ค้นหาในเว็บไซต์ :




สมาธิภาวนา


นั่งสมาธิแล้วเกิดปิติ

ผู้สนใจท่านหนึ่งได้เมล์มาถามปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางผู้ดำเนินการเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ แก่ท่านอื่นๆ ด้วย จึงขออนุญาตนำมาลงเอาไว้ ณ ที่นี้ ดังนี้

คำถาม

นั่งสมาธิแล้วเกิดปิติ โยกนานมากเป็นสิบนาที สอบอารมณ์อาจารย์ท่านที่หนึ่งบอกว่า ให้กำหนด “โยกหนอ” ตามรู้ แล้วเขาก็จะหยุดเอง แต่ก็นานอยู่ดี อาจารย์ท่านที่สอง บอกว่าให้กำหนด “หยุดหนอ” เขาจะได้หยุด อันไหนถูกคะ (กำหนดหยุด เขาก็หยุด แต่พักสั้นๆก็โยกอีก)

ตอบ

ปิตินั้นเป็นอาการปกติของสมาธิ ไม่ต้องกังวลใจนะครับ คือเมื่อจิตประณีตถึงช่วงหนึ่งปิติก็จะเกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ ถ้าจิตประณีตมากหรือน้อยกว่านี้ปิติก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ถ้านั่งต่อไปแล้วปิติไม่เกิดขึ้นก็แสดงว่าจิตประณีตมากขึ้นหรือน้อยลง จนไม่อยู่ในช่วงของปิติแล้ว จิตในขั้นที่ประณีตขึ้นไปก็จะเป็นขั้นของสุข สูงขึ้นไปอีกก็เป็นขั้นของอุเบกขา

สิ่งที่ควรทำต่อไปก็คือ ตามดูตามรู้อาการที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยไม่ควรจะยินดี ยินร้าย หรือกังวลใจในสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น เมื่อปิติเกิดขึ้นก็รู้ว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ก็รู้ว่าตั้งอยู่ ดับไปก็รู้ว่าดับไป รู้เหตุแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของสิ่งเหล่านั้นตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น คือรับรู้แล้วปล่อยวาง อย่าปรุงแต่งให้มากนัก แล้วจิตก็จะสงบ ประณีตขึ้นตามเหตุปัจจัยเองครับ

ถ้าไปกังวลก็จะเป็นทุกข์ และทำให้สมาธิเคลื่อนไปเปล่าๆ

ปิติที่เกิดขึ้นนั้นอย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า สมาธิเกิดขึ้นตามสมควรแล้วครับ อย่าคิดอะไรมาก ถ้าไม่ไปติดยึดกับมันก็ไม่มีผลเสียอะไรครับ จะกำหนดอย่างไรก็ได้ ที่สำคัญคือการรับรู้ตามสภาพความเป็นจริงที่ปรากฏ แล้วอย่าไปยินดียินร้ายกับมัน พอจิตประณีตขึ้นอาการก็จะหายไปเองครับ

ที่ควรระวังก็คือ การนั่งสมาธิแล้วมีอาการโยกนี้ต้องดูให้ดีด้วยว่าเป็นอาการของปิติ หรือเป็นเพราะเผลอสติ ถ้าเป็นเพราะปิติก็ทำตามที่กล่าวไปแล้ว แต่ถ้าเป็นเพราะเผลอ นั่งแล้วเพลิน สติเลื่อนลอยลืมกำหนดรู้ก็ทำให้ตัวโยกได้เช่นกัน อย่างนั้นก็ต้องแก้ด้วยการกำหนดรู้ให้ต่อเนื่อง อย่าให้เผลอ ถ้าเผลอเมื่อไหร่ก็อาจจะโยกได้อีก ก็แก้ด้วยการกำหนดรู้ตามอาการที่เกิดขึ้นนั้น พอรู้ตัวแล้วก็จะหยุดโยกไปเอง ถ้าเผลอบ่อยก็เพิ่มกำลังของสติได้ ด้วยการเดินจงกรมแบบกำหนดรู้ตามการเคลื่อนไหวให้ละเอียดๆ ก็ช่วยได้ครับ

ไม่ต้องกังวลนะครับ สิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจก็เป็นอย่างนี้หละครับ (ทั้งปิติ และการเผลอสติ รวมทั้งรูปนามอื่นๆ ด้วย) ดูมันไปเรื่อยๆ อย่าเผลอแล้วดีเอง

เรื่องปิตินั้นก็ขอย้ำอีกนิดนะครับ คือถ้าความประณีตของจิตเปลี่ยนไป คือไม่อยู่ในช่วงของความประณีต (ความถี่ของจิต) ที่เป็นช่วงของปิติแล้ว อาการของปิติก็จะหายไปโดยอัตโนมัติครับ ทำนองเดียวกับที่พอความประณีตของจิตอยู่ในช่วงของปิติ อาการของปิติก็จะเกิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติครับ ห้ามไม่ได้เพราะธรรมชาติเป็นอย่างนั้น

เหมือนกับพอโกรธก็จะมีอาการที่เป็นลักษณะเฉพาะของความโกรธ ปรากฏขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เช่น ใจสั่น ร้อน ฯลฯ ถ้าตราบใดที่ยังโกรธอยู่ อาการนี้ก็จะยังอยู่ บังคับให้หายไม่ได้ แต่ถ้าหายโกรธเมื่อไหร่อาการก็จะหายไปเองโดยอัตโนมัติครับ

การที่ปิติเกิดขึ้นนานก็เพราะความประณีตของจิตอยู่ในช่วงนั้นนานครับ ซึ่งก็ไม่มีผลเสียอะไร เพราะก็เป็นสมาธิระดับหนึ่งเหมือนกัน ไม่ต้องกังวลนะครับ แค่ดูมันไปเรื่อยๆ แล้วดีเองครับ

ไม่ต้องพยายามไปหยุดมันหรอกครับ ถ้าจะหยุดก็ต้องเปลี่ยนระดับความประณีตของจิตให้พ้นช่วงปิติ (ผู้ที่ทำสมาธิจนชำนาญแล้วก็จะเปลี่ยนระดับความประณีตของจิตได้ตามต้องการ) ก็จะหยุดได้ครับ


บทความที่เกี่ยวข้อง


จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย