กินด้วยปัญญา พาให้กินพอดี
กินด้วยปัญญา พาให้กินพอดี
…
ตัวเริ่มที่เข้ามาดับอวิชชา และตัดหน้าตัณหา ก็คือโยนิโสมนสิการ ซึ่งแปลกันมาว่า การพิจารณาโดยแยบคาย แปลง่ายๆ ว่า ความคิดแยบคาย คิดถูกทาง หรือคิดเป็น คือคิดตรงสภาวะ หรือคิดตรงตามเหตุตามผล
ในกรณีนี้ โยนิโสมนสิการ คิดสอบถามสืบสาวว่า การกินเป็นการกระทำเพื่อผลอะไร อะไรเป็นผลของการกระทำคือการกิน หรือพูดง่ายๆ ว่า กินเพื่ออะไร และสำนึกรู้ว่า การกินเป็นการกระทำเพื่อผล คือการที่ร่างกายได้อาหารไปซ่อมเสริมตัวมัน หรือกินเพื่อสนองความต้องการของร่างกายให้ร่างกายมีสุขภาพ ไร้โรค อยู่สบาย แคล่วคล่อง เหมาะแก่การทำกิจ ซึ่งเป็นภาวะดีงามที่ควรจะมีจะเป็นสำหรับชีวิต เพื่อให้กายเป็นกายที่ดี เพื่อให้ชีวิตเป็นชีวิตที่ดี ตามสภาวะของมัน
ทั้งนี้ มิใช่กินเพื่อมุ่งเอร็ดอร่อย เพื่อสนุกสนานมัวเมา เพื่อโก้เก๋หรูหรา เป็นต้น จนกลายเป็นผลร้ายต่อสุขภาพบ้าง เป็นเหตุเบียดเบียนกันบ้าง ก่อให้เกิดกิเลสอื่นๆ เพิ่มขึ้นบ้าง ไม่เป็นไปเพื่อผลที่พึงประสงค์ของการกินอาหาร
การคิดตามเหตุผล ตรงตามสภาวะ คือโยนิโสมนสิการนี้ ไม่ใช่แรงจูงใจ โดยตัวของมันเอง แต่มันเป็นปัจจัยให้เกิดแรงจูงใจฝ่ายกุศล ที่เรียกว่าฉันทะ คือนำไปสู่ความพอใจ ความปรารถนา ความต้องการ ในภาวะดีงาม ภาวะอยู่ดี หรือภาวะที่ควรจะเป็นของชีวิต อันได้แก่ความมีสุขภาพ ความคล่องสบายของกายนั้น
เมื่อฉันทะเกิดขึ้นแล้ว ก็เข้ามาร่วมกำหนดพฤติกรรมในการกิน เป็นแรงเร้าที่สาม เป็นตัวควบกับความหิว และเป็นตัวคานกับตัณหา โดยเกิดแทรกซ้อนสลับกับตัณหานั้น ถ้ามีกำลังมากพอ ก็จะตัดโอกาสของตัณหาไปเสียทีเดียว
ฉันทะที่เกิดขึ้นในกรณีของการกินนี้ ก็จะช่วยนำไปสู่คุณธรรมที่เรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา แปลว่า ความรู้จักประมาณ หรือรู้จักพอดี ในการกิน หรือกินพอดี
หนังสือ พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
พิมพ์ครั้งที่ ๕๕ หน้า ๑๐๓๓ - ๑๐๓๔