ลุกน้องไม่เชื่อฟัง ไม่ทำงานตามสั่ง ปลีนเกลียว จะทำอย่างไร

 Pipat Phuket    

ผมทำงานเป็นวิศวกร มีตำแหน่งรองลงมาจากผู้จัดการโครงการ โดยสมัครมาแทนคนเก่าที่ลาออกไป มีลูกน้อง 3 คน โดยหนึ่งในนั้นมีหัวหน้าคนงานคุม ซึ่งมักจะทำงานไม่เต็มที่ ถ้าสั่งงาน 5 อย่างก็จะทำเสียเพียง 2-3 อย่าง โดยมักอ้างว่าของไม่มีไม่ครบโดยที่ตัวเขาเองก็ไม่ได้ช่วยเตรียมการอะไรเลย หากเตรียมไว้ให้ก็หาเหตุอื่นอ้าง หรือว่าผมเงินแค่นี้จะเอาอะกะผมนักหนา เรื่องการเงินหากวานไปซื้อของก็ไม่คืนเงินทอน(จำนวนเป็น 2-3 ร้อย) ยืมเงินก็ไม่เคยคืนให้ มักจะเถียงไม่ไว้หน้าไม่ให้ความเคารพ
เมื่อกำหนดส่งงานกระชั้นชิดขึ้นมาผมจำเป็นต้องเคลียร์งาน/จ่ายงานเอง บางครั้งต้องให้ ผจก ช่วยจ่ายงานให้ ไม่เป็นอันทำงานในส่วนที่ได้รับผิดชอบซึ่งเป็นวางแผนและบริหาร ทั้ง ผจกและผม แต่ที่สุดถึงกำหนดส่งงาน ผจก.ก็มักจะเค้นเอางานเพื่อให้ทันกำหนดเสร็จ ผมพยายามทำงานให้หนักขึ้นเลิกงานดึกขึ้นเพื่อทำงานวางแผนส่วนของลูกน้องจนทำให้รู้สึกเครียดทั้งกายและใจ จะไล่ออกก็ทำไม่ได้เพราะ ผจก เป็นคนเห็นใจคน ไม่ทิ้งลูกน้องซึ่งพามาเอง และผมเองก็ไม่ต้องการให้มีการปลดใครออก ปัญหาวัวพันหลักนี้ ผมยังแก้ไม่ได้ ขอกัลยานมิตรช่วยโปรดชี้แนะด้วย

พิพัฒน์   




ก่อนอื่น ลูกพี่สมควรจะพิจารณาลูกน้องด้วย...ว่า งานที่มอบหมายเหล่านั้น สมควรแก่บุคคลหรือไม่?
ลูกน้องบางคน ไม่อาจจะสามารถทำการงานที่มอบหมายให้ลุล่วงไปได้ ก็เพราะหลายเหตุผล อาทิเช่น
งานนั้นหนักเกินไป ยากเกินกำลังความสามารถของเขา ประการหนึ่ง
ลูกน้องติดขัดด้วยไม่แยบคายในงานนั้นๆอย่างเพียงพอ ประการหนึ่ง
ลูกน้องผู้นั้น ไม่สันทัดในการงานนั้นบ้าง ประการหนึ่ง
หรือลูกน้องเกิดมีปัญหาส่วนตัว ทุกข์ใจมาก ย่อมทำลายสมาธิในการทำงานไปเสียโดยมาก ประการหนึ่ง
หรือลูกน้องบางคน เป็นผู้มากด้วยความเกียจคร้าน อู้งาน..ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง
สิ่งต่างๆเหล่านี้ ลูกพี่จะต้องหมั่นสังเกตลูกน้องแต่ละคน ว่า เป็นอย่างไร..เว้นเสียจาก การที่ลูกน้องเป็นผู้เกียจคร้านโดยนิสัย..ส่วนในข้ออื่นๆ ลูกพี่จะต้องให้ความเข้าใจ ปรับปรุงให้เหมาะสมแก่บุคคล หรือ หาคนช่วยเหลือ หรือลูกพี่จะต้องให้ความเข้าใจ และเมตตาช่วยเหลือแนะนำ

