิโรธสมาบัติ หรือสัญญาเวทยิตนิโรธ