เรื่องมฆมาณพนี้ สมัยก่อนจัดกันเป็นงานเทศน์สำคัญ เรียกว่าวัตรบท ๗ ของพระอินทร์ แล้วอย่างไรไปๆ มาๆ ถึงเวลานี้หายไป คนไทยเวลานี้แทบไม่มีใครรู้จัก ต้องฟื้นขึ้นมา
เรียกหาฉันทะ บอกหนุ่มมฆะให้รีบกลับมา
เรื่องมฆมาณพนี้ สมัยก่อนจัดกันเป็นงานเทศน์สำคัญ เรียกว่าวัตรบท ๗ ของพระอินทร์ แล้วอย่างไรไปๆ มาๆ ถึงเวลานี้หายไป คนไทยเวลานี้แทบไม่มีใครรู้จัก ต้องฟื้นขึ้นมา
คนจะอยู่กันดี จะพัฒนาจิตใจ จะพัฒนาปัญญาได้ผล ก็ต้องให้เขามีความเป็นอยู่ที่เหมาะที่ดี สร้างสรรค์จัดสรรชุมชน หมู่บ้านตั้งแต่วัตถุและสิ่งแวดล้อม ให้เป็นสภาพที่เกื้อหนุนชีวิตด้วยการทำบุญพื้นฐาน อย่างที่พวกมฆมาณพทำกันนั้น
เวลานี้ บางทีไปสอนเน้นกันอยู่ที่ศีล ๕ อยู่ๆ ยังไม่บอกให้ทำอะไร เริ่มต้นก็ให้รักษาศีล ๕ เน้นๆ กันอยู่นั่นแหละ คิดให้ดีศีล ๕ นั้นเป็นเรื่องของการงดการละการละเว้น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ มีแต่ไม่ทำๆ ทั้งนั้น แล้วคุณทำอะไรล่ะ เริ่มต้นก็ไม่ ได้แต่หยุด ได้แต่ยั้ง ได้แต่ละโน่นเว้นนี่ ยังไม่มีอะไรจะทำ ก็นั่งอยู่เฉยๆ หยุดๆ เดี๋ยวก็นั่งงอไปงอมา ไม่ทำอะไรก็ได้รักษาศีล ๕
คนโบราณไม่เอาอย่างนี้ เขาเอาเรื่องที่ทำมาเริ่มต้น ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการไม่ทำ อย่างเรื่องที่ได้เล่ามาแล้วนั่นแหละ เริ่มต้นมฆมาณพมีเรื่องที่คิดจะทำ แล้วในการทำงานนั้น เขาก็รักษาศีลกำกับตัวพร้อมไปเลย แล้วเขาไปแนะนำสั่งสอนชาวบ้าน ให้รู้จักทำการทำงานดำเนินชีวิตเป็นอยู่กันให้ดีนั้น ก็เอาศีล ๕ มากำกับว่า เมื่อคุณทำนั่นทำนี่อยู่กันอย่างนี้ ก็อย่าให้มีการเบียดเบียนกันนะ อย่าไปทำร้ายใคร ไม่ให้ละเมิดต่อชีวิต ต่อทรัพย์สิน ต่อคู่ครอง ไม่พูดเท็จ ไม่กินเหล้าไม่ติดยา ศีล ๕ ก็กำกับตัวไปในการดำเนินชีวิตหรือในการเป็นอยู่ทำงานทำการของเขา
ศีล ๕ นั้นสำคัญมาก เป็นฐานที่ประกันสังคม แต่มันเป็นตัวกำกับ คือคนเขามีเรื่องจะทำอยู่แล้ว ก็ทำโดยมีศีล ๕ ไม่ใช่อยู่ๆก็ขึ้นต้นด้วยไม่ๆ ที่เป็นฝ่ายลบ ก็เลยไม่มีอะไรจะทำ แล้วก็ไม่ต้องทำอะไร ก็ได้แต่นั่งนิ่งนั่งเฉย อยู่แค่นั้น แล้วก็บอกว่ามีศีล ๕
ที่ถูกคือต้องบอกเรื่องที่จะทำ ให้เขามีเรื่องที่จะทำ แล้วก็กำกับว่า คุณจะทำความดี จะทำงานทำการอะไร ก็ทำไป แต่ในการทำในการเป็นอยู่ของคุณนั้น ต้องมีศีล ๕ อย่าให้มีการเบียดเบียนกัน ให้มีเรื่องที่จะทำไว้ก่อน แล้วพอจะทำ ก็สมาทานศีล ๕ กำกับไปด้วย อย่างนี้ก็เดินหน้ากันไปได้
หนังสือ ทำบุญพื้นฐาน คือ ทำหมู่บ้านให้เป็นรมณีย์
โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป. อ. ปยุตฺโต)