วิปัสสนา


ธรรมชาติของชีวิต


พระไตรปิฎก : พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๘
ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถระ-เถรีคาถา
เถรคาถา วีสตินิบาต รัฏฐปาลเถรคาถา


คาถาสุภาษิตของพระรัฏฐปาลเถระ.

[๓๘๘] เชิญดูอัตภาพอันธรรมดาตกแต่งให้วิจิตร มีกายเป็นแผล อันกระดูก ๓๐๐ ท่อนยกขึ้นแล้ว กระสับกระส่าย คนพาลพากันดำริหวังมาก อันไม่มีความยั่งยืนตั้งมั่น เชิญดูรูปอันปัจจัยกระทำให้วิจิตรด้วยแก้วมณีและกุณฑล หุ้มด้วยหนังมีร่างกระดูกอยู่ภายใน งามพร้อมไปด้วยผ้าต่างๆ มีเท้าทั้งสองอันฉาบทาด้วยครั่งสด มีหน้าอันไล้ทาด้วยฝุ่น สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้น (พระนิพพาน - ธัมมโชติ) ลุ่มหลง

ผมทั้งหลายอันบุคคลตบแต่งเป็นลอนคล้ายกระดานหมากรุก นัยน์ตาทั้งสองอันหยอดด้วยยาตา สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลง กายอันเปื่อยเน่าอันบุคคลตบแต่งแล้ว เหมือนกล่องยาตาใหม่ๆ วิจิตรด้วยลวดลายต่างๆ สามารถทำให้คนพาลลุ่มหลงได้ แต่ไม่สามารถทำให้ผู้แสวงหาฝั่งโน้นลุ่มหลง

นายพรานเนื้อดักบ่วงไว้ แต่เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อนายพรานเนื้อคร่ำครวญอยู่ พวกเนื้อพากันมากินเหยื่อแล้วหนีไป บ่วงของนายพรานขาดไปแล้ว เนื้อไม่ติดบ่วง เมื่อนายพรานเศร้าโศกอยู่ พวกเนื้อพากันมากินเหยื่อแล้วหนีไป

(คือก่อนกล่าวคาถาเหล่านี้ บิดามารดาของท่านได้นิมนต์ให้ท่านพระรัฏฐบาลไปฉันอาหารที่บ้าน แล้วได้นำเอาทรัพย์สมบัติมากมาย และสตรีที่แต่งตัวอย่างงดงามออกมาล่อ เพื่อให้ท่านสึกออกไปเป็นคฤหัสถ์ แต่ท่านไม่สนใจใยดีสิ่งเหล่านั้น เหมือนนายพรานวางบ่วงดักเนื้อ แต่เนื้อไม่ติดบ่วง - ธัมมโชติ)

(ข้อความต่อไปนี้ พระรัฏฐบาลกล่าวตอบพระเจ้าโกรพยะ ในมิคาชินอุทยาน ถึงสาเหตุที่ท่านออกบวชทั้งที่เป็นลูกเศรษฐี และยังหนุ่มแน่น - ธัมมโชติ)

เราเห็นหมู่มนุษย์ที่มีทรัพย์ในโลกนี้ ได้ทรัพย์แล้วไม่ให้ทาน เพราะความลุ่มหลง ได้ทรัพย์แล้วทำการสั่งสมไว้ และปรารถนาอยากได้ยิ่งขึ้นไป พระราชากดขี่ช่วงชิงเอาแผ่นดิน ครอบครองแผ่นดินอันมีสาครเป็นที่สุด ตลอดฝั่งสมุทรข้างนี้แล้ว ไม่รู้จักอิ่ม ยังปรารถนาจักครอบครองฝั่งสมุทรข้างโน้นอีกต่อไป พระราชาก็ดี มนุษย์เหล่าอื่นเป็นอันมากก็ดี ผู้ยังไม่ปราศจากตัณหา ย่อมเข้าถึงความตาย ยังไม่เต็มความประสงค์ (ยังถมตัณหาไม่เต็ม - ธัมมโชติ) ก็พากันละทิ้งร่างกายไป ความอิ่มด้วยกามทั้งหลายย่อมไม่มีในโลกเลย