ส่วนในบุคคลผู้เกียจคร้าน ตรงนี้ แก้ได้ยาก.. ลูกพี่จะต้องจ้ำจี้จำไช ...ขนาบแล้ว... ขนาบอีกนั่นแหละ คนเกียจคร้านนั้น บางคนฉลาดในเรื่องที่ไม่ควรฉลาด ก็ได้แก่.... ทำทีว่า ...ทำไม่ได้... ทำไม่เสร็จ ...ลูกพี่ขี้รำคาญจะได้หันไปใช้คนอื่นแทนตน ไม่เรียกหาตน ...ลูกพี่ต้องหาโอกาสแนะนำตักเตือนเขา เขาได้จะมีโอกาสปรับปรุงตนเองได้
ข้อสำคัญ ความเมตตาของลูกพี่นั่นแหละ จะเป็นตัวเคี่ยวเข็ญอย่างดี เป็นทั้งไฟเย็นลนให้จิตใจของเขาอ่อนโยน และปั้นแต่งได้ดังใจปรารถนา...ลูกพี่จะต้องไม่กระทำการใดๆเพราะอำนาจโทสาคติ คือ ความลำเอียงด้วยความไม่ชอบ ลูกน้องจะยิ่งตะแบงไปกันใหญ่..หากวางใจว่า แม้อุบายนี้จะเป็นไปเพื่อทำให้ลูกน้องดีขึ้น เก่งขึ้น ..ลูกพี่ที่มีเมตตา จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยมาก ....แต่เมตตานั้น ลูกพี่ต้องแยบคาย อ่อนโยน กับอ่อนแอก็ต่างกัน
หมั่นเคี่ยวเข็ญแต่ประกอบด้วยเมตตา ย่อมต่างกันกับการเคี่ยวเข็ญด้วยอำนาจโทสะโดยสิ้นเชิง
การอยู่กับลูกน้อง ลูกพี่จะต้องมีหัวใจของ "นักสร้าง" คือ ความตั้งใจที่จะสร้างคน และสร้างงาน
..ส่วนอุบายที่จะใช้ ก็ต้องพิจารณา หาความแยบคาย.... เพราะทั้งหลายทั้งปวงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และบุคคลต่างๆด้วย


ข้อสำคัญ...ลูกพี่ต้องประเมินตน และสังเกตตน พร้อมที่จะพัฒนาตน รู้จักข้อดีข้อเสียของตนด้วย จะได้ชื่อว่ามีปัญญา เพราะนายช่างผู้ฉลาด แม้จะชื่อว่าเป็นผู้ฉลาดในการหาวัตถุดิบในการผลิตแล้ว รู้จักกรรมวิธีที่จะผลิตด้วย ย่อมสมควรจะต้องรู้จักอุปกรณ์ อาวุธที่จะใช้ผลิตด้วย รู้จักกำลังของตนที่จะใช้อุปกรณ์ และอาวุธที่ตนถนัดด้วย..รู้ความไม่ถนัดของตนด้วย เพื่อหลีกเลี่ยง และเพื่อปรับปรุงนั่นเอง

ถ้าพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว ว่าท่านผู้ถามปราศจากอคติกับเขา แต่เพราะเขาเป็นคนไม่มีประโยชน์จริงๆ เป็นคนดื้อ ว่ายากแล้วไซร้.... หากปล่อยไว้ อีกไม่นาน โอกาสที่จะเกิดความเสียหายไม่เฉพาะกับตัวท่านเองแต่เสียหายต่อองค์กรรวมแล้ว ท่านควรคุยกับ ผอก.อย่างตรงไปตรงมา ชี้ให้เห็นความวิบัติอันจะเกิดขึ้น จากการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพเช่นนั้น

เมื่อนั้น ท่านผู้ถามย่อมทราบคำตอบดีแก่ใจ..อย่าให้ความรู้สึกว่า ไม่อยากไล่คนออกมากั้น มาทำให้ท่านเป็นทุกข์เดือดร้อนใจเพราะไม่กล้าตัดสินใจ
เมื่อพิจารณาดีแล้วตลอดจนทุกแง่ทุกมุม อย่างถ่องแท้ แล้ว.....ท่านต้องตัดสินใจ
บุคคลใดควรสงเคราะห์ ก็พึงสงเคราะห์
บุคคลใด ควรข่ม ก็พึงข่ม
บุคคลใดควรสรรเสริญ ก็พึงสรรเสริญ
บุคคลใดควรทิ้ง ก็พึงทิ้ง
มิฉะนั้น โทษนั้นมีมากแก่ท่านเองนั่นแหละ..พิจารณาให้ดี ทั้งถามใจตนให้ดี พิจารณาในคุณในโทษของคนๆนี้ แล้วตัดสินใจ
หาไม่แล้ว ท่านผู้ถามก็จะเป็นที่จรมาของพวกคนพาลทั้งหลาย ต้องเลี้ยงคนพาล คนดื้อ คนว่ายากเพื่อความทุกข์ของตนโดยส่วนเดียว..คุ้มกันหรือ?



• การเสี้ยมสอน (มหิลามุขชาดก)

• พุทธกิจประจำวัน ๕ ประการและพุทธจริยา ๓ ประการ

• วัดวังผาแดง ต.นาสวน อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี

• "จิตที่เป็นสมาธิแล้วไม่หลอกลวง" (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

• พระปัจฉิมวาจา ของพระพุทธองค์

• เผชิญความตายด้วยใจสงบ

RELATED STORIES




จีรัง กรุ๊ป    

 ธรรมะไทย