วิปัสสนา |
พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก
เล่ม ๑๐ สังยุตตนิกาย
สฬายตนวรรค รโหคตสูตร
[๓๙๑] ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอประทานพระวโรกาส ความปริวิตกแห่งใจเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ ผู้หลีกเร้นอยู่ในที่ลับอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา (เป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข - ธัมมโชติ) พระผู้มีพระภาคตรัสเวทนา ๓ อย่างนี้ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ (หมายความว่าเวทนาแต่ละชนิดล้วนเป็นทุกขลักษณะในไตรลักษณ์ ดูเรื่องทุกข์เกิดจากอะไร ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ - ธัมมโชติ) ดังนี้แล พระผู้มีพระภาคตรัสพระดำรัสนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ ทรงหมายเอาอะไรหนอ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ ดูกรภิกษุ เรากล่าวเวทนา ๓ นี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เรากล่าวเวทนา ๓ นี้ ดูกรภิกษุ เรากล่าวคำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ ดูกรภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลาย (สังขารธรรม คือสิ่งที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งที่แปรปรวนไปเพราะเหตุปัจจัย ได้แก่สิ่งทั้งปวงยกเว้นนิพพาน - ธัมมโชติ) นั่นเองไม่เที่ยง ดูกรภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นแหละมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดาฯ
อธิบายเพิ่มเติม
สรุปก็คือทุกขัง หรือทุกขลักษณะ หรือทุกข์ในไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) หมายถึง ลักษณะที่มีความไม่เที่ยง มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดานั่นเอง ซึ่งสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา ก็ล้วนมีลักษณะเช่นนี้ด้วย คือ เวทนาทุกชนิดล้วนเป็นทุกข์ (ทุกขลักษณะ)