หมู่ญาติพากันสยายผมร้องไห้คร่ำครวญถึงผู้นั้น และรำพันว่า ทำอย่างไรหนอ พวกญาติของเราจึงจะไม่ตาย ครั้นพวกญาติตายแล้ว ก็เอาผ้าห่อนำไปเผาเสียที่เชิงตะกอน ผู้ที่ตายไปนั้นถูกเขาแทงด้วยหลาว เผาด้วยไฟ ละโภคะทั้งหลาย มีแต่ผ้าผืนเดียวติดตัวไป

เมื่อบุคคลจะตาย ย่อมไม่มีญาติหรือมิตรสหายช่วยต้านทานได้ พวกที่รับมรดกก็มาขนเอาทรัพย์ของผู้ตายนั้นไป ส่วนสัตว์ที่ตายย่อมไปตามยถากรรม เมื่อตายไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรๆ คือ พวกบุตร ภริยา ทรัพย์ แว่นแคว้น สิ่งใดๆ จะติดตามไม่ได้เลย บุคคลจะได้อายุยืนเพราะทรัพย์ก็หาไม่ จะละความแก่ไปแม้เพราะทรัพย์ก็หาไม่

นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั้นแลว่าเป็นของน้อย ไม่ยั่งยืน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ทั้งคนมั่งมีและคนยากจนย่อมถูกต้องผัสสะเหมือนกัน ทั้งคนพาลและคนฉลาดก็ต้องถูกผัสสะเหมือนกันทั้งนั้น แต่คนพาลถูกอารมณ์ที่ไม่พอใจเบียดเบียน ย่อมอยู่เป็นทุกข์เพราะความเป็นพาล ส่วนนักปราชญ์อันผัสสะถูกต้องแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหว

เพราะฉะนั้นแล ปัญญาจึงจัดว่าประเสริฐกว่าทรัพย์ เพราะปัญญาเป็นเหตุให้บรรลุนิพพาน แต่คนพาลไม่ปรารถนาจะบรรลุ พากันทำกรรมชั่วต่างๆ อยู่ในภพน้อยภพใหญ่เพราะความหลง ผู้ใดทำกรรมชั่วแล้ว ผู้นั้นจะต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในวัฏสงสารร่ำไป

บุคคลผู้มีปัญญาน้อย เมื่อมาเชื่อต่อการทำของบุคคลผู้ที่ทำความชั่วนั้น ก็จะต้องเวียนตายเวียนเกิดอยู่ร่ำไปเหมือนกัน โจรผู้มีธรรมอันชั่วช้า ถูกเขาจับได้พร้อมทั้งของกลางย่อมเดือดร้อนเพราะกรรมของตน ฉันใด หมู่สัตว์ผู้มีธรรมอันชั่วช้า ละ (โลกนี้ - ธัมมโชติ) ไปแล้ว ย่อมเดือดร้อนในปรโลกเพราะกรรมของตน ฉะนั้น

กามทั้งหลายงามวิจิตร มีรสอร่อย น่ารื่นรมย์ใจ ย่อมย่ำยีจิตด้วยรูปแปลกๆ ดูกรมหาบพิตร เพราะอาตมภาพได้เห็นโทษในกามคุณทั้งหลาย จึงออกบวช สัตว์ทั้งหลายทั้งหนุ่มทั้งแก่ ย่อมตกไปเพราะร่างกายแตก เหมือนผลไม้หล่น ฉะนั้น ดูกรมหาบพิตร อาตมภาพเห็นความไม่เที่ยงแม้ข้อนี้ จึงออกบวช

ความเป็นสมณะอันไม่ผิดนั้นแล ประเสริฐ อาตมภาพออกบวชด้วยศรัทธา เข้าถึงการปฏิบัติชอบในศาสนาของพระชินเจ้า (พระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า - ธัมมโชติ) บรรพชาของอาตมภาพไม่มีโทษ อาตมภาพไม่เป็นหนี้บริโภคโภชนะ

(ภิกษุที่ได้ชื่อว่าบริโภคด้วยความเป็นหนี้ คือภิกษุปุถุชนที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสม ทุศีล ไม่มีความเพียรเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย ทำให้ผู้ที่ถวายอาหารให้ ได้บุญน้อยกว่าที่ควรจะเป็น จึงเป็นเหมือนเป็นหนี้ผู้ถวายอาหารในส่วนของบุญที่ขาดหายไปนั้น ส่วนพระรัฏฐบาลนั้น ขณะนั้นท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ดูเรื่องทำบุญอย่างไรได้บุญมาก ในหมวดทาน ประกอบ - ธัมมโชติ)

อาตมภาพเห็นกามทั้งหลาย โดยเป็นของอันไฟติดทั่วแล้ว (คือเป็นสิ่งที่นำความทุกข์ ความเร่าร้อนใจมาให้ - ธัมมโชติ) เห็นทองทั้งหลายโดยเป็นศาตรา เห็นทุกข์จำเดิมแต่ก้าวลงในครรภ์ (คือพอปฏิสนธิในท้องแม่ก็เป็นทุกข์แล้ว - ธัมมโชติ) เห็นภัยใหญ่ในนรก จึงออกบวช

อาตมภาพเห็นโทษอย่างนี้แล้ว ได้ความสังเวชในกาลนั้น ในกาลนั้นอาตมภาพเป็นผู้ถูกลูกศร คือ ราคะเป็นต้น แทงแล้ว บัดนี้บรรลุถึงความสิ้นอาสวะแล้ว (อาสวะ คือกิเลสที่หมักหมม นอนเนื่องอยู่ในสันดาน - ธัมมโชติ) พระศาสดาอันอาตมภาพคุ้นเคยแล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอาตมภาพทำสำเร็จแล้ว (คือบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว - ธัมมโชติ)

อาตมภาพได้ปลงภาระอันหนักลงแล้ว ถอนตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพขึ้นแล้ว บรรลุถึงประโยชน์ที่กุลบุตรออกบวชเป็นบรรพชิตต้องการนั้นแล้ว บรรลุถึงความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงแล้ว. (สังโยชน์ คือเครื่องผูกจิตเอาไว้ให้ติดอยู่กับสิ่งต่างๆ รวมถึงภพภูมิต่างๆ และวัฏสงสาร ทำให้จิตไม่เป็นอิสระ ต้องตกเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น ดูเรื่องสัญโยชน์ 10 ในหมวดวิปัสสนา (ปัญญา) ประกอบ - ธัมมโชติ)



วิปัสสนา
ทุกข์เกิดจากอะไร กิเลสเกิดจากอะไร กิเลสดังได้อย่างไร วิปัสสนาคืออะไร ฐานสำหรับเจริญวิปัสสนา การเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน ข้อควรจำสำหรับผู้ต้องการพ้นทุกข์ สัญโยชน์ 10 พุทธพจน์เกี่ยวกับวิปัสสนา อริยบุคคล 8 ประเภท อานาปานสติสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร ทำไมไม่พูดถึงวิปัสสนาญาณ อย่าทำวิปัสสนา-เพื่อหวังเกิดเป็นอะไร อริยบุคคล7ประเภท(ตามการบรรลุ) โพชฌงค์ 7 โยนิโสมนสิการ อาจารย์และศีลจำเป็นหรือไม่ รูปนามกำลังแสดงธรรมชาติให้เห็น โทษของกาม ทุกขเวทนากับทุกข์ในไตรลักษณ์ ศีลเป็นฐานของอริยมรรค ดอกไม้อริยะ สมถะกับวิปัสสนา การเจริญสัญญา 10 ประการ สมัยพุทธกาลมีผู้เข้าใจผิดเรื่องมรรคผล พิจารณาแล้วไม่เกิดปัญญาเสียที สุญญตาแนวเถรวาท การฝึกสติในชีวิตประจำวัน ธรรมชาติของชีวิต อริยบุคคลที่ต้องรีบบวช


จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย